X

ปัตตานี – เด็ก จชต.เตี้ย ! เผชิญปัญหาทุพโภชนาการสูงสุดในไทย สสส. สานพลัง ภาคี ชู 3 ข้อสร้างพลังโภชนาการที่ยั่งยืนในพื้นที่ จชต.

วันที่ 18 ก.ย. 2567 ที่โรงแรมปาร์ค อินทาวน์ อ.เมือง จ.ปัตตานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 12 สงขลา และภาคีเครือข่าย จัดเวที Policy Forum พลังความร่วมมือร่วมใจ ทุกนโยบายห่วงใยระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ “Food system in all policy”ภายใต้โครงการขับเคลื่อนและยกระดับระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ในจังหวัดสงขลาและสามจังหวัดชายแดนใต้

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ เป็น 1 ใน 7 ประเด็นการทำงานตามทิศทางและเป้าหมายระยะ 10 ปี ของ สสส. มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพอย่างสมดุล ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและนำไปสู่การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ จากสถานการณ์ด้านโภชนาการพื้นที่ชายแดนใต้ ปี 2565 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟ พบว่า พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) มีปัญหาทุพโภชนาการติด 1 ใน 5 อันดับสูงสุดของประเทศ พบเด็กอายุ 1-5 ปี มีภาวะเตี้ยแคระแกร็นหรือมีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์อายุ 20% สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศอยู่ที่ 13% ซึ่งมีสาเหตุจากการขาดสารอาหารต่อเนื่อง กระทบต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กในระยะยาว รวมถึงส่งผลต่อความไม่มั่นคงของมนุษย์ และเศรษฐกิจประเทศ

“สสส. เห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น ได้เร่งสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่ายนำร่องพัฒนาตำบลต้นแบบบูรณาการระบบอาหารในพื้นที่ จ.ปัตตานี จนเกิดการยกระดับการทำงานเชิงระบบและเกิดข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญ 3 เรื่อง 1.สร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน 2.สร้างระบบอาหารปลอดภัย จ.ปัตตานี 3.แก้ปัญหาโภชนาการในกลุ่มเด็กเล็ก วัยเรียน และกลุ่มเปราะบาง จ.ปัตตานี การจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การสร้างความร่วมมือจัดทำ Road map การขับเคลื่อนและยกระดับระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ในจังหวัดสงขลาและสามจังหวัดชายแดนใต้ ระยะ 3 ปี เพื่อขับเคลื่อนและขยายผลข้อเสนอเชิงนโยบายในพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

นายชูชีพ ธรรมเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล ผลิตอาหารได้เองเพียง 10% ของความต้องการโดยเฉลี่ย ประกอบกับผลกระทบจากราคาสินค้าผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ส่งผลต่อรายได้และความยากไร้ของประชากร ซึ่งมีสัดส่วนคนจนสูงสุดติด 1 ใน 10 อันดับของประเทศ ส่งผลให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ การกำหนดนโยบายด้านระบบอาหาร ถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างศักยภาพประชาชนให้เท่าทันกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เสริมความแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจให้กับคนในพื้นที่ ทั้งนี้นโยบายด้านระบบอาหารจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการทำงานจังหวัดในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ ขยายผลในทางปฏิบัติต่อไป

นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า จ.ปัตตานี ใช้กลไกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 38 แห่ง ร่วมกับ Thailand Policy Lab สภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชน ให้สามารถจัดทำแผนงาน/โครงการเพื่อแก้ปัญหา สร้างความรู้ ความเข้าใจ เกิดแนวร่วมในชุมชนให้เห็นพิษภัยของอาหารที่ใช้สารเคมี ทั้งอาหารแปรรูป ชาไทย ที่มีสีสังเคราะห์ปนเปื้อนในอาหาร และอาหารทะเล ที่มีสารฟอร์มาลีน โลหะหนัก สารหนูสารตะกั่วปนเปื้อนในอาหาร โดยส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัย และเสริมสร้างความรอบรู้ให้ผู้บริโภคฉลาดเลือก เนื่องจากผู้ปกครองยังมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของอาหารต่อการพัฒนาสมอง และบางส่วนคิดว่าภาวะเตี้ยในเด็กเป็นเรื่องปกติ และการสร้างนิสัยการกินที่ดีเป็นหน้าที่หลักของครู การส่งเสริมให้เด็กทุกคนได้รับสารอาหารที่เพียงพอเหมาะสมตามวัย และร่วมกันแก้ปัญหาของคนในชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่ออนาคตของเด็กและเยาวชน จ.ปัตตานี ที่จะเติบโตได้อย่างมีคุณภาพสามารถพัฒนาบ้านเมือง และเป็นแกนนำสร้างสังคมสุขภาวะยั่งยืน

นางกนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ปัญหาภาวะทางโภชนาการของเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่าปัจจุบันมีจำนวนกว่า 40,000 คน ที่ประสบปัญหาตั้งแต่ในครรภ์มารดาเมื่อคลอดออกมามีน้ำหนักไม่ถึงตามเกณฑ์ที่กำหนด ขาดสารอาหาร เตี้ย แคระ แกร็น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสติปัญญาทั้งนี้ด้วยสาเหตุหลักคืออาจจะมาจากความไม่พร้อมของครอบครัว ไม่มีอาชีพไม่มีรายได้ มาจุนเจือเลี้ยงดู ปล่อยปละละเลย จนทำให้เด็กขาดการดูแลเอาใจใส่ ส่งผลต่อการเรียนการศึกษา รวมถึงการมีงานทำและเศรษฐกิจในอนาคต ดังนั้นทุกหน่วยงานจะต้องร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่อย่างเร่งด่วน โดย อ.บต.จะเป็นศูนย์กลางในการผลักดันชี้นำแนวทาง หนุนเสริมเติมเต็มเดินหน้าไปพร้อม ๆ กัน ลดอัตราของจำนวนเด็กที่ประสบปัญหาให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่เปรียบเสมือนลูกหลานของเราเติบโตเป็นเด็กที่มีคุณภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงมีสติปัญญาที่ดีและในภายภาคหน้าสามารถเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญในการร่วมกันคลี่คลายปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ ม.อ. กล่าวว่า การเข้าถึงอาหารปลอดภัย รวมทั้งความรอบรู้และพฤติกรรมของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีปัญหาค่อนข้างสูงกว่าพื้นที่อื่น สถาบันนโยบายสาธารณะม.อ. จึงเร่งบูรณาการทำงานเครือข่ายนักวิชาการทั้งในและนอกพื้นที่ ช่วยเป็นพี่เลี้ยงหนุนเสริมการทำงานส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ สร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนโดยเพิ่มขีดความสามารถของกลไกหน่วยงานในพื้นที่ ให้เกิดแผนปฏิบัติการจัดการระบบอาหารอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ใช้องค์ความรู้ทางวิชาการขยายผลเชิงนโยบายและเกิดการเรียนรู้ของเครือข่ายที่ทำงานในพื้นที่ อาทิ เครือข่ายตลาดนัดอาหารเช้าโรงเรียน 6 แห่งใน จ.ปัตตานี ให้นักเรียนเป็นผู้ประกอบการ ผลิตอาหารปลอดภัย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน ส่งเสริมโครงการปลูกผักยกแคร่ สร้างโรงเรือนปลูกผักในที่สูงป้องกันวัชพืช ทำให้กลไกชุมชนจังหวัดปัตตานี และองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานีเป็นพื้นที่ต้นแบบที่เข้มแข็ง ช่วยสร้างแนวทางการกำหนดนโยบายที่แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด…

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน