กรุงเทพฯ – มติเอกฉันท์ กกต.รับรองผลเลือก สว. 200 คน และบัญชีสำรอง 99 คน ให้รับหนังสือรับรอง วันที่ 11-12 ก.ค.67 เพื่อรายงานต่อเลขาธิการวุฒิสภา
วันที่ 10 กรกฎาคม 2567 เวลา 16.00 น. นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง แถลงผลการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงการพิจารณารับรองผลการเลือก สว.
โดย กกต.มีมติเอกฉันท์ ว่าการเลือก สว. เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงประกาศผลการเลือก สว.ตามรายกลุ่ม ทั้ง 20 กลุ่ม จำนวน 200 คน ตามลำดับคะแนน 1-10 และบัญชีสำรอง ลำดับที่ 11-15 จำนวน 99 คน ยกเว้นกลุ่ม 18 (กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม) ถูกระงับสิทธิ์ชั่วคราว 1 คน จึงให้เลื่อนลำดับที่ 11 ขึ้นมาอยู่ในบัญชีผู้ได้รับเลือกแทน และเหลือสำรอง 4 คนในกลุ่มดังกล่าว จึงส่งผลให้บัญชีสำรอง สว.เหลือ 99 คน
ทั้งนี้ ให้ผู้ที่ได้รับเลือกทั้ง 200 คน มารับหนังสือรับรอง ที่ชั้น 2 สำนักงาน กกต. ในวันที่ 11-12 ก.ค.67 เวลา 08.30-16.30 น. เพื่อไปรายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
ข่าวน่าสนใจ:
- พะเยา หนุ่มขโมยย่องฉกเงินร้านข้าวมันไก่ 3 ครั้งเจ้าของสุดทนแจ้งตรจับ
- บุรีรัมย์ เตือนวัยรุ่นอย่าทำ ขับรถหวาดเสียว ยกล้อโชว์ จับส่งศาล ศาลพิพากษาสั่งปรับและจำคุก
- คู่แข่งนอกสายตานายก ก้อย “พนธ์ มรุชพงษ์สาธร” ขอวัดดีกรีว่าที่นายก อบจ.แปดริ้ว
- นักท่องเที่ยวแห่ชมดอกไม้งามดอยตุง ชิมอาหารพื้นถิ่น ถ่ายรูปดอกไม้สวย
ขั้นตอนหลังจากนี้ สำนักงาน กกต.จะส่งเรื่อง เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต่อไป
นายแสวง ยืนยันว่า การประกาศไปก่อนแล้วมาสอยทีหลัง เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 226 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.พ.ศ.2561 มาตรา 62 ส่วนที่ให้ใบส้มไป 1 คน จนต้องเลื่อนสำรองขึ้นมาแทน เพราะพบความผิดชัดเจนเรื่องคุณสมบัติ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ กกต.ประกาศบัญชีสำรอง 99 คน จะขัดกฎหมายที่ต้องประกาศบัญชี สว. 200 คน และบัญชีสำรอง 100 คน หรือไม่ เลขาธิการ กกต. ระบุว่า พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว.มาตรา 42 ไม่ได้เขียนกรณีดังกล่าวไว้ แต่ กกต.มาออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือก สว. ฉบับที่ 3 ข้อ 154/1 ให้ กกต.สามารถเลื่อนบัญชีสำรองขึ้นมาแทนได้
ทั้งนี้ สำนักงาน กกต.ได้รวบรวมกลุ่มความผิด ที่อาจจะนำมาพิจารณาเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการประกาศผลการเลือก สว.ครั้งนี้ ไว้ 3 เรื่อง คือ
1.คุณสมบัติลักษณะต้องห้าม หมายรวมถึงการสมัครลงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งด้วย
2.กระบวนการในการดำเนินการเลือก ในวันที่ 9, 16 และ 26 มิ.ย.
3.ความไม่สุจริตและเที่ยงธรรม อันเกิดจากการฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งสังคมใช้กันว่า การจัดตั้ง บล็อกโหวต หรือฮั้ว
กรณีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม มีผู้สมัคร 48,117 คน ผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอ ตรวจสอบคุณสมบัติและไม่รับสมัคร 1,917 คน เมื่อรับสมัครไปแล้ว ลบชื่อก่อนการเลือกอีก 526 คน ก่อนผ่านชั้นจังหวัด ก็ได้ลบผู้มีสิทธิ์เลือกไปอีก 87 คน และผ่านมาระดับประเทศผอ.ระดับประเทศ ลบไปอีก 5 คน รวมแล้ว คัดคนที่ไม่มีคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้าม ออกไปเกือบ 3,000 คน
กกต.มีมติให้ใบส้ม แก่ผู้สมัครที่ไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ระงับสิทธิสมัครชั่วคราว จำนวน 89 ใบ เหตุมีส่วนทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยไม่สุจริต-เที่ยงธรรม ซึ่งจะต้องถูกดำเนินคดีอาญาด้วย รวมทั้งส่งให้ศาลฎีกาเพื่อพิจารณาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 1 คน ตามมาตรา 60 เนื่องจากได้เข้าสู่กระบวนการเลือกแล้ว สำหรับระดับอำเภอที่ลบไป 500 กว่าคน ไม่ได้ให้ใบส้ม เพราะยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการเลือก แต่จะไปพิจารณาว่า รู้หรือควรรู้อยู่แล้ว ว่าไม่มีสิทธิแต่ยังไปสมัครรับเลือก ซึ่งถือเป็นคดีอาญา
เรื่องร้องเรียนเหล่านี้ คิดเป็น 65% หรือกว่า 600 เรื่อง จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมดที่มาเข้ามาจนถึงขณะนี้ 800 กว่าเรื่อง จึงเหลืออยู่ราว ๆ 200 เรื่อง ที่จะต้องพิจารณา
ส่วนกรณีร้องการเลือก สว.ไม่สุจริตเที่ยงธรรม มี 47 เรื่อง (จัดตั้ง ฮั้ว บล็อกโหวต) กกต.อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งต้องใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ด้วย สำนักงานได้ประสานไปยัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มาร่วมตรวจสอบด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: