“มุสบาปาเต๊ะ” อ.สุไหงโก-ลก ผ่านการรับรอง ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกจากเส้นใยธรรมชาติ เสริมสร้างภูมิปัญญา ต่อยอดการผลิต สร้างรายได้อย่างยั่งยืน
วันนี้ (14 ก.ย.67) คณะกรรมาธิการแก้ปัญหาหนี้สิน ความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำเรื่อง “การส่งเสริมการสร้างรายได้ เพื่อลดความยากจน” นำโดย นายสัมพันธ์ มะยูโช้ะ ประธานคณะกรรมาธิการฯ พร้อมด้วย นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล รองประธานคณะกรรมาธิการฯ เดินทางพร้อม ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผวจ.นราธิวาส และคณะฯ ไปยัง กลุ่มหัตถกรรมผ้าปาเต๊ะ “มุสบาปาเต๊ะ” ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพื่อเยี่ยมชม และรับฟังการบรรยายสรุปแนวทางการดำเนินงานของกลุ่มหัตถกรรมผ้าปาเต๊ะ “มุสบาปาเต๊ะ” ที่เป็นการส่งเสริมการประกอบอาชีพ ให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก
สำหรับกลุ่มหัตถกรรมผ้าปาเต๊ะ “มุสบาปาเต๊ะ” ได้ยื่นคำขอรับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของผลิตภัณฑ์ “ผ้าบาติก” มาตรฐานเลขที่ 51/2557 ซึ่งมติที่ประชุมคณะกรรมการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนจังหวัดนราธิวาส ให้การรับรองแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน “ผลิตภัณฑ์ชุมชน” เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้การรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก เส้นใยธรรมชาติ (ฝ้าย) และปัจจุบันกลุ่มหัตถกรรมผ้าปาเต๊ะ “มุสบาปาเต๊ะ” ได้พัฒนาลวดลายผลิตภัณฑ์ผ้าปาเต๊ะ ให้มีความสวยงามและทันสมัยมากยิ่งขึ้น ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก ส่งผลให้มีออเดอร์ทั้งในและนอกพื้นที่อย่างล้นหลาม กระตุ้นยอดขายให้กลุ่มหัตถกรรมผ้าปาเต๊ะ รวมทั้งส่งเสริมและต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นไปยังพื้นที่อื่นๆได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ “ผ้าปาเต๊ะ” หรือ “บาเต๊ะ” หรือ “บาติก” เดิมทีเป็นภาษาชวา ประเทศอินโดนีเซีย ที่ใช้เรียกผ้าย้อมสีที่รวมเอาศิลปหัตถกรรมและเทคนิคการย้อมสีเข้าด้วยกัน ลวดลายของผ้ามีความแปลกใหม่ และแต่ละท้องถิ่นจะมีลวดลายและรูปแบบบนผืนผ้าที่แตกต่างกัน ซึ่งบ่งบอกถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่และวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่
ลวดลายของผ้าส่วนใหญ่นำเอาความเป็นธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ดอกไม้ หรือรูปเลขาคณิตต่างๆ รวมทั้งลวดลายรูปสัญลักษณ์มงคลตามคติจีน ที่นิยมใช้ในวัฒนธรรมเปอรานากัน ซึ่งเป็นกลุ่มชาวจีนที่มีเชื้อสายมลายู เช่น รูปดอกท้อ, ดอกโบตั๋น, พัด, ลายหงส์ หรือนกฟินิกส์ ซึ่งเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมระหว่างมลายูและจีน ปัจจุบันการทำผ้าโดยวิธีพิมพ์ลายผ้าจะนิยมมากกว่าวิธีเขียนลายด้วยมือ เพราะรวดเร็วและสะดวกมากขึ้น ตามขั้นตอนคือ นำผ้ามาวางบนแท่นที่มีความสูงประมาณ 3 ฟุต และกว้างตามความเหมาะสม บนพื้นโต๊ะจะปูด้วยกาบกล้วย เพื่อทำให้เกิดความเย็นในขณะที่ใช้แม่พิมพ์พิมพ์ลวดลายลงบนผืนผ้า จุ่มลงในขี้ผึ้งหรือไขที่อุ่นไว้ พิมพ์ลงบนผ้าสีขาว หลังจากนั้นก็นำผ้าที่จุ่มไปย้อมและตากให้แห้ง พอผ้าแห้งแล้วก็นำผ้ามาพิมพ์กับแม่พิมพ์ครั้งที่ 2 แล้วนำไปย้อมและตากให้แห้งอีกรอบ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งครบจำนวนแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้ การย้อมสีในแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับช่างที่ออกแบบเม่พิมพ์ไว้ว่าจะเป็นในลักษณะลวดลายอย่างไร
อย่างไรก็ตาม แหล่งผลิตที่สำคัญที่สุดในภาคใต้ คือ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส, จ.ภูเก็ต และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา การผลิต “ผ้าปาเต๊ะ” ในปัจจุบัน ถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของคนใต้ เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นให้สืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น คงความงดงามของผืนผ้าที่แสดงถึงอัตลักษณ์ที่น่าภาคภูมิใจให้คงอยู่คู่ชาวใต้ และเป็นมรดกของประเทศไทยสืบไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: