วันที่ 17 ตุลาคม 67 ที่บริเวณหน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคักของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมารอร่วมประกอบพิธีถวายเครื่องบูชาและรำบูชาพระธาตุพนมสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครพนม เป็นที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระมหากัสสปะสร้างไว้ตามความเชื่อพื้นถิ่น พระธาตุพนมเป็นพระธาตุที่มีเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และในลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง ที่เมื่อถึงเทศกาลสำคัญครั้งใด พุทธศาสนิกชนที่ให้ความเคารพจะเดินทางมาสักการบูชาเป็นประจำ สำหรับประเพณีรำบูชาพระธาตุพนม มีมาตั้งแต่การสร้างพระธาตุพนมยุคแรกๆ แต่ไม่ได้รำติดต่อกันทุกปี กระทั่งปี พ.ศ. 2530 นายอุทัย นาคปรีชา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมในสมัยนั้น ได้ริเริ่มฟื้นฟูการรำบูชาพระธาตุพนมขึ้นมาร่วมกับงานเทศกาลออกพรรษาไหลเรือไฟ และมีการจัดให้มีพิธีรำบูชาพระธาตุพนมที่บริเวณหน้าวัดพระธาตุพนมในช่วงเช้าวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 จากนั้นจึงมีการไหลเรือไฟที่ตัวจังหวัดในภาคกลางคืนของวันเดียวกันเพื่อเป็นพุทธบูชา
โดยมี นางรณิดา เหลืองฐิติสกุลรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม รักษาราชการแทนผู้ว่าราชจังหวัดนครพนม คณะหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน พ่อค้า ประชาชน ตลอดจนคณะฟ้อนรำจากทุกอำเภอของจังหวัดนครพนม และนักท่องเที่ยว ร่วมกันแห่เครื่องสักการบูชามายังบริเวณประตูโขงหน้าวัดพระธาตุพนม
จากนั้นทุกคนร่วมกันประกอบพิธีทางศาสนา ประธานนำจุดธูปเทียน กล่าวถวายเครื่องสักการบูชาและกล่าวไหว้พระธาตุ เมื่อเสร็จพิธีคณะนางรำก็เริ่มรำบูชา
โดยเริ่มจากการรำตำนานพระธาตุพนม เป็นการเล่าถึงประวัติความเป็นมา แรงศรัทธาและความเชื่อเกี่ยวกับองค์พระธาตุพนม นำเอาบทสวดสดุดีองค์พระธาตุพนมมาผสมผสานกับทำนองสรภัญญะและดนตรีมโหรี จากนั้นเป็นการฟ้อนศรีโคตรบูรณ์ เพื่อระลึกถึงความเจริญทางด้านศิลปะวัฒนธรรมของอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ เป็นการผสมผสานระหว่างรำเซิ้งอีสานที่มีความสนุกสนามกับการฟ้อนรำผู้ไทยที่มีเอกลักษณ์ท่ารำ ยกสูง ก้มต่ำ รำกว้าง
ข่าวน่าสนใจ:
- หน่วยงานความมั่นคง สนธิกำลัง บุกตรวจ จู่โจม ค้นเรือนจำจังหวัดนครพนม
- สืบสวนบางพลีโชว์ผลงานตามรวบอดีตช่างกุญแจผันตัวเป็นโจรใช้ความรู้ที่มีทำกุญแจรีโมทขโมย จยย.หรู
- มหกรรมสุดยิ่งใหญ่ส่งท้ายปี จ.ขอนแก่น งานเทศกาล “ปลาร้า หมอลำ ISAN to the World‘24” วันที่ 26-29 ธ.ค. 67 ณ ลานศรีจันทร์ อาคารขอนแก่น…
- ฮัมดี โตะมะ มอบตัวแล้ว บอกเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น
ต่อมาคือรำผู้ไท เรณูนครที่ได้มีการพัฒนาและดัดแปลงมาจากศิลปะการรำที่แสดงในงานเทศกาลที่สำคัญต่างๆ คือการรำขอฝนจากพญาแถนให้ตกถูกต้องตามฤดูกาล การรำสมโภชงานบุญมหาชาติ ซึ่งจะมีความสนุกสนาน ร่าเริง เป็นการหยอกล้อของหนุ่มสาวที่มีการแต่งกายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตามมาด้วยรำหางนกยูง ที่มีการดัดแปลงท่ารำมาจากการรำไหว้ครูของนักรบสมัยก่อน แต่ให้มีความอ่อนช้อยงดงามเหมือนท่านกยูงรำแพน
จากนั้นเป็นการรำขันหมากเบ็ง ซึ่งเป็นการรำถวายเครื่องบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยขันหมากเบ็งเป็นเครื่องบูชาชนิดหนึ่งของชาวอีสาน ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาจากใบตอง มีลักษณะเป็นพานพุ่ม ประกอบไปด้วยเครื่องบูชา 5 อย่าง อย่างละ 5 คู่ ได้แก่ หมาก พลู ธูป เทียน ข้าวตอก และดอกไม้ และในขั้นตอนสุดท้ายทุกคนร่วมกันรำในชุดรำเซิ้งอีสานบ้านเฮา ซึ่งในการรำชุดนี้ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาร่วมพิธีสามารถเข้ามาร่วมรำถวายเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองได้ด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: