ตรัง-ครูหนังชื่อดังชาวตรัง จับมือกับกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดโครงการสอนหนังตะลุงเยาวชน เพื่อฝึกเยาวชนต้นกล้าหนังตะลุง ส่งไม้ต่อลูกหลานสืบสานศิลปะการแสดงหนังตะลุงมรดกท้องถิ่นปักษ์ใต้ มรดกทางวัฒนธรรมของแผ่นดินมิให้สูญหาย
ที่บ้านนายหนัง หมู่ 5 ต.นาวง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ของหนังครูอนันต์ สิกขาจารย์ ซึ่งเป็นผู้มีผลงานดีเด่น ทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดงหนังตะลุง ปี 2534 แชมป์หนังตะลุงแห่งประเทศไทย รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งที่บ้านนายหนังแห่งนี้ เปิดเป็น “วิชชาลัยหนังตะลุง ศูนย์ฝึกอันดามัน อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ” โดยมีโรงหนังตะลุงถาวรเล็กๆ เอาไว้สำหรับการฝึกฝนเยาวชนที่สนใจและรักในการแสดง หรือขับหนังตะลุงได้มาฝึกหัด และในครั้งนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เป็นครั้งที่ 7 ในการเปิดโครงการสอนหนังตะลุงเยาวชน ตอนที่ 1 เกร็ดความรู้จากครูหนังเชิงปฏิบัติการ ซึ่งเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมการฝึกหัดขับหนังตะลุงในครั้งนี้ จะได้ลงมือปฏิบัติจริงผ่านการแสดงบนโรงใหญ่ ทำการแสดงหนังตะลุงจริงๆ โดยหนังครูอนันต์จับมือสอนเด็กๆในการเชิด และขับกลอนหนัง และยังมีนายหนังตะลุงชื่อดังในจ.ตรัง และจังหวัดใกล้เคียง กว่า 20 คณะ ใช้เวลา 2 วัน 2 คืน มาร่วมทำการแสดงให้น้องๆเยาวชนได้เรียนรู้จากบรรดาเหล่าครูหนังชื่อดังเหล่านี้ และยังมีเยาวชนรุ่นพี่ที่เคยผ่านโครงการดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันได้มีคณะหนังตะลุงเป็นของตนเองและรับงานแสดงได้แล้ว มาร่วมขับหนังตะลุงด้วย
ทางด้านครูหนังอาจารย์อนันต์ สิกขาจารย์ บอกว่า กิจกรรมสอนหนังตะลุงให้แก่เยาวชนนั้น ดำเนินการมาเป็นปีที่ 7 แล้ว แต่ไม่ได้ติดต่อกันทุกปี เนื่องจากเกิดสถานการณ์โควิด โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรางวัฒนธรรม โดยสามารถผลิตต้นกล้าหนังตะลุงได้แล้วหลายคน ลูกศิษย์จะมีทั้งคนที่เป็นนายหนังตะลุง และลูกศิษย์ที่เป็นลูกคู่หนังตะลุง จากเดิมในการเปิดการแสดงหนังตะลุง จะต้องมีการจ้างลูกคู่หนังมาเล่น แต่ตอนนี้ลูกคู่หนังที่เห็นทั้งหมดบนโรงหนัง มาจากโครงการฝึกเยาวชนหนังตะลุงทั้งสิ้น ทั้งมือปี่ กลอง กรับ ฉิ่ง ฉาบ ทับ โหม่ง และเครื่องดนตรีสากล เช่น เครื่องดนตรีอีเล็กทรอนิค กีตาร์ คีย์บอร์ด เบส และกลองชุดล้วนมาจากการโครงการเดียวกัน ส่วนลูกศิษย์ที่เป็นนายหนังหลายคนขณะนี้มีชื่อเสียงโด่งดังออกรับงานการแสดงได้แล้ว ซึ่งโครงการนี้ตนและกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรมเห็นความสำคัญของการสืบสานรักษาการแสดงหนังตะลุงให้คงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นของแผ่นดินสืบไป จึงฝึกเยาวชนต้นกล้าให้มีความรู้ในด้านการแสดงหนังตะลัง ทั้งทฤษฎี ภาคปฏิบัติ เกร็ดความรู้ ลีลาการแสดง และได้มีเวทีในการแสดงจริง ทั้งเยาวชนต้นกล้า นายหนังตะลุงมือใหม่ และครูหนังตะลุง ซึ่งเคยมีชื่อเสียงในการแสดงหนังตะลุงในยุคที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันยอมรับและทุกท่านก็เป็นห่วงวงการหนังตะลุงมีงานว่าจ้างแสดงนับวันน้อยลงทุกที เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป ห่วงจะสูญหาย ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนงานประจำปีของจังหวัดต่างๆทั่วภาคใต้ รวมทั้งงานวัดต่างๆ ก็จะมีขาดไม่ได้ต้องมีจ้างหนังตะลุงไปแสดง เพราะหนังตะลุงเป็นที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัด งานวัดต่างๆ ก็ต้องมีหนังตะลุง แต่ตอนนี้ไม่มี ทำให้เด็กและเยาวชนขาดแหล่งวิชาความรู้ โดยหันไปเรียนฝึกฝนจากคลิปการแสดงทาง YouTube แต่ไม่ได้เกร็ดวิชามากนัก แต่โครงการนี้ เป็นการเริ่มต้นฝึกฝน สำหรับเยาวชนตัวน้อย และต่อยอดฝึกฝนการแสดงสำหรับเยาวชนที่เริ่มเล่นหนังหรือขับหนังตะลุงได้แล้ว เพื่อให้มีเวทีพัฒนาการแสดงของลูกๆหนังตะลุง เยาวชนที่ผ่านโครงการนี้ไปได้เรียนรู้จากครูหนังมืออาชีพหลายท่าน นำวิชาความรู้ไปทำการแสดงเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ และรับไม้ต่อจากรุ่นพ่อ รุ่นปู่ ได้รักษามรดกการแสดงหนังตะลุงให้คงอยู่สืบไป แม้โอกาสปีละครั้งก็ยังดี
ทางด้านเด็กชายปกรณ์เกียรติ ทองขวิด หรือน้องปลื้ม นักเรียนชั้น ป. 6 โรงเรียนดรุโณทัย อ.เมือง จ.ตรัง บอกว่า ตนเริ่มสนใจการแสดงหนังตะลุงมาตั้งแต่ชั้น ป.4 แต่มาเริ่มฝึกเป็นครั้งแรก ฝึกทั้งการออกฤาษี ออกรูปพระอิศวรทรงโค ขับกลอนหน้าบท สิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการคือ ในวิชาภาษาไทยก็สามารถขับหนังตะลุงให้ครู เพื่อนนักเรียนดูได้แล้ว และต้องการเป็นนายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงในอนาคต สาเหตุที่ชอบหนังตะลุง เพราะตลกได้สาระ ได้ธรรมะ และตนเองยังสามารถแกะรูปหนังตะลุงได้ด้วย ทั้งตัวฤาษี และตัวตลก แต่วันนี้มาแสดงเอามาตัวเดียว เฉพาะตัวฤาษีเท่านั้น
ข่าวน่าสนใจ:
- ทีม “นายกบุ่นเล้ง” เบอร์ 1 ขยับก่อน ยกพลหาเสียงเกาะสุกร เช็คอินถนนสีรุ้ง ดันนโยบาย เปิดมิติใหม่ อบจ.ตรังหนุนท่องเที่ยว…
- ตรัง ผู้สมัครนายกอบจ.ตรัง รถเสียหลักชนเสาไฟ รอดปาฏิหาริย์เผยพระเครื่องดังคุ้มครอง
- ตรัง ผู้ว่าฯ ตรังจับมือปุ้มปุ้ยมอบถังขยะการ์ตูนสุดคิวท์ 14 ร.ร.หวังปลูกจิตสำนึกรักษ์โลก
- ตัสนีม เปิดเมนูพิเศษชุดข้าวหมก-ข้าวมันไก่ทูโทนจัมโบ้เสิร์ฟความอร่อยอิ่มจุกๆ
ขณะที่นายวรากร สามพรหม หรือ หนังน้องพีท ลูกทุ่งวัฒนธรรม มาจากศูนย์ฝึกเยาวชนหนังตะลุง ต.หนองบัว อ.รัษฎา และเป็นรุ่นพี่โครงการสอนหนังตะลุงเยาวชนนี้ด้วย บอกว่า ตอนนี้มีคณะแสดงเป็นของตัวเอง ชอบการขับหนังตะลุงมาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม.3 แต่ได้มาฝึกหัดจริงจังเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้รับงานเองแล้วทั้งในพื้นที่ จ.ตรัง และต่างจังหวัด แล้วแต่คนจ้าง ไปแสดงไกลสุดจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยการแสดงหนังตะลุงสมัยนี้ ไม่ง่ายเลย เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไปต้องสู้กับเวียนครก สู้กับการแสดงอื่นๆ ที่สนุกสนาน นายหนังต้องปรับตัวเยอะมาก ต้องมีวิชาครบเครื่องสนุกสนาน โดยเฉพาะจะต้องร้องเพลงเป็นเพราะต้องสู้กับเวียนครก มุกตลกต่างๆ ต้องทันเหตุการณ์ สถานการณ์ปัจจุบัน ใฝ่ฝันอยากมีชื่อเสียง จะได้มีงานแสดงบ่อยๆ แต่ถ้าพัฒนาการเล่นได้จนมีชื่อเสียงแล้ว ถ้าดังแล้วก็จะดังเลย ตอนนี้มีช่อง YouTube เป็นของตัวเอง ชื่อ หนังน้องพีท ลูกทุ่งวัฒนธรรม และเฟสบุ๊ค ก็ชื่อเดียวกัน คือหนังน้องพีท ลูกทุ่งวัฒนธรรม สามารถติดตามได้ และ ถ้าใครสนใจไปทำการแสดงติดต่อได้ตามช่องทางดังกล่าว และเบอร์โทรศัพท์ 097 – 3024437
ส่วนหนังครูอาจารย์อนันต์ สิกขาจารย์ สามารถติดต่อทำการแสดง หรืองานพิธีกรรมหนังตะลุง ที่เฟซบุ๊ก “ อนันต์ สิกขาจารย์” หรือเบอร์ 080 -7097167
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: