กรุงเทพฯ – ผู้ว่าฯ กทม. ลั่น ถ้าจะเปิดทำการค้าตลาดศรีสมรัตน์ใหม่ การรถไฟฯ ต้องขออนุญาตก่อน เพื่อควบคุมระบบอัคคีภัย เผย สัตว์เลี้ยงตายกว่า 5,000 ตัว แม้วัวหายล้อมคอก แต่ทุกชีวิตต้องไม่ตายฟรี เตรียมนำกฎหมาย 3 ฉบับควบคุมร้านค้าสัตว์
วันที่ 12 มิถุนายน 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร, นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และภาคีเครือข่ายองค์กรด้านการจัดสวัสดิภาพสัตว์ในประเทศไทย ร่วมแถลงถึงการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ และกรณีไฟไหม้ตลาดศรีสมรัตน์ โซนจำหน่ายปลากัดและสัตว์เลี้ยง เขตจตุจักร
นายชัชชาติ แสดงความเสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมชี้แจงว่า โครงการดังกล่าวเป็นพื้นที่ของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งแยกกับตลาดนัดจตุจักร ที่ กทม.เป็นผู้ดูแล โซนที่เกิดเพลิงไหม้ มีร้านค้า 118 คูหา และอีกประมาณ 15 คูหาใกล้เคียง พื้นที่รวม 1,400 ตารางเมตร
ได้รับแจ้งเหตุเวลา 04.08 น. เจ้าหน้าที่ถึงที่เกิดเหตุ 04.14 น. เข้าควบคุมเพลิงและสงบเวลา 04.37 น. ซึ่งเพลิงลุกลามค่อนข้างเร็ว และไม่สามารถเข้าไปดับได้ เนื่องจากประตูล็อก ภายหลังเพลิงสงบ ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่มีสัตว์เลี้ยง 13 ชนิด อาทิ สุนัข แมว กระต่าย งู นก ปลากัด และไก่ ตายรวม 5,343 ตัว ซึ่งเป็นจำนวนที่ผู้ประกอบการแจ้งกับ กทม. และมีร้านค้าแจ้งเป็นผู้ได้รับความเสียหาย 51 ร้านค้า
ผู้ว่าฯ กทม.ระบุอีกว่า ตลาดศรีสมรัตน์ ทำการค้าขายสัตว์มาประมาณ 20 ปีแล้ว ต่อสัญญาใหม่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข (ใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แบบ อภ.2) ขอกับ กทม., พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ (ใบอนุญาตให้ทำการค้าหรือซากสัตว์ แบบ ร.10 ) ขอกับกรมปศุสัตว์ และ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์
ข่าวน่าสนใจ:
ที่ผ่านมา กทม.ไม่เคยออกใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพให้แก่ร้านค้าสัตว์ เนื่องจากยังขาดความชัดเจนในข้อกฎหมาย อย่างไรก็ตาม มีนโยบายเรื่องการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงตลอดช่วงชีวิต จึงได้สำรวจกิจการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ค.66
กระทั่งวันที่ 12 ธ.ค.66 ได้ทำหนังสือสอบถามถึงข้อกฎหมายไปยังกรมอนามัย เรื่องกิจการที่ต้องขอใบอนุญาตกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพิ่งได้รับคำตอบกลับมา เมื่อ 21 พ.ค.67 ว่า กิจการค้าสัตว์เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งชัดเจนว่าต้องขออนุญาตทั้งหมด ทั้งประเภทฟาร์ม ร้านจำหน่ายสัตว์เลี้ยง คาเฟ่สัตว์เลี้ยง รวมถึงกิจการสปา อาบน้ำ ตัดขน รับฝากสัตว์เลี้ยงชั่วคราว จึงสั่งการให้สำนักงานเขตลงพื้นที่ตรวจประเมินกิจการที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายการตรวจประเมินเสร็จสิ้น 15 ก.ค.67 นี้ แต่ก็มามีเหตุเพลิงไหม้ตลาดศรีสมรัตน์ เมื่อ 11 มิ.ย.
“จากนี้ กทม.จะทำการสำรวจกิจการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ โดยจุดใหญ่ ๆ คือ สนามหลวง 2 และตลาดจตุจักร 2 มีนบุรี ซึ่งจะต้องชัดเจน ทำให้ละเอียด เพราะสัตว์เลี้ยงมีบทบาทสำคัญกับหลายครอบครัว ถ้าจะให้ขายต้องมั่นใจว่า สัตว์เลี้ยงจะอยู่ในที่ที่มีคุณภาพ” นายชัชชาติ กล่าว
ล้างบางตลาดค้าสัตว์เถื่อนทั่วกรุง
ผู้ว่า กทม.กล่าวอีกว่า ผู้เสียหายที่แท้จริงตายหมดแล้ว ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ แต่ยืนยันว่าสัตว์เหล่านั้นจะไม่ตายฟรีอย่างแน่นอน เพราะหลังจากนี้ มาตรการด้านการดูแลความปลอดภัยโดยเฉพาะอัคคีภัย จะต้องมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุลักษณะนี้ขึ้นอีก เพราะสัตว์เหล่านี้ไม่สามารถหลบหนีได้และทุกตัวตายในกรง
หลังจากนี้ จะนำข้อกฎหมายมาบังคับใช้จริงจัง โดยเฉพาะ พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535, พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.ทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 เข้ามาควบคุมผู้ประกอบการร้านค้า แม้จะเป็นวัวหายล้อมคอก ก็ดีกว่าไม่ทำอะไร หลังจากนี้ จะต้องเอาจริงเรื่องการขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตประกอบกิจการขายสัตว์เลี้ยงและซากสัตว์อย่างจริงจัง
การรถไฟฯ ต้องขออนุญาตก่อนเปิดค้าขายใหม่
สำหรับร้านค้าในพื้นที่ จะยังไม่สามารถเปิดได้ หากจะเปิดใหม่ การรถไฟฯ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ จะต้องเข้ามาขออนุญาตเปิดกิจการกับกทม. ส่วนผู้ประกอบการร้านค้า ก็ต้องมาขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตค้าขายสัตว์และซากสัตว์ รวมถึงจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557
ทั้งนี้ ร้านค้าที่เสียหายจากเหตุการณ์ครั้งนี้ จะได้รับค่าชดเชยอัคคีภัย รายละ 11,400 บาท เฉพาะร้านค้าที่มีใบอนุญาต ที่มีเพียง 36 ร้าน
ส่วนที่ผู้ประกอบการบางรายบอกว่า มีสัตว์ราคาแพงตัวละกว่า 1 ล้านบาทนั้น หน่วยงานรัฐจะมีการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง นายชัชชาติ กล่าวว่า หากราคาสูงตัวละเป็นล้าน ควรนำกลับบ้าน ไม่ควรปล่อยไว้ในร้าน ซึ่งมีความเสี่ยงอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การชดเชยไม่ใช่ความรับผิดชอบของ กทม.แม้จะเห็นใจก็ตาม
หวั่นไซเตสตรวจ กระทบทั้งประเทศ
ด้านนางวันทนี ปลัด กทม.ยอมรับว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ และสภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ที่ตายในกรง เป็นภาพที่สลดหดหู่ จึงเป็นห่วงองค์กรไซเตส (อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกลสู้ญพันธุ์) อาจจะเข้ามาตรวจสอบ และอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศได้
เมื่อถามว่า รัฐสามารถเอาผิดผู้ประกอบการร้านค้าที่ขายสัตว์ดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ฯ หรือไม่ นายโรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย ตอบว่า กรณีนี้ไม่เป็นอุบัติเหตุก็จริง แต่เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ ไม่ควรหละหลวม การบังคับใช้กฎหมาย ทั้งที่มีอยู่และมีเพิ่ม อยากเห็นครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย และอยากให้ตลาดนัดหรือที่ใด ควรมีเจ้าหน้าที่จากปศุสัตว์ และ กทม.เข้าตรวจสอบ ไม่ใช่แค่ไปดูซาก
นายสัตวแพทย์บุญญกฤช รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวขอร้องว่า หลังจากนี้ ขอให้ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเจ้าของพื้นที่ตลาดนัดทั้งหลาย ส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้องและเป็นจริง เพื่อให้กรมปศุสัตว์สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ และอยากให้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นบทเรียน ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เพียงเข้าไปตรวจสอบก็ถูกต่อต้าน แต่จากเหตุการณ์นี้ เชื่อว่าผู้ประกอบการน่าจะเข้าใจ ว่าการลงทะเบียนจะส่งผลดีอย่างไร
ร้านค้าสัตว์ไม่ขึ้นทะเบียน ภายใน 15 ก.ค. จะถูกดำเนินคดี
ผู้ว่า กทม.ยังย้ำถึงผู้ประกอบการร้านค้าสัตว์เลี้ยงและค้าซากสัตว์ทุกประเภทใน กทม. จะต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตประกอบกิจการร้านค้า ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับ ภายในวันที่ 15 ก.ค.นี้ หากไม่ดำเนินการและตรวจสอบพบ จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ขณะที่เจ้าของพื้นที่ คือ การรถไฟฯ ยังไม่ได้รับการประสานเข้ามา ซึ่งการแถลงข่าววันนี้ กทม.เชิญตัวแทน การรถไฟฯ มาด้วย แต่ไม่ได้รับการตอบรับ อ้างว่ากะทันหัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: