X

ขอนแก่นเปิดศูนย์ต่อต้านข่าวลวง หลังข่าวปลอมระบาดหนัก ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 ที่หม่องเฮียนฮู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มีการจัดเสวนา “สานพลังต่อต้านข่าวลวง” พร้อมเปิดศูนย์ต่อต้านข่าวลวงจังหวัดขอนแก่น (Khonkaen Anti Fake News ) โดยมีเครือข่ายหยุดข่าวลวง ทวงความจริง หรือ อีสานโคแฟค (Esan Cofact) และโคแฟคไทยแลนด์ (Cofact Thailand) เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดขอนแก่น สมาคมหมอลำจังหวัดขอนแก่น สมาคมผู้บริโภค สภาองค์กรผู้บริโภค ขอนแก่นว้อยท์ สำนักเครือข่ายละการมีส่วนร่วมสาธารณะสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฯลฯ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นประธานเปิดงาน กล่าวว่า นี่ถือว่าเป็นครั้งแรกของจังหวัดขอนแก่นที่มีการรวมตัวกันของคนที่ทำงานในการหยุดข่าวลวง หรือแก้ปัญหาข่าวปลอม เพราะที่ผ่านมามีเพียงหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินการเรื่องนี้ แต่วันนี้เป็นภาคส่วนของเอกชนและประชาสังคม สื่อมวลชน คนทำงานสื่อสาร สถาบันการศึกษา มาร่วมกันจะได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพราะนี่ถือเป็นวาระของประเทศไทย วาระของจังหวัดขอนแก่นที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกัน ทุกวันนี้ข่าวปลอม การหลอกลวงในทุกรูปแบบถือว่าเป็นเชื้อโรคร้าย เราต้องหาวิธีการป้องกัน หาภูมิต้านทานมาต้านทานเชื้อโรคร้ายนี้ให้ได้ อย่าปล่อยให้ข่าวปลอม ข่าวลวงมันระบาดไปมากกว่านี้ เพราะถ้าเรามาช่วยกัน มีภูมิต้านทานแบบหมู่ เอาปัญญามารวมหมู่กัน เราก็จะป้องกันมันได้ในที่สุด

“ทุกวันนี้ข่าวลวง ข่าวปลอมมันกระทบกับชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนอย่างมาก มีข่าวคนถูกหลอก ถูกลวง และเสียเงินเสียทอง บางรายเสียชีวิตทุกวัน ทำให้เราต้องเฝ้าระวัง รู้เท่าทัน และป้องกันมันให้ได้ พวกข่าวปลอม ข่าวลวงมันเหมือนเป็นเชื้อโรคชนิดหนึ่งที่เราต้องหายาดี ๆ มาปราบมัน มาทำลายมันให้ได้ และต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการช่วยป้องกัน เผยแพร่ข่าวสาร และหาทางหยุดยั้งของคนกลุ่มนี้ สำหรับศาสนาพุทธของเราพระพุทธเจ้ายังบอกเราไม่ให้เชื่อใครง่าย ๆ โดยมีหลักกาลามาสูตรที่บอกไม่ให้เชื่อ 10 อย่าง ประกอบด้วย อย่าเพิ่งเชื่อเพราะฟังตามกันมา มา อย่าเพิ่งเชื่อเพราะถือสืบกันมา อย่าเพิ่งเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมีในตำรา อย่าเพิ่งเชื่อเพราะตรรกะ อย่าเพิ่งเชื่อเพราะอนุมาน อย่าเพิ่งเชื่อเพราะลักษณะอาการที่ปรากฏ อย่าเพิ่งเชื่อเพราะตรงกับความคิดของตน อย่าเพิ่งเชื่อเพราะดูน่าเชื่อถือ และ อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเป็นครูของตนแต่ทุกวันนี้เราเชื่อง่ายเงินไปเลยทำให้เกิดความเสียหายขึ้น

ด้านนางสุมาลี สุวรรณกร ผู้ประสานงานศูนย์ต่อต้านข่าวลวงจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของการเปิดศูนย์ต่อต้านข่าวลวงประกอบด้วย 1.เพื่อรับเรื่องร้องเรียนเรื่องการถูกหลอกลวงจากเครือข่ายและประชาชนเพื่อนำไปสู่การตรวจสอบ และส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือ (ชี้เป้า เฝ้าระวัง ส่งต่อ) 2.สร้างกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม เพื่อร่วมกันตรวจสอบข่าวลวง3.เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เหยื่อที่ถูกหลอกลวง พร้อมกับการให้ความรู้เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง และ 4.เพื่อทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการถูกหลอกลวง ในทุกรูปแบบ

โดยทางศูนย์มีเพจเฟซบุ๊กที่จะใช้เป็นพื้นที่เผยแพร่ข้อมูล และนำเสนอปัญหา ผลกระทบ การติดตามแก้ไข คือ “ศูนย์ต่อต้านข่าวลวงขอนแก่น” ที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้ส่งข้อมูลเข้ามาทั้งการสอบถาม การแสดงความคิดเห็น หรือแจ้งข่าว ซึ่งทางศูนย์จะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การดำเนินการและแก้ไขปัญหาต่อไป โดยมีสโลแกนของการทำงานร่วมกันของโคแฟคทั้งประเทศไทยว่า อย่าเชื่อ อย่าแชร์ อย่าโอนเพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงเบื้องต้นด้วย

สำหรับผู้สนใจ แจ้งข่าวสารหรือติดตามข้อมูลข่าวสารสามารถกดติดตามที่เพจ “ศูนย์ต่อต้านข่าวลวงจังหวัดขอนแก่น” หรือ Line add cofact ที่จะมีการสื่อสาร หาความจริงร่วมกันในเวลาที่มีปัญหาอีกด้วย.

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ทีมข่าว77ขอนแก่น

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น