วันที่ 9 สิงหาคม 2567 ณ ส่วนจัดแสดงสิงโต สวนสัตว์ขอนแก่น นางทิพาวดี กิตติคุณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์ขอนแก่น รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสวนสัตว์ขอนแก่น กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ ฝ่ายบำรุงสัตว์ ว่าสิงโตสายพันธุ์แอฟริกา ได้ตกลูก จำนวน 4 ตัว โดยเกิดจากแม่พันธุ์สิงโต ชื่อ กันยา อายุ 8 ปี ที่ได้รับความอนุเคราะห์จากสวนสัตว์อุบลราชธานี และพ่อพันธุ์ชื่อ บอดี้ อายุ 14 ปี ได้รับความอนุเคราะห์จากสวนสัตว์นครราชสีมา นับเป็นข่าวดีสำหรับสวนสัตว์ขอนแก่น ที่ได้ลูกสิงโต จำนวน 4 ตัวเป็นครั้งแรก เบี้องต้นทางสัตวแพทย์ประจำสวนสัตว์ขอนแก่น ฝ่ายอนุรักษ์ วิจัยและสุขภาพสัตว์ ได้ทำการตรวจสุขภาพลูกสิงโต และตรวจเพศลูกสิงโต ทั้ง 4 ตัว พบว่าลูกสิงโตเกิดใหม่เป็น เพศผู้ จำนวน 2 ตัว มีน้ำหนัก 4.7 กิโลกรัมและน้ำหนัก 4.2 กิโลกรัม และได้เพศเมีย จำนวน 2 ตัว มีน้ำหนัก 3.4 กิโลกรัม และน้ำหนัก 4.2 กิโลกรัม ซึ่งลูกสิงโตแต่ละตัวมีสุขภาพที่แข็งแรง สมบูรณ์ เบื้องต้นได้ดำเนินการให้ยาถ่ายพยาธิ และชั่งน้ำหนัก ซึ่งอยู่ในความดูและของนายสัตวแพทย์สวนสัตว์ขอนแก่น อย่างใกล้ชิด คาดว่าประมาณ 60 วัน จะปล่อยออกสู่ส่วนจัดแสดงสัตว์ให้นักท่องเที่ยวได้ชม ปัจจุบันสวนสัตว์ขอนแก่น มีสิงโตสายพันธุ์แอฟริกาทั้งหมด จำนวน 8 ตัว เพศผู้ 4 ตัว และเพศเมีย 4 ตัว
นางทิพาวดี กิตติคุณ ยังกล่าวต่ออีกว่า เนื่องใน วันที่ 12 สิงหาคม 2567 ตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งเป็นวันหยุดยาว ระหว่างวันที่ 10 – 12 สิงหาคม 2567 สวนสัตว์ขอนแก่น จึงได้จัดให้นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมความน่ารักของลูกสิงโต ผ่านกล้องวงจรปิด ทางระบบจอ CCTV ณ ส่วนจัดแสดงสิงโต นอกจากนี้สวนสัตว์ขอนแก่น ยังได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อาทิเช่น กิจกรรมร่วมบริจาคโลหิต กิจกรรมกล่องสุ่มแจกของรางวัล กิจกรรมให้อาหารสัตว์ เป็นต้น
ลักษณะสิงโตไม่มีลายบนตัวอย่างเสือ ตัวผู้ที่โตเต็มที่จะมีขนยาวขึ้นรอบคอ ดูสง่าน่าเกรงขาม ตัวเมียไม่มีขนรอบคอ ตรงปลายหางมีขนขึ้นเป็นพู่ พบในทวีปแอฟริกา ในทวีปเอเชียยังคงพบได้บ้างเช่นในประเทศอินเดียทางแถบตะวันตก สิงโตกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร กินสัตว์ได้แทบทุกชนิด เช่น ควายป่า ยีราฟ ม้าลาย กวางป่า กวางดาว เป็นต้น แม้แต่ซากสิงโตด้วยกันเองก็กิน พฤติกรรมสิงโตชอบอยู่เป็นฝูงตามทุ่งโล่ง ขนาดของฝูงขึ้นอยู่กับปริมาณของเหยื่อ ถ้ามีเหยื่อมากและเหยื่อมีขนาดใหญ่ สิงโตก็จะอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ เวลาส่วนใหญ่ของสิงโตหมดไปกับการนอนพักผ่อน จะล่าเหยื่อก็ต่อเมื่อหิว หน้าที่ล่าเหยื่อจะเป็นของตัวเมียเป็นส่วนใหญ่ ตัวผู้ล่าเหยื่อไม่เก่ง แต่จะเป็นผู้คอยกันตัวเมียออกจากซากเหยื่อ เพื่อให้ลูกสิงโตได้มีโอกาสกินด้วย นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ป้องกันฝูงและรักษาอาณาเขตของฝูงจากตัวผู้ตัวอื่น สิงโตออกหากินกลางคืน ตั้งแต่เริ่มมืดจนถึงเที่ยงคืน เมื่อกินเหยื่อเสร็จแล้วต้องกินน้ำ และนอนพัก ตอนเช้าจึงจะกลับที่อยู่ การล่าเหยื่อของสิงโตมีทั้งแบบออกล่าตัวเดียวและเป็นกลุ่ม วิธีการล่าเหยื่อของสิงโตคือจะพยายามเข้าไปใกล้เหยื่อให้ได้มากที่สุดก่อน ที่จะตะครุบเหยื่อหรือออกวิ่งไล่เหยื่อ เพื่อให้เหยื่อมีเวลาหนีน้อยที่สุดเนื่องจากว่าสิงโตสามารถวิ่งได้เร็วใน ระยะสั้นๆ เท่านั้น นอกจากนี้สิงโตยังมีความอดทนอย่างมากในการรอคอยเหยื่อ
สวนสัตว์ขอนแก่น จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมความน่ารักของครอบครัวลูกสิงโต ผ่านระบบจอ CCTV และเที่ยวชมสัตว์ป่านานาชนิดอีกมากมายได้ที่สวนสัตว์ขอนแก่น ได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.30 น. – 16.30 น.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ข่าวน่าสนใจ:
- กองบิน 5 แถลงข่าวการจัดงาน “สดุดีวีรชน 8 ธันวาคม 2484” รำลึกถึงความกล้าหาญ และความสามัคคีของวีรชนผู้กล้า ในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา
- ขาดสภาพคล่องขั้นรุนแรง! อธิบดีกรมท่าฯ ร่อนนส.ด่วน! แจ้งบอกเลิกสัญญาทิ้งงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินตรัง 1.2 พันล.แล้ว…
- พิธีมอบกรรมสิทธิ์และไถ่ชีวิตโค-กระบือ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- เตือนชาวบ้านอย่าตกเป็นเครื่องมือคนร้ายที่พยายามสร้างความขัดแย้งในพื้นที่
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: