ตรัง ถือศีลกินผักเมืองตรังจัดใหญ่ ขบวนออกโปรดสาธุชนจากทุกศาลเจ้า บรรยากาศคึกคักหลังเงินหมื่นสะพัด แม่ค้าอาหารเจเผยคนนำมาจับจ่าย โอดปีนี้ของแพงทุกรายการโดยเฉพาะผักแห่พาเหรดขึ้นราคา กัดฟันขายราคาเดิม แต่อาจลดปริมาณ ททท. ประยุกต์เมนูเจพื้นเมืองสู่ฟิวชั่นดึงนทท.
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงบรรยากาศนับถอยหลังสู่เทศกาลถือศีลกินผัก หรือ งานกินเจจังหวัดตรัง โดยเทศกาลถือศีลกินผักจังหวัดตรัง ประจำปี 2567 มีทั้งสิ้น 9 วัน ระหว่าง 3-11 ตุลาคมนี้ ซึ่งเหลือเพียง 2 วันจะเข้าสู่เทศกาล โดยผู้สร้างบุญที่ถือศีลกินผัก จะเริ่มงดทานเนื้อสัตว์และอาหารที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ทุกชนิดเป็นเวลา 3 วันเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม หรือเรียกว่าการล้างท้อง รวมทั้งถือศีลเป็นมหาทาน มหาบุญ มหากุศล เสริมบารมี สืบสานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดตรังที่สืบทอดมานานไม่ต่ำกว่า 150 ปี จนอาจกล่าวได้ว่าประเพณีนี้เกิดขึ้นมาพร้อมกับการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองตรังของชาวจีน ที่นำเอาวัฒนธรรมประเพณี ลัทธิความเชื่อจากบ้านเกิดของตนเข้ามาด้วย โดยจัดขึ้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน หรือราวเดือนกันยายนถึงตุลาคมของทุกปี โดยภายหลังจากมีพิธียกเสาโกเต้ง ก็จะเริ่มเข้าสู่เทศกาลถือศีลกินผักอย่างเป็นทางการ ซึ่งขณะนี้บรรดาศาลเจ้าต่างๆต่างเร่งมือเตรียมการกันอย่างคึกคัก ด้วยการระดมสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามาช่วยกันทำความสะอาดศาลเจ้า ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ
สำหรับบรรยากาศที่ศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ย ศาลเจ้าเก่าแก่จังหวัดตรัง ถนนท่ากลาง ภายในเขตเทศบาลนครตรัง เจ้าหน้าที่ศาลเจ้ารวมถึงสาธุชนได้เริ่มจัดเตรียมสถานที่ ทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ กันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะบรรดาพ่อค้าแม่ค้าอาหารเจที่ต่างเริ่มตั้งแผงตระเตรียมข้าวของกว่า 50 ร้านบริเวณศาลเจ้า
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง "เมนูลูกปลาปิ้งเครื่อง" จับปลาสดๆจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย
- หมดวาระอบจ.ตรัง รุ่งขึ้น “บุ่นเล้ง” เปิดตัวทันควัน ใช้ชื่อ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” แทน “ทีมกิจปวงชน” ชูนโยบาย “รวมพลังที่ยิ่งใหญ่ ขับเคลื่อนตรังให้เป็น 1”
- ตรัง แม่ค้าร้านดังถูกหลอก อ้างเป็นเลขานายกฯสั่งข้าวกล่องช่วยน้ำท่วมสูญเงิน 3 พัน
โดยนางปรีดารัตน์ กำนิด แม่ค้าอาหารเจร้านโกหลี อายุ 45 ปี กล่าวว่า สำหรับบรรยากาศเทศกาลถือศีลกินผักของจังหวัดตรังในปี 2567 นี้ คาดว่าจะคึกคักมากกว่าปีที่ผ่านๆมา เพราะดูจากบรรยากาศของผู้ที่ถือศีลกินผักที่เริ่มออกมาเตรียมตัวจับจ่ายใช้สอยกันก่อนช่วงเทศกาล อีกทั้งยังมีเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่ประชาชนเพิ่งได้รับมาช่วยกระตุ้นการจับจ่ายด้วย โดยมีลูกค้าหลายรายที่นำเงินดิจิทัลมาซื้อหาอาหารเจ แต่คงในระดับหนึ่ง เพราะประชาชนคงนำเงินดิติทัล ไปใช้จ่ายหลากหลายไม่เฉพาะการกิจเจ อย่างไรก็ตามในปีนี้พบว่าต้นทุนวัตถุดิบทุกรายการปรับราคาสูงขึ้น เช่นเครื่อวปรุงต่างๆ ปรับราคาขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 5 บาท รวมทั้งผักปรับราคาขึ้นเกือบ 10 บาท/กก. ข้าวสาร และอื่นๆ แต่ร้านอาหารเจก็ยังคงขายราคาเดิมเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภค เช่นอาหารตามสั่งราคา 50 บาท ขนมจีนเจ 30 บาท ในส่วนขนมจีนเจร้านในราคาเดิม แต่ปรับลดปริมาณลงเล็กน้อย เพราะปีนี้ราคาน้ำกะทิแพงขึ้นมาก ทั้งนี้ขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาสะสมบุญมากินเจที่จังหวัดตรัง เพื่อร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับพื้นที่
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับเทศกาลถือศีลกินผักจังหวัดตรังประจำปี 2567 นอกจากจะจัดตามศาลเจ้าต่างๆแล้ว ยังมีการจัดงานใหญ่ขึ้นที่บริเวณซุ้มประตูมังกร มูลนิธิกุศาลสถานตรัง ภายในเขตเทศบาลนครตรัง ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง โดยความร่วมมือระหว่าง เทศบาลนครตรัง , มูลนิธิกุศลสถานตรัง , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง ตลอดจนผู้แทนจากศาลเจ้าในจังหวัดตรัง
ทั้งนี้ สำหรับกำหนดการออกโปรดสาธุชนในเขตเทศบาลนครตรัง ของศาลเจ้าเก่าแก่ต่างๆ ระหว่างวันที่ 6 – 10 ตุลาคม 2567 ดังนี้ 6 ตุลาคม โดยศาลเจ้าพ่อหมื่นราม , 7 ตุลาคม โดยศาลเจ้ากวนอิมเก็ง ศาลเจ้าสามอ๋องฮู้เต้าโบ้วเกง และศาลเจ้าไต่เสี่ยฮุดโจ้ว , วันที่ 8 ตุลาคม โดยศาลเจ้ากิวอ๋องเอี่ย , วันที่ 9 ตุลาคม โดยศาลเจ้าพ่อเสือ , วันที่ 10 ตุลาคม โดยศาลเจ้าตั๋วแป๊ะก๋ง(นาโยง) โดยจะมีการจัดโต๊ะปะรำพิธีรับองค์ศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่งใหญ่บริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลนครตรัง ถนนวิเศษกุล ใกล้หอนาฬิกาตรัง
ด้านนางสาวลัดดาวัลย์ ช่วยชาติ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสที่ทุกฝ่ายจะได้ร่วมด้วย ช่วยกัน ในการต้อนรับนักท่องเที่ยวสายบุญ และอนุรักษ์สืบสานประเพณีอันดีงามของจังหวัดตรัง โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตรัง ได้ร่วมตอกย้ำภาพลักษณ์จังหวัดตรังเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอาหาร ประกอบกับนโยบายของจังหวัดในการขับเคลื่อนจังหวัดตรังสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร เพื่อเข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์องค์การยูเนสโก (UNESCO) และการขับเคลื่อน Gastronomy Tourism กินตามความเชื่อความศรัทธา ตามประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดตรัง และโภชนาการรูปโฉมใหม่ในการนำโปรตีนจากพืชเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร โดยนำเสนอเมนูอาหารเจจังหวัดตรังแบบดั้งเดิม และเมนูอาหารเจที่มีการยกระดับอาหารเจในสไตล์ฟิวชั่น เพื่อสุขภาพ อาทิ “โกต้าว” อาหารจีนฮกเกี้ยนตรัง เป็นอาหารแห่งการสามัคคี กลมเกลียว ดั่งคนหลายที่หลายแบบมารวมกันทำกิจกรรมให้รักใคร่ เหนียวแน่น กลมเกลียว เหมือน ถั่วลิสง เห็ดหอม เผือก อยู่รวมกัน เป็นเมนูเจ นอกจากนี้ยังมีเมนูสร้างสรรค์อาหารเจ โดย เชฟชื่อดัง มีชื่อว่า “หมี่ทางใต้” ได้แรงบันดาลใจมาจาก หมี่น้ำหล่อ ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นสุดยอดอาหารถิ่นของจังหวัดตรัง ประจำปี 2567 ตามโครงการ 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่ มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
///
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: