ฉะเชิงเทรา – พบปลาหมอคางดำโผล่พื้นที่แปดริ้วแล้วใน 2 อำเภอ ระบุอยู่ระหว่างเฝ้าระวังการแพร่ระบาดลุกลามไปตามแหล่งน้ำสาธารณะ ชี้ปล่อยปลากะพงช่วยกำจัดอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด เหตุเพราะปลากะพงเป็นปลาที่ต้องการอากาศมากในพื้นที่อยู่อาศัย แนะหาวิธีทางวิชาการทำหมันแบบปลานิลในการกำจัดการแพร่กระจายปลาสายพันธุ์ต่างถิ่น
วันที่ 16 ก.ค.67 เวลา 08.00 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายทองหล่อ เฉยสวัสดิ์ อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 50/7 ม.6 ต.เสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาวบนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ เจ้าของภาคย์ภูมิฟาร์ม และเป็นอนุกรรมการลุ่มน้ำบางปะกง 11 จังหวัด (กรุงเทพฯ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก นครราชสีมา ปทุมธานี ปราจีนบุรี สมุทรปราการ สระแก้ว สระบุรี) รวมถึงยังเป็นคณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำลุ่มน้ำบางปะกง ว่า ขณะนี้ปลาหมอคางดำได้มีการแพร่ระบาดลุกลามเข้ามาถึงพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา แล้วใน 2 อำเภอ
ข่าวน่าสนใจ:
โดยพบมีปลาชนิดนี้อยู่ในคลองบางกระพ้อ ต.บางกระเจ็ด อ.บางคล้า และพบที่ ต.สองคลอง และ ต.หอมศีล อ.บางปะกง ย่านวัดนฤภัยประชาบำรุง ใกล้แนวตะเข็บรอยต่อกับ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ โดยในพื้นที่ อ.บางคล้านั้นยังพบไม่มาก และยังอยู่ระหว่างการเฝ้าระวังจับตาดูจากทางเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ส่วนในพื้นที่ ต.สองคลองนั้น พบว่ามีการระบาดมากกว่า เนื่องจากเชื่อว่าปลาชนิดนี้ได้ไหลมาตามกระแสน้ำเค็มเมื่อครั้งเขื่อนทำนบดินกั้นปากคลองประเวศบุรีรมย์พังทลาย จึงทำให้มีการแพร่กระจายมาจากพื้นที่อื่น เนื่องจากปลาชนิดนี้มักมีอุปนิสัยชอบว่ายทวนกระแสน้ำ และทนความเค็มได้มากเกินกว่า 10 กรัมต่อลิตร
ส่วนวิธีการกำจัดด้วยการปล่อยปลากะพงขาวลงสู่คลองธรรมชาตินั้น อาจไม่ง่าย เนื่องจากปลากะพงขาวเป็นปลาที่ใช้ออกซิเจนมากในพื้นที่อยู่อาศัยหากปล่อยลงไปในลำคลองธรรมชาติที่มีค่าออกซิเจนต่ำก็อาจจะอยู่ไม่ได้ หรือไม่มีชีวิตรอดที่จะไปไล่กำจัดปลาหมอคางดำได้ จึงต้องใช้ปลากะพงที่เคยอยู่อาศัยในแหล่งน้ำธรรมชาติได้เองนำไปปล่อย หรืออาจจะให้ทางฝ่ายวิชาการที่มีความรู้ หาวิธีการในการทำหมันปลาหมอคางดำ ด้วยการนำสารเคมีหรือแอลกอฮอล์ที่จะไปทำให้รังไข่ในตัวปลาฝ่อ เหมือนกับการทำหมันปลานิล หรือปลานิลหมันที่เกษตรกรนิยมนำมาเพาะเลี้ยงกันเพื่อให้ปลาเติบโตได้ดี
และหากจะกำจัดด้วยวิธีการจับมาทำเป็นอาหารให้ปลากะพงกินนั้น สามารถทำได้ในฟาร์มเลี้ยงปลากะพงที่ใช้เหยื่อสดในการเลี้ยง ส่วนฟาร์มที่พัฒนาแล้วและใช้อาหารเม็ดนั้นไม่สามารถนำมาเลี้ยงได้ และไม่ควรนำปลาหมอคางดำแบบตัวเป็นๆ ไปปล่อยลงในบ่อเลี้ยงปลากะพงเหยื่อสด เพราะอาจจะหลุดหรือเล็ดลอดออกไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้ โดยเฉพาะไข่ปลาหมอนั้นสามารถหลุดลอยไหลไปตามน้ำที่มีการละบายออกได้ นายทองหล่อ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: