อุบลราชธานี – พนันออนไลน์ระบาดหนัก ผู้ใหญ่เฉย!ถือเป็นเรื่องคู่สังคมไทยมายาวนาน ชี้เล่นนานสมองถูกทำลาย สมาธิสั้น
นายนพภา พันธุ์เพ็ง กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ประธานมูลนิธิสื่อสร้างสุข กล่าวภายหลังร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การลดการพนันออนไลน์ในจังหวัดอุบลราชธานี ที่อาคารศูนย์ภาษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เมื่อวันอังคารที่ 9 มกราคม 2561 ว่าจากการรับฟังความคิดเห็นจากที่ประชุม พบว่าการพนันออนไลน์กำลังระบาดในนักเรียน นักศึกษาทุกระดับ โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยที่ผู้เกี่ยวข้องในแต่ละระดับยังไม่ตระหนักถึงภัยเงียบเหล่านี้ เพราะค่านิยมของสังคมไทยมองว่าการพนันเป็นเรื่องที่มีมาในสังคมไทยมายาวนาน “ใคร ๆ เขาก็เล่นกัน” โดยเฉพาะหวย ไพ่ และไฮโล
ปัจจุบันการพนันได้พัฒนาการสู่สังคมดิจิทัล 4.0 ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการพนันได้ง่าย รูปแบบการพนันก็เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งผู้ปกครองไม่เข้าใจและตามไม่ทัน จนการพนันออนไลน์กลายเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เราเรียกว่า โรคติดการพนันและถ้าเกิดกับเด็ก เยาวชนที่มีอายุน้อยแล้วเล่นเกมการพนันออนไลน์นานเกินกว่าวันละ1ชั่วโมง สมองส่วนหน้าจะถูกทำลาย ทำให้เด็กมีสมาธิสั้น ความอดทน อดกลั้นต่ำแล้วนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า จนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
ผู้เป็นโรคติดการพนันจะมีปัญหาหนี้สินตามมา ส่งผลกระทบต่อการเรียน ความสัมพันธ์ในครอบครัว ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจแล้วใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เด็กก็จะเตลิดออกจากบ้าน นำไปสู่การก่ออาชญากรรม การติดยา การขายบริการทางเพศ บางกรณีเลวร้ายถึงฆ่าตัวตาย
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติมีข้อมูลว่า จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่มีเด็กและเยาวชนติดการพนันออนไลน์มากอย่างมีนัยสำคัญ จึงสนับสนุนเงินทุนเพื่อให้จังหวัดได้จัดทำยุทธศาสตร์เพื่อลดจำนวนผู้ติดการพนันออนไลน์ โดยมีระยะเวลาการดำเนินงานเป็นเวลา 3 ปี
นายนพภา ได้เสนอแนวความคิดแก่คณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ไว้เป็น 4 แนวทาง คือ 1.อยากให้จัดทำฐานข้อมูลของผู้ติดการพนันออนไลน์ในจังหวัดอุบลราชธานีว่ามีจำนวนมากน้อยเพียงใด ประเภทของการพนันออนไลน์แล้วแบ่งระดับความรุนแรงออกเป็นพื้นที่ สีเขียว สีส้ม สีแดง โดยแบ่งวิธีลดการพนันแต่ละพื้นที่ให้แตกต่างกัน 2.ให้บริหารจัดการกลุ่มเปราะบางว่าแต่ละกลุ่มจะจัดการอย่างไร 2.1กลุ่มที่ไม่เคยเล่น จะต้องสร้างวิธีการป้องกันอย่างไร 2.2 กลุ่มที่นานๆทีเล่นจะให้เลิกเล่นจะทำอย่างไร 2.3 กลุ่มที่ติดการพนัน จะรักษาและเยียวยาอย่างไร และจะมีองค์กรใดที่จะเข้ามาร่วมสนับสนุน 3.การจะทำให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจะต้องทำอย่างไร
คณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ได้เสนอกรอบยุทธศาสตร์ไว้หลายเรื่อง ตั้งแต่วิสัยทัศน์ ประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าหมาย พันธกิจ โครงการที่จะจัดทำ และการประเมินผล คาดว่าจะมีการเผยแพร่ในโอกาสต่อไป
ข่าวโดย : นพภา พันธุ์เพ็ง
เรียบเรียง : สุชัย เจริญมุขยนันท
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: