X

นราธิวาส- ม.นราฯ ขับเคลื่อน “โมเดลแก้จน” 3 อำเภอนำร่อง!!

นราธิวาส-เจ้าพระยาที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ติดตามคืบหน้าการขจัดความยากจน ขณะที่รองอธิการฯ มหา’ลัยนราฯแจง! เร่งขับเคลื่อน 3 โมเดลหลัก ยกระดับคนรากหญ้า มุ่งสร้างทักษะอาชีพใน 3 อำเภอนำร่อง 1,400 ครัวเรือน

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 15 ก.ค.67 ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัย ชั้น 2 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เดินทางพร้อมคณะฯ เข้าร่วมการประชุมรับทราบผลการดำเนินงานด้านการส่งเสริมอาชีพของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดยมี นายนัจมุดดีน อูมา ประธานคณะทำงาน รมว.แรงงาน, นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน, ผศ.ดร.ปรีชา สะแลแม อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, ผศ.ดร.วสันต์ พลาศัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เข้าร่วมประชุม


โดย รศ.ดร.วสันต์ พลาศัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้บรรยายสรุปถึงความคืบหน้าการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยนราธิวาสฯ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งปัจจุบันดำเนินโครงการเป็นปีที่ 4 ประกอบด้วย 3 โครงการคือ โครงการการยกระดับพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ด้วยการจัดการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจน และสร้างโอกาสทางสังคมด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ภายใต้ MAJU-JAYA MODEL, โครงการพัฒนานวัตกรรมโมเดลแก้จนเร่งด่วนจากผลกระทบภัยพิบัติ กรณีจังหวัดนราธิวาส, โครงการ J Job โมเดล การพัฒนาแพลตฟอร์มจ้างทักษะแรงงานออนไลน์ ในรูปแบบโมบายแอพพลิเคชัน เพื่อเพิ่มโอกาสและลดช่องว่างการเข้าถึงการพัฒนาทักษะอาชีพ โดยทั้ง 3 โครงการมีความสำคัญในการช่วยเหลือครัวเรือนยากจนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส


“ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ดำเนินโครงการเกี่ยวกับการส่งเสริมอาชีพ เพื่อบูรณาการงานที่เป็นภารกิจหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยการพัฒนาพื้นที่เชิงบูรณาการแบบกลไกการมีส่วนร่วม เพื่อแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส ร่วมกับมหาวิทยาลัยภาคใต้ตอนล่าง รวมทั้งภาคีเครือข่าย”


ปัจจุบันได้มีการพัฒนาโมเดลแก้จน ฟื้นฟูและสร้างทักษะอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้แก่ครัวเรือนที่ยากจนในจังหวัดนราธิวาส รวมทั้งพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติใน 3 อำเภอนำร่อง จำนวน 1,400 ครัวเรือน ประกอบด้วย อ.ระแงะ 270 ครัวเรือน, อ.จะแนะ 270 ครัวเรือน และ อ.สุคิริน 840 ครัวเรือน ใน 5 ทักษะอาชีพคือ ทักษะการเดินสายไฟภายในบ้าน 300 ครัวเรือน, การซ่อมแซมงานก่อสร้างบ้านเรือน 600 ครัวเรือน, อาหารฮาลาลปรุงสำเร็จรูป 300 ครัวเรือน, การซ่อมแซมจักรยานยนต์ รวมทั้งซ่อมแซมเครื่องมือทางการเกษตร อีกจำนวน 200 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์ม JJob จ้างทักษะแรงงานออนไลน์ ในรูปแบบโมบายแอพพลิเคชัน เพื่อเพิ่มโอกาสและลดช่องว่างการเข้าถึงการพัฒนาทักษะอาชีพและส่งเสริมการสร้างรายได้ระดับครัวเรือน เพื่อให้ประชาชนในระดับรากหญ้า สามารถที่จะดูแลตนเองและครอบครัวให้มีความสุขได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน


ทางด้าน นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ได้กล่าวภายหลังรับฟังการดำเนินงานในการขจัดความยากจนโดยมหาวิทยาลัยนราธิวาสฯ ว่า กระทรวงแรงงานได้ร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในด้านต่างๆมาโดยตลอด เพื่อสร้างบัณฑิตและพัฒนาคนแบบมุ่งเน้นทักษะและสมรรถนะ เพื่อมุ่งสู่การเป็นแรงงานที่มีคุณภาพของประเทศไทย


โดยดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพบริษัทเอกชน และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ นักเรียน นักศึกษา สามารถพัฒนาฝีมือแรงงานระหว่างเรียนตามระบบธนาคารหน่วยกิตของสถาบันอุดมศึกษา และมีความร่วมมือระหว่าง หน่วยงานในการเพิ่มทักษะ การพิจารณาทบทวนทักษะ รวมทั้งการเรียนรู้ทักษะใหม่ที่จำเป็นของตลาดแรงงานและโลกยุคใหม่ หรือที่เรียกว่า Upskill – Reskill – Newskill และการจัดทำหลักสูตรที่สามารถปรับปรุงให้ทันต่อยุคสมัย สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อให้นักเรียนและนักศึกษามีความพร้อมในการทำงานทางภาคอุตสาหกรรมต่างๆของประเทศไทยในอนาคต


“สถาบันอุดมศึกษามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังแรงงานที่สำคัญของประเทศ ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและสังคม โดยจังหวัดนราธิวาสนั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นักศึกษาจบใหม่ที่เป็นบัณฑิตแรงงานและมีส่วนร่วมในดำเนินงานของศูนย์แรงงานประจำอำเภอต่างๆในจังหวัดนราธิวาส ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงแรงงาน และให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในชุมชนมากยิ่งขึ้น เพื่อสนองนโยบายของกระทรวงแรงงาน ที่ให้ประชาชนในท้องถิ่น มีอาชีพ มีรายได้ มีความมั่นคงในการทำงาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้กระทรวงแรงงานพร้อมผลักดันการศึกษาที่จะขับเคลื่อนในอนาคต โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาเกาหลี และภาษาญี่ปุ่น ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากต่อระบบการศึกษาของไทย” ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน