X

ปราจีนบุรี ชาวบ้านรวมตัวขุดกลอย ร่วมงานบุญประเพณี “ตักบาตรทำบุญกินกลอย”

ปราจีนบุรี – ชาวบ้านรวมตัวขุดกลอย ร่วมงานบุญประเพณี “ตักบาตรทำบุญกินกลอย” พื้นที่ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดด่านตะกั่ว ม.14 ต.นาดี อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ และชาวบ้านรวมตัวกันไปหาขุดกลอยในป่าชุมชน เพื่อที่จะเตรียมงานบุญประเพณี “ตักบาตรทำบุญกินกลอย” ซึ่งเป็นประเพณีสืบทอดกันมาจากรุ่นพ่อแม่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นประจำทุกปีในช่วงปลายเดือนกันยายน จะมีการทำบุญประเพณีในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นงานบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง ในงานบุญดังกล่าว จะมีชาวบ้านและเพื่อนบ้านใกล้เคียงมาร่วมทำบุญตักบาตร ซึ่งจะมีผู้คนมาร่วมทำบุญที่วัดนี้เป็นจำนวนมาก เจ้าอาวาสและกรรมการวัดสมัยนั้น ลงความเห็นกันว่า การที่มีญาติโยมมาร่วมทำบุญกันเป็นจำนวนมาก ข้าวปลาอาหารอาจจะไม่เพียงพอเลี้ยงญาติโยมที่มาร่วมทำบุญ


ดังนั้น จึงมีแนวความคิดว่า ในหมู่บ้านนี้มีป่าชุมชนอยู่และมีกลอย ซึ่งขึ้นอยู่ในป่าตามธรรมชาติ โดยที่ชาวบ้านไปขุดหัวกลอยในป่าชุมชนข้างหมู่บ้าน นำมานึ่งและนำมาทำบุญเป็นประจำ จึงหารือกันว่าน่าจะนำเอาหัวกลอยมาเป็นเมนูอาหารพื้นบ้าน โดยไม่ต้องซื้อหา จึงไปขุดกลอยนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารพื้นบ้าน กลอยนึ่งคลุกมะพร้าวโรยน้ำตาลทราย ใส่งา แค่นี้ก็เป็นเมนูอาหารพื้นบ้านที่หากินได้ยากแล้ว


สำหรับ กลอย เป็นพืชตระกูลเผือกมัน 1 ปี จะมีหัวให้ได้กินเพียงหนึ่งครั้ง ในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี วิธีการขุดกลอยชาวบ้านจะรวมตัวกันไปขุดกลอยที่ขึ้นอยู่ในป่า ซึ่งกลอยมีอยู่ 2 ชนิด คือกลอยข้าวเหนียวและกลอยข้าวเจ้า ลักษณะจะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด กลอยข้าวเหนียวจะมีสีเหลือง กลอยข้าวเจ้าจะมีสีขาว หลังจากที่หัวกลอยที่ขึ้นอยู่ในดินลึกประมาณ 10 เซนติเมตร แล้วก็จะเครือทิ้ง ใช้เสียงขุดหัวกลอยขึ้นมา แล้วจะเอาส่วนโคนเถาเครือฝังดินไว้ เพื่อที่จะให้กลอยงอกแตกกอขึ้นมาใหม่ ต้นกลอยหนึ่งต้นจะมีหัวประมาณ 5-6 หัว แต่ละหัวเท่าลูกมะพร้าว ซึ่งจะสังเกตต้นกลอยต้นไหนจะมีหัวใหญ่ให้สังเกตเถาต้นกลอย ถ้าเถาหรือต้นกลอยใหญ่ ขนาดเท่านิ้วชี้และนิ้วโป้ง หัวจะใหญ่น้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 2 กิโลกรัม หลังจากขุดเอาหัวกลอยขึ้นมาแล้ว จะนำกองไว้ แล้วจะปลอกเปลือกใส่ถุง แล้วใส่รถนำออกมาจากป่ามาล้างน้ำทำความสะอาด จากนั้น จะใช้มีดหั่นหัวกลอยเป็นชิ้น ๆ บาง ๆ นำไปแช่น้ำใส่เกลือ โดยจะคำนวณเอาคร่าว ๆ ให้เกลือมีความเข้มในอัตราส่วนเศษ 2 ส่วน 3 หากใส่เกลือมากไป หากนำกลอยมานึ่งกลอยจะแข็งกระด้างไม่นุ่มเหนียวไม่ชวนกิน


นายวัชรพล ศรีอวน นายก อบต.นาดี กล่าวว่า พี่น้องประชาชนได้ร่วมกันออกไปขุดกลอย ในป่าชุมชนซึ่งกลอยจะมีทั้งกลอยข้าวเหนียวกับกลอยข้าวเจ้า กลอยสีเหลือง เรียกว่า กลอยเข้าเหนียว ส่วนกลอยสีขาวเรียกว่ากลอยข้าวเจ้า หลังจากหั่นแล้วจะนำกลอยมาแช่น้ำเกลือทิ้งไว้ 3-4 คืน แล้วก็จะนำไปแช่น้ำเปล่วอีกในระยะ 3-4 คืน ก็สามารถนำมาเป็นเมนูอาหารพื้นบ้านได้แล้ว และขอเชิญชวนให้น้องประชาชนมาเที่ยวงานบุญที่วัดด่านตะกั่ว ในวันที่ 6 ตุลาคมที่จะถึงนี้ ร่วมงานบุญจากกลอยฟรี


อย่างไรก็ตาม ในการนำกลอยแช่น้ำเกลือนั้น เพื่อเป็นการให้ความเค็มของเกลือ กัดสารมึนเมาในหัวกลอยออกให้หมด โดยจะแช่น้ำเกลือในอ่างหรือภาชนะไว้ 3-4 คืน ถ้าจะดูเนื้อกลอยนุ่มมือก็จะตักก่อนขึ้นจากน้ำเกลือ จากนั้น นำกลอยทั้งหมดไปแช่น้ำเปล่าไว้อีก 3-4 คืน จึงจะสามารถนำกลอยมาปรุงเป็นเมนูอาหารได้ โดยจะเตรียมกลอยทั้งหมดขึ้นจากน้ำและเก็บไว้ เพื่อรอนำกลอยมาทำบุญประเพณีตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งในวันงาน 6 ตุลาคม 2567 ที่จะถึงนี้ ซึ่งในวันงานจะนึ่งกลอยแจกจ่ายให้กับผู้ที่มาร่วมงานบุญ ซึ่งในแต่ละปีจะขุดหัวกลอยสดมาเตรียมทำงานบุญไม่ต่ำกว่า 2ตัน หลังจากกลอยแห้งแล้วจะเหลือน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 1 ตัน และจะนำมาทำบุญถวายพระในวันงานและแจกจ่ายให้กับญาติโยมได้กินกันอย่างถ้วนหน้า 1 ปีมีแค่ครั้งเพียงครั้งเดียว


——————————–
ข่าว-ภาพโดย/ทองสุข สิงห์พิมพ์

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ธนภัท กิจจาโกศล

ธนภัท กิจจาโกศล

"ธนภัท กิจจาโกศล" ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สระแก้ว "ประสบการณ์ยาวนานกับงานสื่อสารมวลชนระดับประเทศ ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ จับงานด้านข่าว สกู๊ปและรายงานพิเศษ กว่า 22 ปี มุ่งสื่อสารความจริงและข่าวสารที่เป็นธรรม สู่ประชาชนในภูมิภาค ด้วยจรรยาบรรณของฐานันดรที่ 4 เพื่อสร้างความโปร่งใสการรับรู้ข่าวสารของสังคม"