ประจวบคีรีขันธ์ – มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม พบโลมาเกยตื้นที่ชายหาดเกาะทะลุ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เบื้องต้นรองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุเป็น”โลมาอิรวดี” เพศผู้ปัจจุบัน IUCN ได้ยกระดับสถานภาพของโลมาอิรวดีจากเป็นกลุ่มประชากรที่มีเสี่ยงหรือง่ายต่อการสูญพันธุ์เป็นใกล้สูญพันธุ์
9 มกราคม 2561 นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)ได้รับแจ้งจากนายเผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ เลขามูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม ว่าพบสัตว์ทะเลหายากลอยตายที่หน้าชายหาดเกาะทะลุ ไฮแลนด์ รีสอร์ท อ.บางสะพานน้อย และได้ลากขึ้นมาไว้ที่บริเวณชายหาดเกาะทะลุ โดยเบื้องต้นผู้แจ้งสงสัยว่าเป็น”ซากพะยูน”เบื้องต้นได้รายงานให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)ได้รับทราบแล้ว และได้ดำเนินการส่งภาพซากสัตว์ทะเลดังกล่าวให้ทางนางสาวทิพามาศ อุปน้อย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง ชุมพร( ศวทก.) และเจ้าหน้าที่ของ ศวทก.ตรวจสอบเบื้องต้นยืนยันชัดเจนว่าเป็นซาก”โลมาอิรวดี” เพศผู้ ยาวประมาณ 1.5 เมตร ซึ่งอายุอยู่ในช่วงวัยเด็กถึงวัยรุ่น สภาพเน่ามาก โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฯจะเข้าตรวจสอบและชันสูตรซากอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 10 มกราคม 2561
ข่าวน่าสนใจ:
นายโสภณ กล่าวว่า”โลมาอิรวดี”เป็นโลมาที่พบได้ทั้งในทะเล น้ำกร่อย และขึ้นไปถึงน้ำจืด แพร่กระจายในเขตอินโดแปซิฟิก แม่น้ำอิรวดี แม่น้ำโขง อ่าวเบงกอล ประเทศไทยพบได้ทั่วไปตามชายฝั่งทะเลทั้งสองฝั่งพบมากที่จังหวัดตราด,ฉะเชิงเทรา,นครศรีธรรมราช,ชลบุรี,สุราษฎร์ธานี และพบได้ตามแนวชายฝั่ง จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยอาจพบรวมฝูงกับโลมาชนิดอื่นๆเช่น โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ เป็นต้น กลุ่มประชากรที่อาศัยในน้ำจืดที่พบในประเทศไทยได้แก่ โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา ซึ่งอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ภัยคุกคามของโลมาอิรวดีนอกจากการเจ็บป่วยในธรรมชาติแล้ว เครื่องมือประมงยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โลมาชนิดนี้เกยตื้น
ในประเทศไทยโลมาอิรวดีเป็นสัตว์คุ้มครองที่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย นอกจากนี้ในปัจจุบัน IUCN ได้ยกระดับสถานภาพของโลมาอิรวดีจากเป็นกลุ่มประชากรที่มีเสี่ยงหรือง่ายต่อการสูญพันธุ์เป็นใกล้สูญพันธุ์ อนึ่งเพื่อลดการเกยตื้นทาง ทช. ได้สรุปสาเหตุปัญหา และมาตรการลดผลกระทบจากการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากขึ้น โดยจะมีการชันสูตรเพื่อระบุสาเหตุการตายของสัตว์ทะเลหายาก และมีการศึกษาการแพร่กระจายและถิ่นที่อยู่อาศัยเพื่อใช้ในการวางแผนการอนุรักษ์ และนำไปใช้ในการเตรียมการในการกำหนดมาตรการและพื้นที่คุ้มครอง
นอกจากนี้ทาง ทช.ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน/คณะกรรมการสัตว์ทะเลหายากเพื่อช่วยในการวางแผนการดำเนินงานในการอนุรักษ์ และมีการสร้างเครือข่ายและกระบวนการมีส่วนร่วมจากชุมชนเพื่อให้งานการช่วยเหลือสัตว์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยชีวิต (Rescue Center) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือสัตว์
ภาพ.มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: