ฉะเชิงเทรา – ห่วงหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งติดอันดับ 9 ของโลก ขณะหนี้รัฐบาลเชื่อแบกรับได้ มองกำลังซื้ออสังหาภายในไม่เพียงพอ แนะปลดแอกลดเงื่อนไขดึงกำลังซื้อจากต่างชาติ พร้อมขอรัฐบาลใหม่มีความชัดเจนทางนโยบาย หวังให้ต่างชาติสนใจเดินหน้าเข้ามาลงทุน จากความได้เปรียบด้านภูมิรัฐศาสตร์ช่วยเสริมการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น
วันที่ 4 ก.ย.67 เวลา 14.00 น. นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินทางมาปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “วิกฤตเศรษฐกิจไทยในวันที่ต้องรอด” ในงานประชุมใหญ่สมาคมอสังหาริมทรัพย์ฉะเชิงเทรา ที่จัดขึ้นที่โรงแรมวันธาราเวลเนส รีสอร์ทแอนด์โฮเทล ต.คลองนา อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ในช่วงเช้า เพื่อเลือกนายกสมาคมคนใหม่และคณะกรรมการที่เพิ่งหมดวาระลง โดยมีสมาคมอสังหาริมทรัพย์จากทั่วประเทศ โดยเฉพาะ นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ชลบุรี เดินทางมาร่วมรับฟังปาฐกถาพิเศษในช่วงบ่ายด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
โดยนายกรณ์ ได้กล่าวถึงหนี้รัฐบาลนั้นยังสามารถแบกรับได้ เมื่อเทียบภาระการชดใช้ดอกเบี้ยและเงินต้นของรัฐบาล เทียบกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐบาลนั้นอยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่ที่เป็นปัญหาคือหนี้ครัวเรือนของไทย ที่เพิ่มขึ้นมาอย่างน่ากลัวนับตั้งแต่เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว หลังจากน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 -2556 ได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ของจีดีพี มาเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในระยะ 5 ปี และถือว่าเพิ่มเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับเกือบทุกประเทศในโลก
ในวันนี้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ประมาณ 86.9 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งติดอยู่ในกลุ่มหนี้ครัวเรือนที่สูงที่สุดในโลก หรือติดอยู่ในลำดับที่ 9 ใน 10 ของโลก และที่น่าแปลกใจ คือ ประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุด คือ สวิสเซอร์แลนด์ ที่เคยถูกมองว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวย และไม่คิดว่าประชากรของประเทศนี้จะกู้หนี้ยืมสินมากเป็นอันดับ 1 ของโลก คือ 128.3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่เหตุใดคนสวิสจึงไม่เดือดร้อนในเรื่องของปัญหาหนี้ครัวเรือน เนื่องจาก 99 เปอร์เซ็นต์ของหนี้สินคนสวิสนั้น คือ หนี้ซื้อบ้านซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ฉะนั้นในเรื่องของความมั่นคงทางการเงินจากการเป็นหนี้ เราติดอยู่ในท็อปเทน จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ในขณะที่อีก 9 ประเทศที่อยู่ในกลุ่มท็อปเทนนั้น อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงด้วยกันทั้งนั้น เช่น ออสเตรเลีย มีหนี้ 111.8 เปอร์เซ็นต์ เกาหลีใต้ 105.1 แคนนาดา 102.4 ฮ่องกง 95.7 เนเธอร์แลนด์ 94.9 นิ้วซีแลนด์ 94.4 สวีเดน 88.2 และเดนมาร์ค 86.2 ฉะนั้นการแบกรับภาระหนี้ของเขานั้น เขาจึงแบกรับได้ แต่ของเราหนี้เยอะ และเป็นหนี้ที่ยืมมาเพื่อใช้จ่าย อีกทั้งรายได้ของเรายังน้อย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้กำลังซื้อของคนไทยหายไป
และได้เคยฝากความเห็นไปถึงยังรัฐบาล “เศรษฐา” ในขณะนั้นที่จะให้ทางกระทรวงมหาดไทยเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องหนี้ว่า ปัญหาหนี้ต้องแก้ด้วยเงิน และกระทรวงที่มีเงิน คือ กระทรวงการคลัง ที่มีธนาคารของรัฐอยู่ในมือเป็นเจ้าภาพ เช่น ออมสิน ธกส. แต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องหนี้จะแก้ได้โดยง่าย เพราะเป็นปัญหาที่สะสมมานาน และที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาหนี้ไม่ใช่การพักหนี้หรือยกหนี้ให้ แต่เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ลูกหนี้ ด้วยการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นเราก็จะสามารถแบกรับภาระหนี้เหล่านี้ได้
หากจีดีพีโต สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีก็จะค่อยๆ ลดลงไปเอง วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด คือ ทำให้จีดีพีโต ฉะนั้นประเด็นคือเราจะทำให้เศรษฐกิจของเราโตขึ้นได้อย่างไร โดยวิธีการที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นนั้น ต้องส่งเสริมให้เกิดการลงทุน โดยต้องรอดูและให้เวลาต่อรัฐบาลชุดใหม่ ว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร เช่น การมีนโยบายส่งเสริมพัฒนาส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี จะต่อหรือไม่ หรือจะหันไปสนใจในเรื่องแลนด์บริดจ์ ที่เป็นนโยบายของเขา การลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (เอฟดีไอ) คือ เหตุผลหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเมื่อ 40 ปีที่ก่อน เมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย นั้นมีอยู่หลายปัจจัย
ปัจจัยแรก คือ ญี่ปุ่นมีปัญหาด้านการค้ากับทางอเมริกา จึงต้องการฐานการส่งออกจากภายนอกประเทศ ขณะที่เงินเยนแข็งค่าเกินไป จึงต้องการส่งออกสินค้ากับประเทศที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเทียบกับสหรัฐฯ ที่ไม่ได้มีการปรับในระดับเดียวกับญี่ปุ่น โดยเงินบาทของไทยในขณะนั้นยังผูกอยู่กับเงินดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งตรงกับความต้องการของเขา และยังมีการก่อสร้างทางอุตสาหกรรม มีแรงงานจึงเป็นปัจจัยในทางบวกกับประเทศไทยอย่างมาก
ในวันนี้ FDI จากที่เคยอยู่ที่ 4-5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเมื่อสมัย 25 ปีที่แล้ว ขณะนี้ลดลงเหลือไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี จากเดิมในอาเซียนเราเคยมีส่วนแบ่งด้านการลงทุนจากภายนอกประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์แต่ขณะนี้ของเราลดลงเหลือเพียงประมาณแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ฉนั้นอีอีซีจึงมีความสำคัญในการที่จะดึงการลงทุนให้ไหลกลับคืนเข้ามา และเป็นช่วงที่มีโอกาส เพราะมีหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน คือ ภูมิรัฐศาสตร์ จากความขัดแย้งการแข่งขันระหว่างจีนกับอเมริกา ทำให้ประเทศไทยเราได้รับอานิสงค์จากการย้ายฐานการผลิต
ทั้งจากบริษัทไต้หวันที่ต้องการลดความเสี่ยง จากการมีฐานการผลิตส่วนใหญ่อยู่ที่จีน หรือแม้แต่ผู้ผลิตจีนเองที่ต้องการลดความเป็นจีนเพื่อที่จะส่งออกสินค้าไปยังประเทศตะวันตกได้ เรามีโอกาสนี้ แต่เราก็ยังมีคู่แข่งด้วย ฉะนั้นความชัดเจนทางนโยบายในเรื่องของการดึงนักลงทุนเข้ามายังในประเทศไทย จึงมีความสำคัญมาก
นอกจากนี้ยังต้องหาเงินใหม่ให้ประเทศ โดยการลดเงื่อนไขข้อจำกัดปลดแอกกฎหมายบางประเภทเพื่อที่จะทำให้ธุรกิจใหม่ๆ นั้นเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น สิทธิการถือหุ้นที่สูงขึ้น สิทธิ์การถือที่ดินโดยต่างชาติ ซึ่งมีผลโดยตรงแน่นอนกับแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ถามว่ารัฐบาลนี้มีพลังที่จะขับเคลื่อนเพียงพอหรือไม่นั้น ตอบไม่ได้ แต่หากถามในเรื่องเศรษฐศาสตร์ล้วนๆ นั้น ถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำ แม้จะมีผลทางสังคม และผลทางความรู้สึกของคนไทยที่ต้องมีแน่นอน
ท่ามกลางโครงสร้างฐานประชากรของไทย ที่มีประชากรคนไทยลดลง ฉะนั้นฐานลูกค้าภายในประเทศนั้นจึงลดลงไม่เพียงพอ ไม่เพียงพอแม้แต่ในบางอุตสาหกรรมที่จะรักษากำลังซื้อไว้ในระดับหนึ่งได้ แต่หากถามว่าจะทำให้เศรษฐกิจโตอย่างไรในขณะที่ประชาชนของเราเริ่มลดลง จึงต้องอาศัยกำลังซื้อจากภายนอก ในการที่จะเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาใช้กำลังซื้อของเขาในประเทศของเรามากขึ้น
การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะพูดว่าง่ายทางเศรษฐศาสตร์นั้น ก็ถือว่าง่ายด้วยการปลดแอกปลดล็อคเงื่อนไขหลายๆ อย่าง ในทุกๆโยบาย เราต้องคิดว่าแต่ละนโยบายนั้นมีประโยชน์อย่างไร คุ้มค่าไหม และมีผลข้างเคียงอย่างไร และมีมาตรการที่จะรองรับผลข้างเคียงเอาไว้ให้ได้มากที่สุด นั้นคือการขับเคลื่อนนโยบายที่ดี ในขณะเดียวกันหากทำไปโดยไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบเลยนั้นก็คงไม่ได้นั้น คือ สิ่งที่อยากจะเห็นจากรัฐบาลใหม่ ที่กำลังจะเห็นหน้าตาอย่างเป็นทางการในอีกไม่กี่วันนี้
และหวังว่าจะมีความชัดเจนในทุกเรื่องให้กับคนไทยทุกคน จะได้มีความหวังและความมั่นใจในการลงทุนและขับเคลื่อนธุรกิจต่อไป โดยโอกาสใหม่ของประเทศไทย 7 การเปลี่ยนแปลง คือ 1.เศรษฐกิจสายเทคสร้างแพลตฟอร์มของไทย 2.เศรษฐกิจสีเขียว ทุกบ้านขายไฟฟ้าได้ 3.เศรษฐกิจสีเทาเปลี่ยนส่วยเป็นภาษี 4.เศรษฐกิจสายมู ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวศักดิ์สิทธิ์ 5.เศรษฐกิจสร้างสรรค์ กองทุนซอฟต์พาวเวอร์ 6.เศรษฐกิจสีรุ้ง LGBTQ สมรสได้เพิ่มนักท่องเที่ยว 7.เศรษฐกิจวัยเก๋า สร้างงานผู้สูงวัย นายกรณ์ กล่าว
ส่วนบรรยากาศการประชุมใหญ่สมาคมอสังหาริมทรัพย์ฉะเชิงเทรา เพื่อเลือกนายกสมาคม และคณะกรรมการนั้น ดร.สืบวงษ์ สุขะมงคล เจ้าของธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ (กลุ่มมารวย) ทั้งใน จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี รวมถึง กทม. ได้รับเลือกให้ได้รับตำแหน่งแทน นายธนกฤต ปิ่นเจริญ อดีตนายกสมาคมคนเก่าที่วางมือลง เพื่อต้องการพักผ่อนอยู่กับครอบครัว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: