X

“ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ” พลังศรัทธาเหนือการท้าทาย

“ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ” พลังศรัทธา-ความเชื่อ ที่อยู่เหนือการท้าทาย

ในยุคสมัยที่สื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทสูง ประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม ที่สืบทอดจากบรรพชน มักถูกผู้คนบางกลุ่มในยุคปัจจุบัน มีมุมมองว่า เป็นเพียง”งมงาย”หรือ”ล้าสมัย”

ซึ่งประเพณี“อุ้มพระดำน้ำ”จ.เพชรบูรณ์ นับเป็น 1 ในพิธีกรรมที่ยืนหยัด อยู่คู่กับศรัทธาของผู้คนมานานเกือบห้าศตวรรษ โดยในปี 2565 กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศยกย่องให้เป็นสมบัติล้ำค่า “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ” นอกจากนี้ยังถูกนับให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่แข็งแกร่งของจังหวัดนี้อีกด้วย

พิธีอุ้มพระดำน้ำไม่เพียงแต่เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และความสามัคคีในชุมชนท้องถิ่น ที่แฝงเป็นภูมิปัญญาอยู่ในพิธีกรรมนี้ โดยเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ณ ท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร ได้สร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าร่วมจากทั่วสารทิศอีกครั้ง

การอัญเชิญ “พระพุทธมหาธรรมราชา” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัด ลงสู่สายน้ำป่าสักตามความเชื่อที่ว่า การประกอบพิธีกรรมอุ้มพระดำน้ำตามโบราณประเพณีที่สำคัญนี้ ไม่เพียงจะนำความสงบสุขและความอุดมสมบูรณ์ มาสู่บ้านเมืองและไพร่ฟ้าประชาชนเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์รวมของศรัทธาและความหวังของชาวเพชรบูรณ์ ที่ยังคงยึดมั่นในวิถีชีวิต ที่ตระหนักถึงการเคารพธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อย่างหนักแน่นมิเสื่อมคลาย

ในการประกอบพิธีกรรมดังกล่าว ยังเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงพลังของชุมชน การอยู่ร่วมกันของชาวพุทธและพราหมณ์ รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เป็นการแสดงออกถึงความเชื่อมั่น และความศรัทธา ที่มีต่อพระพุทธมหาธรรมราชาและพิธีกรรม ที่มีตำนานสืบทอดมาอย่างยาวนาน กลายเป็นภาพที่ถูกเผยแพร่กระจายออกไปทางสื่อต่างๆ

แต่ขณะเดียวกันก็มีเสียงสะท้อนจากเกรียนคีย์บอร์ด ที่มีมุมมองแบบสุดโต่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์พิธีกรรมนี้ โดย ใช้ถ้อยคำที่ด้อยค่า เย้ยหยันหรือลดคุณค่าของพิธีกรรม บางรายพาดพิงถึงพิธีกรรมดังกล่าว ใช้หลักศาสนาใด หรือเป็นการตลาดใช้พระคู่บ้านคู่เมืองบังหน้าหาผลประโยชน์ ขณะที่บางคนใช้วาจาที่จาบจ้วงถึงองค์พระอย่างไม่เหมาะสม รวมถึงมองว่าการทำพิธีกรรมนี้เป็นเรื่องงมงายที่ไม่เหมาะสมในยุคดิจิทัล โดยความเห็นเหล่านี้ถูกแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

การโจมตีเหล่านี้ทำให้ผู้นำชุมชนและชาวเพชรบูรณ์ที่สัมผัสกับพิธีกรรมนี้ ต่างสุดทนเกินกว่าจะยอมรับได้กับคำวิพากษ์ที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล ขาดความเข้าใจและไม่สืบเสาะค้นหาข้อมูลความเป็นมาในประเพณีโบราณนี้ จึงเสมือนเป็นการท้าทายต่อความเชื่อของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งทำให้ชาวเพชรบูรณ์และผู้ที่ศรัทธาในพิธีกรรมนี้ ต้องดาหน้าออกมาตอบโต้และปกป้องประเพณีอุ้มพระดำน้ำอย่างหนักแน่น หลายคนโต้กลับอย่างเผ็ดร้อน ต่อผู้ที่วิจารณ์ที่ไม่เข้าใจในความหมาย และความสำคัญของพิธีกรรมนี้ พร้อมยังชี้แนะให้ไปศึกษาถึงที่มาที่ไป และภูมิหลังของพิธีกรรมสำคัญนี้ก่อนที่จะออกมาวิจารณ์

ในขณะที่ นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ออกมาปกป้องพิธีกรรมอุ้มพระดำน้ำอย่างแข็งขัน โดยได้กล่าวว่า “พิธีอุ้มพระดำน้ำเป็นประเพณีที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตในสังคม ซึ่งจะมองเพียงแค่มิติศาสนาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะคุณค่าและความหมายที่แท้จริงของประเพณีนี้คือ “ภูมิปัญญา” ที่ล้วนเป็นสิ่งดีงามของสังคมที่แฝงไว้ในพิธีกรรม ด้วยข้อคิดสำคัญหลายประการ คือ การร่วมกันดูแลรักษาคุณภาพแม่น้ำและสิ่งแวดล้อม การสร้างขวัญกำลังใจในการทำมาหากินด้วยความหวังผ่านพลังศรัทธา การรวมพลังความสามัคคีของชุมชน และการสร้างสำนึกให้เกรงกลัวและละอายต่อการทำบาป พร้อมทั้งน้อมนำธรรมะเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต”

นอกจากนี้นายวิศัลย์ยังชี้แนะให้ผู้ที่ด้อยค่าประเพณีที่ทรงคุณค่าระดับชาติ นอกจากจะเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ศึกษาอย่างลุ่มลึก เกี่ยวกับประเพณีและความสำคัญของพิธีกรรมโบราณนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชาวเพชรบูรณ์แล้ว ยังไม่มีความเข้าใจหรือหยั่งลึกถึงความหมายลึกซึ้ง ที่บรรพชนชาวเพชรบูรณ์ได้แฝงไว้ในประเพณีนี้อีกด้วย จึงชักชวนให้เปิดใจและลองมาสัมผัสหรือเห็นกับสายตาตัวเองสักครั้งในชีวิต

โดยสรุป แม้ประเพณีอุ้มพระดำน้ำจะถูกท้าทายจากเหล่าเกรียนคีย์บอร์ด แต่ด้วยศรัทธาที่เหนียวแน่นเหนือกาลเวลา ของชาวเพชรบูรณ์และผู้ศรัทธาจากทั่วประเทศ ยังคงยืนหยัดและแสดงออกถึงความเชื่อมั่นที่ไม่สั่นคลอน ซึ่งประเพณีนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่พิธีกรรมทางศาสนา แต่เป็นการสร้างพลังให้กับชุมชน และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ในวันที่ต้องเผชิญกับความท้าทายจากโลกภายนอก ยิ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเท่าไร ศรัทธาของชาวบ้านยิ่งยืนหยัดมากขึ้นเท่านั้น

: สุนทร คงวราคม รายงาน

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน