X

ตรัง หาดปากเมง อ่วม! น้ำทะเลหนุน-คลื่นซัดถล่ม ข้าวของร้านค้าลอยกระจาย เรือล่ม-ต้นสนหักโค่น ผู้ว่าฯรายงานด่วนท่วมแล้ว 2 อำเภอ เดือดร้อน 188 ครัวเรือน

ตรัง-หาดปากเมง อ่วม! น้ำทะเลหนุน-คลื่นซัดถล่ม ข้าวของร้านค้าลอยกระจาย ขยะเกลื่อน ต้นสนหักโค่น เรือชาวบ้านล่ม 1 ลำ หวั่นมาอีก ผู้ว่าฯตรัง รายงานด่วนท่วมแล้ว 2 อำเภอ เดือดร้อน 188 ครัวเรือน ลงพื้นที่ช่วยเหลือชี้แจงระเบียบเยียวยา ระดมทหารช่วยย้ายของขึ้นที่สูง 

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรังเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 ว่า ภายหลังจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักติดต่อกัน 2-3 วันที่ผ่านมา โดยประกาศศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันตก ฉบับที่ 7 (42/2567) ลงวันที่ 18 กันยายน 2567 เรื่อง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมบริเวณทะเลอันดามันและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากและคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามัน ในช่วงวันที่ 18 – 21 กันยายน 2567 โดยเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ ประกอบกับเป็นช่วงน้ำใหญ่ ที่มีน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้น้ำจากแม่น้ำตรังได้เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำในหลายพื้นที่ จนต้องขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและบางส่วนได้อพยพมาอยู่ที่ปลอดภัยชั่วคราวนั้น

ล่าสุดวันเดียวกันผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านหากปากเมง ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดตรัง ว่า ช่วงเวลา 11.00 น. ได้เกิดพายุฝนและคลื่นลมแรง ทำให้คลื่นน้ำทะเลซัดโถมเข้าหาชายหาดอย่างรุนแรงตลอดแนวยาวของชายหาดปากเมงระยะทางหลายกิโลเมตร โดยเฉพาะบริเวณชายหาดท่องเที่ยวซึ่งเต็มไปด้วยร้านค้าร้านอาหารตลอดแนวชายหาด ทำให้ข้าวของ โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ ล้มระเนระนาดกระจัดกระจาย ชาวบ้าน เจ้าของร้านต่างรีบเข้ามาเก็บของกันอย่างจ้าละหวั่น ข้าวของเครื่องใช้บางส่วนก็ถูกคลื่นกลืนหายไปกับทะเล โดยคลื่นที่ถาโถมเข้ามาใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงจึงหายไปพร้อมกับพายุฝนที่หยุดตกชั่วคราว

หลังเหตุการณ์สงบลงชาวบ้านสำรวจความเสียหายพบ เศษขยะ เศษดิน กิ่งไม้ใบไม้ ทับถมกระจัดกระจายเป็นจำนวนมากตลอดแนวชายหาด ไปจนถึงบนถนนเลียบชายหาด ข้าวของเครื่องใช้ โต๊ะ เก้าอี้สำหรับลูกค้านั่งรับประทานอาหารล้มกระจัดกระจาย บางส่วนลอยลงทะเล นอกจากนี้ยังพบต้นสนใหญ่ริมหาดหักโค่นลงหลายต้น และมีเรือขนาดเล็กของชาวบ้านที่จอดไว้ริมหาดล่มไป 1 ลำ โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ระดมตัดต้นสนที่หักโค่นตลอดจนทำความสะอาดบริเวณชายหาด แต่ต้องใช้เวลานานเพราะเศษดินเศษขยะมีเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ชาวบ้านกังวลว่าจะมีคลื่นซัดเข้ามาอีกในช่วงเย็นวันนี้ และเช้าวันพรุ่งนี้ เพราะเป็นช่วงน้ำใหญ่ 1 ค่ำ ที่น้ำทะเลหนุนเต็มที่

ขณะที่วันเดียวกัน นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ลงนามในรายงานเหตุด่วนสาธารณภัยโดยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง ถึงอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์อุทกภัย น้ำไหลหลาก ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ณ วันที่ 17-18 กันยายน จังหวัดตรังได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยน้ำไหลหลาก ในพื้นที่ 2 อำเภอ 5 ตำบล 16 หมู่บ้าน 188 ครัวเรือน ดังนี้ 1.อำเภอเมืองตรัง(ตำบลนาตาล่วง 7 ครัวเรือน , ตำบลนาโต๊ะหมิง 51 ครัวเรือน , ตำบลควนปริง 34 ครัวเรือน , ตำบลบางรัก 86 ครัวเรือน) 2.อำเภอวังวิเศษ(ตำบลท่าสะบ้า 10 ครัวเรือน) ผลกระทบทำให้บ้านเรือนได้รับเสียหาย พื้นที่การเกษตร สวนยาง/ปาล์มมีน้ำท่วมขัง โดยทางอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่เกิดภัย ได้เข้าสำรวจความเสียหายและเข้าให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว นอกจากนี้ยังได้จัดชุดปฏิบัติการ ศบก.มทบ.43 โดย ร.15 พัน 4 เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และย้ายผู้ป่วยติดเตียงไปยังพื้นที่ปลอดภัย ทั้งนี้สานักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง ได้ประสานหน่วยงานเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน