ตรัง- เยาวชนรวมกลุ่มรำมโนราห์ตัวอ่อนเปิดหมวกหารายได้พิเศษช่วงวันหยุด และช่วงปิดเทอม และยังเป็นการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมปักษ์ใต้ให้คงอยู่สืบไป
ที่น้ำตกวังหินลาด หมู่ 1 ต.โพรงจระเข้ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชุมชน Otop นวัตวิถี พบว่าหนาแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวที่พาครอบครัวเดินทางไปพักผ่อนเล่นน้ำคลายร้อนช่วงวันหยุด โดยส่วนใหญ่ไปเป็นครอบครัวนำอาหารไปปูเสื่อรับประทานร่วมกัน ส่วนที่ไม่ได้นำอาหารไปเองก็ซื้อจากร้านค้า ร้านอาหาร ของชาวบ้านที่ไปเปิดร้านจำหน่าย สร้างความคึกคักนำรายได้เข้าสู่ชุมชน บางครอบครัวบอกว่า ตั้งใจพาลูกหลานไปพักผ่อนก่อนเปิดเรียน นอกจากนั้น ได้มีน้องๆเยาวชนจากคณะมโนราห์ “ นิรุท ศ.แปลกศิลป์” ซึ่งเป็นคณะมโนราห์ในพื้นที่ ได้รวมกลุ่มกันมารำมโนราห์เปิดหมวกหารายได้เสริม และสร้างเสริมประสบการณ์การรำมโนราห์ ในช่วงวันหยุด ทุกๆวันอาทิตย์ และช่วงนี้ยังเป็นช่วงปิดเทอมด้วย ปรากฎว่าได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยต่างช่วยกันหยอดกล่องกำลังใจ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับน้องๆ ตลอดช่วงที่ทำการแสดง โดยน้องๆ เยาวชนแบ่งกลุ่มการแสดงออกเป็น 3 รุ่น คือ รุ่นเล็ก อายุ 5-12 ปี ,รุ่นกลาง อายุ 13 -15 ปี และรุ่นใหญ่ อายุ 16 ปีขึ้นไป โดยเน้นการรำตามจำนวนท่าที่ถูกต้องของการรำมโนราห์ เริ่มจากน้องๆรุ่นเล็กที่เพิ่งหัดรำ จำนวน 5 คน แต่ทุกคนก็เริ่มคล่องแคล่วด้วยท่ารำทั้ง 12 ท่า ต่อด้วยรุ่นกลาง ทั้งหมด 7 คน และรุ่นใหญ่ จำนวน 5 คน ซึ่งเป็นการแสดงการรำมโนราห์ตัวอ่อนที่เรียกเสียงปรบมือและความชื่นชมอย่างมาก โดยนางรำสามารถม้วนตัวได้อย่างสวยงาม หากการแสดงจริงบนโรงมโนราห์ก็มีถาด หรือมีกระด้งมารองรับ การรำมโนราห์ตัวอ่อน น้องๆ ก็สามารถม้วนตัวเองได้ทั้งในถาดและในกระด้ง ทั้งนี้ ได้มีประชาชนนำธนบัตรฉบับละ 100 บาท มอบให้เพื่อเป็นกำลังใจ แต่วางไว้ให้นางรำตัวอ่อนใช้ปากคาบหยิบธนบัตรไป เรียกเสียงปรบมือและชื่นชมได้อย่างมาก จากนั้นก็มีการออกพราน โดยพรานเป็นตัวตลกของโนรา เมื่อออกรำจะต้องสวมหน้ากากเรียกว่า ” หน้าพราน ” ท่ารำของพรานนั้นจะเป็นท่ารำที่ตลก โดยน้องๆ เยาวชนชายสร้างเสียงหัวเราะได้อย่างมาก
เด็กชายกรภัทร มากหนู อายุ 14 ปี เรียนอยู่โรงเรียนวิเชียรมาตุ 2 ซึ่งแสดงเป็นตาพรานบุญ บอกว่า ตัวเองแสดงเป็นตาพรานบุญ ซึ่งเป็นการแสดงตลกของมโนราห์ ส่วนตัวชื่นชอบการรำมโนราห์อย่างมาก จึงพยายามฝึกฝน
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง จากสวนปาล์มตรังสู่ศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสานต้นแบบ ขุดสระน้ำเป็นรูปเลข 9 อารบิก สอดคล้องกับแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9
- ตรัง อึ้ง!! เด็ก-เยาวชนหลุดออกนอกระบบการศึกษากว่า 6 พันคน ศึกษาธิการตรังสั่งรวบรวม-วิเคราะห์ข้อมูล รับนโยบาย Thailand zero dropout
- ตรัง ราคายางดิ่งกว่า 20 บาทต่อกิโลกรัม กยท.หนุนสถาบันทำโครงการชะลอยางสู้นายทุน
ด้านนางสาวนลินี บูลกาญ อายุ 17 ปี นักเรียนโรงเรียนวิเชียรมาตุ 2 ซึ่งเป็นคนรำมโนราห์ตัวอ่อน และเป็นผู้ฝึกสอนการรำมโนราห์ให้แก่น้องๆในคณะด้วย บอกว่า ปกติคณะมโนราห์ “ นิรุท ศ.แปลกศิลป์” ก็มีทุกรุ่น และรับงานการแสดงมโนราห์ทั่วไปเช่นเดียวกับคณะอื่นๆ ทั้งการรำแก้บน การรำมโนราห์โรงครู หรือรำมโนราห์เพื่อพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งหากได้รับเชิญก็จะไปกันทั้งคณะ รวมทั้งกลุ่มเยาวชนด้วย ส่วนตัวเริ่มฝึกรำมโนราห์มาตั้งแต่อายุได้ 5 ขวบ โดยดูจากรุ่นพี่ หรือรุ่นพี่สอนกันมา จากนั้นก็ฝึกฝน ตอนนี้ตัวเองก็เป็นคนสอนการรำให้แก่น้องๆในคณะ ซึ่งเป็นการสืบสานส่งต่อรุ่นต่อรุ่น โดยน้องๆที่มารำมโนราห์มีทั้งลูกหลานของชาวคณะ และเด็กเยาวชนที่มีเชื้อสายมโนราห์ รวมทั้งเยาวชนในพื้นที่ที่ชื่นชอบในการรำมโนราห์ โดยมีรวมกันประมาณ 20 คน และมารำเปิดหมวกหารายได้เสริม และฝึกฝนการรำที่น้ำตกวังหินลาดช่วงวันหยุดเสาร์ -อาทิตย์ เพื่อน้องๆได้หารายได้พิเศษ และหาเวทีแสดงฝึกฝนการรำ และนำเสนอศิลปะการแสดงมรดกทางวัฒนธรรมมโนราห์ท้องถิ่นปักษ์ใต้ต่อนักท่องเที่ยว และได้ช่วยกันอนุรักษ์สืบสานศิลปะการแสดงด้วย ส่วนตัวภูมิใจที่เห็นน้องๆเยาวชนรักและเห็นคุณค่าของมโนราห์จะได้ช่วยกันสืบสานต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับน้องนลินี บูลกาญ เอง ยังเป็นประธานนักเรียนโรงเรียนวิเชียรมาตุ 2 ที่น้องเรียนอยู่ด้วย และเป็นประธานชมรมนาฎศิลป์ของโรงเรียนด้วย
อย่างไรก็ตาม โนรา ถูกขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี พ.ศ. 2552 ในสาขาศิลปะการแสดง และยูเนสโก ขึ้นทะเบียน “โนรา” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: