X

นร.ตรัง สืบสานศิลปะท้องถิ่น ผลิตงานฝีมือ กระเป๋า เครื่องประดับ จากลูกปัดมโนราห์ ขายสร้างรายได้ระหว่างเรียน

ตรัง นักเรียนตรังสร้างสรรค์งานฝีมือกระเป๋า-เครื่องประดับจากลูกปัดมโนราห์ ภายใต้ชื่อบริษัทสร้างการดี จำหน่ายเป็นรายได้ระหว่างเรียน และจัดสรรเงินบางส่วนสำหรับสนับสนุนกิจกรรมในชุมชน

นักเรียนโรงเรียนสวัสดิ์รัตนาภิมุข อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง รวมกลุ่มสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากลูกปัดมโนราห์ สะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่นผสานความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ โดยกลุ่มนักเรียนได้นำลูกปัดที่ใช้ประดับชุดมโนราห์ ศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ มาต่อยอดเป็นสินค้าหลากหลายรูปแบบ อาทิ กระเป๋า ตะกร้า พวงกุญแจ สร้อยคอ และต่างหู โดยใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนในการผลิตสินค้าเหล่านี้

น.ส.กาญจนา คงเอียด ครูที่ปรึกษาบริษัทสร้างการดี รี.สวัสดิ์รัตนาภิมุข เปิดเผยว่า กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการโรงเรียนสุจริตที่ดำเนินการในชื่อบริษัทสร้างการดีที่จัดรวมกลุ่มกันเพื่อผลิตชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์ไปขาย รวมทั้งการออกบูธในงานต่างๆ เช่น งานสัปดาห์วิชาการของนักเรียน งานOTOP นอกจากนี้เด็กๆยังสร้างเพจ “สรม.ลูกปัดหัถศิลป์”เพื่อจำหน่ายสินค้าด้วย 086-9409314 โครงการนี้ช่วยปลูกฝังทักษะอาชีพและความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นให้กับนักเรียน อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้เสริมระหว่างเรียนอีกด้วย

นายสุดที่รัก สังฆ์รัก หรือ น้องตะวัน นักเรียนชั้นม.5 โรงเรียนสวัสดิ์รัตนาภิมุข บอกว่า สินค้าของกลุ่มมีหลายอย่างด้วยกัน เช่น กระเป๋าเตยปาหนันประดับด้วยลูกปัดมโนราห์ ตะกร้าที่ตกแต่งด้วยลูกปัด กระเป๋าผ้าประดับด้วยลูกปัดมโนราห์ สร้อยคอที่เน้นการร้อยให้มีมิติ ตุ้มหู พวงกุญแจ ซึ่งงานเน้นการดีไซน์ที่ทันสมัย ใส่แล้วไม่รู้สึกเชย ซึ่งผลงานทั้งหมดเริ่มต้นจากการศึกษาศิลปะและภูมิปัญญาในชุมชน และนักเรียนก็รวมกลุ่มกันประมาณ 30 คน ใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนประดิษฐ์เป็นชิ้นงานต่างๆ โดยราคาของผลงานแต่ละชิ้นก็ไม่แพง กระเป๋าราคาเริ่มต้นใบละ 329 บาท เครื่องประดับและพวงกุญแจเริ่มต้นที่ชิ้นละ 29 บาท สร้อยคอราคาเริ่มต้นชิ้นละ 290 บาท เราได้จัดตั้งเป็นบริษัทสร้างการดี ซึ่งรายได้จากการขายก็แบ่งให้กับสมาชิกในกลุ่ม เป็นทุนสำหรับซื้อวัสดุอุปกรณ์ และบางส่วนก็นำไปสนับสนุนกิจกรรมต่างๆในชุมชน

อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์จากฝีมือนักเรียนกลุ่มนี้ได้รับความสนใจจากลูกค้าที่ชื่นชอบงานทำมือ และสะท้อนถึงศักยภาพของเยาวชนในการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยลวดลายและสีสันของผลิตภัณฑ์จากลูกปัดมโนราห์ที่นักเรียนสร้างสรรค์ มีลักษณะโดดเด่น คือ มีสีสันสดใสตามแบบชุดมโนราห์ มีการผสมผสานสีอ่อนและสีเข้มอย่างลงตัว ใช้ลายดั้งเดิมของมโนราห์ การจัดวางลวดลายแบบสมมาตรและอสมมาตรเพื่อสร้างความน่าสนใจให้ชิ้นงาน และออกแบบให้เหมาะกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน

 

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน