ตรัง ชาวบ้านชุมชนบ้านเกาะเปี๊ยะ จังหวัดตรัง จัดงานบุญสารทเดือนสิบวันสุดท้าย หรือ “วันส่งตายาย” ที่วัดอัมพวัน มีการแห่หมรับจาก 3 หมู่บ้าน ระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร โดยมีประชาชนกว่า 1,200 คนร่วมงาน การแห่หมรับที่บรรจุขนมประเพณี เช่น ขนมลา ขนมพอง และขนมเทียน พร้อมด้วยการรำกลองยาว บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนานและความร่วมมือของชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการทำบุญของครอบครัวนางกฤษณา ตันตระสุวรรณ และนายวิระ แก้วเพ็ง ที่ร่วมบริจาคเงินแสนเพื่อจัดงาน พร้อมแจกเงินให้ผู้สูงอายุและเด็ก รวมถึงการตั้งเปรตและชิงเปรตที่สร้างความสนุกสนานให้กับผู้ร่วมงาน งานนี้สะท้อนถึงการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวใต้ที่ยังคงเข้มแข็ง โดยมีการอธิบายความหมายของขนมต่างๆ และความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีนี้ ซึ่งนอกจากการทำบุญแล้ว ยังมีการระดมทุนเพื่อพัฒนาวัดอัมพวันที่มีอายุกว่า 120 ปีอีกด้วย
วันที่ 2 ตุลาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศงานบุญสารทเดือนสิบ ที่วัดอัมพวัน ต.เกาะเปี๊ยะ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ซึ่งวันนี้ถือเป็นวันสุดท้ายของบุญเดือนสิบ ชาวภาคใต้ จะเรียกว่า “วันส่งตายาย” โดยจะมีขบวนแห่หมรับในวันส่งตายายเข้าวัดอัมพวัน ของชาวบ้านชุมชนบ้านเกาะเปี๊ยะ 3 หมู่บ้าน ได้จัดเป็นหมรับที่มีขนมตามประเพณีสารทเดือนสิบ ได้แก่ ขนมลา ขนมพอง ขนมเบซำ ขนมบ้า ขนมเทียน และขนมทอดมัน ฯลฯ โดยมีชาวบ้านแต่งกายด้วยชุดไทย ร่วมรำกลองยาวนำขบวน และชายฉกรรจ์ได้ช่วยกันหามหมรับ และแห่เข้าวัดอย่างสนุกสนาน ระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร ท่ามกลางความสนในจากผู้มาทำบุญเข้าถ่ายภาพด้วยเป็นจำนวนมาก บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักสนุกสนานตามประเพณีงานบุญชาวปักษ์ใต้ เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน โดยชาวบ้านจะนำขนมเดือนสิบ มาใส่ในหมรับคนละเล็กละน้อย ธูป เทียน หมาก พลู รวมทั้งเงินปัจจัยมาเพื่อถวายให้แก่วัดอัมพวัน โดยประชาชน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงวัย กว่า 1,200 คนร่วมทำบุญส่งตายาย ในวันสารทเดือนสิบ เป็นไปอย่างคึกคัก
โดยมีครอบครัวนางกฤษณา ตันตระสุวรรณ อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 523 ถนนไมตรี แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท พัฒนาศิลป์โฆษณา จำกัด ธุรกิจสื่อโฆษณาเอกชน และนายวิระ แก้วเพ็ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเปียะ ได้ร่วมทำบุญวันสารทเดือนสิบบ้านเกิดที่จังหวัดตรัง ได้จัดทำหมรับ หรือ จาด พร้อมขบวนแห่รำกลองยาว ร่วมสืบสานประเพณี พร้อมแจกเงิน ผู้สูงวัย อายุ 70 ปีขึ้นไป คนละ 200 บาท และ เด็ก อายุไม่เกิน 12 ปี คนละ 100 บาท จำนวน 400 คน พร้อมร่วมทำบุญถมดินให้วัด รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 1 แสนบาท
หลังจากทำพิธีทำบุญและถวายเพลพระสงฆ์เสร็จเรียบร้อย ประชาชนได้ร่วมตั้งตายาย หรือ ตั้งเปรต บริเวณนอกวัด บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก โดยเฉพาะตอน “ชิงเปรต” นางกฤษณา ตันตระสุวรรณ ก็ได้ทำบุญตั้งเปรตด้วย ของคาว หวาน ขนมเดือนสิบ ผลไม้ต่าง ๆ และเงิน จำนวน ประมาณ 4,000 บาท ซึ่งมีทั้ง แบงก์ 500, 100, 50 และ 20 บาท ทำให้เด็กๆ ต่าง เฝ้ารอเวลาในการชิงเปรต อย่างใจจใจจ่อ เมื่อเริ่มนับเริ่มชิงเปรต เด็ก ๆทุกคนต่างรีบชิงกันอย่างเร็ว คนที่แย่งชิงได้ แบงก์ 500 บาทก็ดีใจสุดๆ เมื่อได้ก็รีบเก็บทันที สร้างรอยยิ้และเสียงหัวเราะกันอย่างครึกครื้นอย่างมาก
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง "เมนูลูกปลาปิ้งเครื่อง" จับปลาสดๆจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย
- "ตรังโมเดล" โกโก้สร้างรายได้ให้เกษตรกร กิโลกรัมละ 8 บาท ภาคเกษตร-เอกชนร่วมมือเปิดจุดรับซื้อ 11 แห่ง
- หมดวาระอบจ.ตรัง รุ่งขึ้น “บุ่นเล้ง” เปิดตัวทันควัน ใช้ชื่อ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” แทน “ทีมกิจปวงชน” ชูนโยบาย “รวมพลังที่ยิ่งใหญ่ ขับเคลื่อนตรังให้เป็น 1”
- ตรัง ผู้ตรวจฯกระทรวงพาณิชย์ ลงตรังเยี่ยมแปลงปลูกพริกไทยตรัง-สุราชุมชน ผู้ผลิตต่อยอดสินค้า GI "พริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียน สู่มาตรฐาน EU organic…
นางสกุลพิศ ชูพงษ์ ตัวแทนชาวบ้าน ม.10 ต.เกาะเปี๊ยะ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง บอกว่า วันนี้เป็นวันประเพณีวันสารทเดือนสิบใน 1 ปีเราทำขึ้น 2 ครั้งครั้งแรกคือการรับตายาย ตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 และครั้งที่ 2 ตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ถือเป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวปักษ์ใต้ สืบเนื่องจากลูกหลานได้ปลูกพืชผักและต้องการให้ปู่ย่าตายายได้กิน ซึ่งประเพณีนี้เกิดขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้กล่าวกันว่าพญายมราชได้ปล่อยวิญญาณของปู่ย่าตายายและวิญญาณของบรรพบุรุษมาจำนวน 15 วันและวันนี้ก็ครบ 15 วันเราก็จะมีการส่งตายายในประเพณีวันสารทเดือนสิบก็มีขนมที่สำคัญอยู่ 5 อย่าง อันดับแรกคือ ขนมพอง ซึ่งมีความหมายว่าใช้แทนพาหนะเป็น เรือ แพ เพราะคนในสมัยก่อนจะใช้พาหนะเรือหรือแพในการเดินทาง อันที่ 2 จะเป็นขนมลา จะใช้แทนโสร่งหรือเครื่องนุ่งห่มของคนสมัยก่อน ขนมอันที่ 3 ขนมเทียน ใช้แทนหมอนหนุน ที่สำคัญลูกหลานจะได้เกื้อหนุนความเจริญรุ่งเรืองของลูกหลานสืบเนื่องต่อไป ขนมอันที่ 4 ขนมบ้า ใช้แทนเครื่องละเล่น การละเล่นทอยสะบ้าในสมัยก่อน ขนมอันที่ 5 ขนมรู ขนมเจาะหู หรือขนมเบซำ จะใช้แทนเบี้ยเป็นเบี้ยหอย เบี้ยสลึงเป็นรู สำหรับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และยังใช้เป็นเครื่องประดับเป็นต่างหูหรือกำไล นอกจากนี้ยังมีของที่ใช้ทำกับข้าวเป็นเครื่องครัว มีข้าวสาร เกลือพริก ฯลฯ เพื่อให้ปู่ย่าตายายเรานำไปใช้ในภายภาคหน้าอันนี้เป็นความเชื่อ และยังมีขนมต้ม สื่อถึงความยึดเหนี่ยวความรักใคร่กลมเกลียวของชุมชนในท้องถิ่น โดยชุมชนต้นปริง ตำบลเกาะเปี๊ยะ ก็ได้มีการจัดทำหมรับ หรือภาษากลางเรียกว่าตำรับ หรือ จาด ในภาษาท้องถิ่น จะมีขนมเดือนสิบของแห้ง และเครื่องประดับเป็นดอกไม้ นำไปบูชาพระสงฆ์ โดยจะมีกระบวนของยาวในการแห่หมรับ และหลังจากถวายเพลพระสงฆ์เสร็จแล้ว ก็จะมีการตั้งเปรต และจะมีการชิงเปรต นอกบริเวณวัด เพราะเชื่อว่าเปรต เขาจะทำบาปและเข้าวัดเข้าวาไม่ได้จึงได้นำของไปตั้งไว้ที่บริเวณกำแพงวัดหรือนอกวัดเพื่อให้ได้มากิน ก็เป็นประวัติคร่าวๆประเพณีวันสารทเดือนสิบของชาวปักษ์ใต้
นางจิตวรา พรหมา อายุ 50 ปี ชาวตำบลเกาะเปี๊ยะ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง บอกว่า ประเพณีสารทเดือนสิบของชาวปักษ์ใต้ จะมีการตั้งจาด ซึ่งเป็นการทำบุญ และจะมีการทำบุญด้วยเงินในบางส่วน ในสมัยก่อนเอาเงินไปซื้อถ้วยชามถวายวัด เพราะวัดไม่มี แต่ ณ ตอนนี้ ถ้วยชามเป็นสิ่งที่หาได้ง่าย ทางหมู่บ้านจึงคิดกันว่าให้แสงสว่างดีกว่า โซล่าเซลล์จึงเป็นคำตอบ เพราะเมื่อถวายแล้วจะไม่มีค่าใช้จ่ายกับทางวัดและติดตั้งง่าย ให้แสงสว่างนานเหมือนกันคุ้มค่า แล้ววันนี้ก็จะมีการแห่จาด ที่มีทั้งขนมเดือนสิบ ธูปเทียน พอง ลา และเงิน เพื่อไปร่วมทำบุญวันสารทเดือนสิบที่วัดอัมพวัน
นายวิระ แก้วเพ็ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเปียะ บอกว่า กิจกรรมวันนี้ก็มีการแห่จาด ก็จะมีกลองยาวแห่มาจากบ้านมาสู่วัดอัมพวันแห่งนี้ นอกจากนี้เรามีเด็กและผู้สูงอายุที่อยู่ในพื้นที่ตำบลเกาะเปี๊ยะ จำนวน 400 คน จึงได้มีการแจกเงินให้กับเด็กอายุไม่เกิน 12 ขวบคนละ 100 บาท ส่วนผู้สูงอายุที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปจะแจกให้คนละ 200 บาท โดยวันนี้ได้เตรียมเงินสดไว้เฉพาะให้กับเด็กและผู้สูงอายุประมาณ 70,000 บาท และมีการระดมทุนเพื่อถมดินให้กับวัดอีกจำนวนหนึ่ง
นายสุทธิพงษ์ ว่องวรานนท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอัมพวันวิทยา บอกว่า ได้มาร่วมด้วยช่วยกันประเพณีวันสารทเดือนสิบของวัดอัมพวัน ซึ่งจะเห็นว่ามีประชาชนมาร่วมในวันนี้ประมาณ 1,200 คน ซึ่งได้มาช่วยกันพัฒนาวัดที่ก่อตั้งมาไม่น้อยกว่า 120 ปีแล้ว แม้ว่าที่ผ่านมาอาจไม่ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวันนี้นั้นจะเห็นว่าชาวบ้านได้มาร่วมด้วยช่วยกันในการพัฒนาวัด มีปิ่นโตมา 200 กว่าเถา และชุมชนที่มาร่วมก็ได้มีการแห่จาด มา 3 หมู่บ้านด้วยกัน
คุณตาจำลอง อายุ 73 ปี บอกว่า วันนี้รู้สึกดีใจว่ามีประชาชนมาร่วมเป็นจำนวนมากได้มาร่วมบุญและก็ยังได้รับเงิน 200 บาทก็รู้สึกดีใจมาก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: