X

ตรัง ชาวบ้านรวมพลังศรัทธา ทำข้าวเหนียวต้ม-ข้าวต้มลูกโยน รับบุญใหญ่วันออกพรรษา-ลากพระจังหวัดตรัง แม้ต้นทุนกะทิราคาสูงก็ไม่หวั่น ถือเป็นงานบุญใหญ่มีปีละครั้ง

ตรัง ชาวบ้านทุกเพศ ทุกวัย รวมพลังศรัทธา ช่วยกันทำ “ข้าวเหนียวต้ม” หรือ “ข้าวต้มลูกโยน” ขนมแห่งศรัทธาของชาวปักษ์ใต้ เชื่อเป็นขนมที่ใช้ถวายแด่พระพุทธเจ้า ร่วมบุญ งานประเพณีลากพระ แม้ปีนี้กะทิแพงกิโลละ 100 บาท แต่ชาวบ้านก็ไม่หวั่น เพราะเป็นงานบุญใหญ่

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศที่วัดควนธานี ต.ควนธานี อ.กันตัง จ.ตรัง พบว่าชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งหญิงชายราว 50 คน ได้ร่วมกันทำ “ข้าวเหนียวต้ม” หรือแทงต้ม (ภาษาใต้) หรือ “ข้าวต้มลูกโยน” เพื่อใช้ในวันออกพรรษา และงานประเพณีลากพระที่จะมาถึงในวันที่ 18 ตุลาคม นี้ โดยแบ่งหน้าที่กัน หากเป็นผู้สูงอายุหน่อยก็จะนั่งสอนลูกหลานให้หัดห่อใบกะพ้อ บ้างก็แบ่งกันนำข้าวเหนียวใส่ลงไปในใบกะพ้อ บางคนก็ไปช่วยผัดข้าวเหนียว บ้างก็นั่งตัดใบกะพ้อ บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก อิ่มบุญ เพราะตั้งใจทำด้วยความศรัทธา “ข้าวเหนียวต้ม” เป็นอีกหนึ่งขนมสำคัญด้วยแรงแห่งศรัทธา ที่พี่น้องชาวภาคใต้แต่ละครัวเรือนนิยมทำกันเพื่อใส่บาตรในวันออกพรรษา อีกทั้งทำตามความเชื่อที่ว่าเป็นการทำถวายแด่พระพุทธเจ้า คราวที่พระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และชาวบ้านทางใต้นิยมนำไปวางในเรือพระ ในประเพณีแข่งโพนชักพระ ช่วงเดือน 11 ของทางภาคใต้ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม โดย “ข้าวเหนียวต้ม” เป็นขนมที่ทำจากข้าวสารเหนียว เอามาผัดกับหัวกะทิ น้ำตาล และเกลือ หรืออาจจะใส่ถั่วดำเพื่อเพิ่มรสชาติให้ขนมนั้นอร่อยน่ากินมากขึ้น โดยนำมาห่อกับใบกะพ้อให้เป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วนำไปนึ่งด้วยซึ้งหรือต้ม

ทั้งนี้ จะมีการอาราธนาพระพุทธรูป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปปางเสด็จจากดาวดึงส์ หรือปางอุ้มบาตร ขึ้นมาประดิษฐานบนบุษบก หรือเรือพระ ที่แต่ละวัดจะหาช่างฝีมือที่มีความชำนาญ ช่วยกันตกแต่งเรือพระให้สวยงาม เพื่อนำเข้าร่วมประกวดแข่งขัน นอกจากนั้น พุทธบริษัทในละแวกวัดจะช่วยกันทั้งกำลังกาย และกำลังทรัพย์ โดยบางวัดอาจใช้เวลาตกแต่งนานเป็นแรมเดือน และใช้งบประมาณนับหมื่นนับแสนบาทเลยทีเดียว

ปัจจุบันได้มีการดัดแปลงจากเรือ มาเป็นรถหรือล้อเลื่อน เพื่อความสะดวกในการชักลากมาตามถนนหนทาง แล้วนิมนต์พระภิกษุในวัดนั้น ๆ ขึ้นนั่งประจำเรือพระ จากนั้นจะมีการลากพระเดินทางไปตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้ชาวพุทธได้ออกมาร่วมกันทำบุญ และถวายข้าวเหนียวต้ม โดยจะมีพุทธศาสนิกชน และศิษย์วัดเดินตามมาด้วย พร้อมกับบรรเลงเครื่องดนตรีประโคมไปตลอดทาง มีทั้งทับโพน กลอง ฆ้อง โหม่ง ฉิ่ง และฉาบ พร้อมด้วยนางรำหน้าขบวน ในขณะที่บนเรือพระหรือในขบวนเรือพระจะนำข้าวเหนียมต้มๆไปด้วย เพื่อมอบให้กับผู้คนที่ร่วมทำบุญกับเรือพระของแต่ละวัด

คุณป้าจำรัส อายุ 76 ปี ชาวบ้านตำบลควนธานี บอกว่า วัตถุดิบหลักมีกะทิ และ ข้าวเหนียว โดยจะใช้อัตราส่วน 1:1 ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 1 กิโลกรัม ต่อ หัวกะทิ 1 กิโลกรัม และปรุงรสด้วยเกลือ น้ำตาลทราย ซึ่งวันนี้ทำข้าวเหนียวทั้งสิ้น 60 กิโลกรัม ตนทำข้าวต้มลูกโยนหรือข้าวเหนียวต้มมาตั้งแต่สมัยสาว ๆ ควบคู่กับการขายกาแฟโบราณ และขนมอื่นๆควบคู่กัน ตอนที่ร่างกายยังแข็งแรงจะขูดมะพร้าวและคั้นกะทิด้วยตัวเอง แต่เดี่ยวนี้ตนไม่ได้ทำขนมขายแล้ว แต่พอถึงประเพณีลากพระก็จะออกมาทำข้าวต้มลูกโยนหรือข้าวเหนียวต้มกับชาวบ้านในชุมชน ถือว่าได้บุญด้วย วันลากพระก็ไม่พลาดที่ต้องออกไปร่วมขบวนด้วย ตนเป็นคนชอบสนุกสนาน ชอบเช้าสังคม การลากพระได้ร้องรำตลอดเส้นทางลากพระ

นายจักกฤษณ์ หลักดี กำนันตำบลควนธานี บอกว่า ประเพณีลากพระถือเป็นงานที่ทุกคนในหมู่บ้านในตำบลมาร่วมมือกัน วัตถุดิบที่ใช้ทำข้าวต้มลูกโยน เช่น ใบกะพ้อ ข้าวเหนียว กะทิ ชาวบ้านก็ช่วยกันหามาคนละ 1-2 อย่าง หรือไม่ก็ลงขันกันซื้อคนละเล็กคนละน้อย ปีนี้เตรียมวัตถุดิบไว้เยอะเพราะต้องการทำข้าวเหนียวต้ม หรือข้าวต้มลูกโยนให้ได้สัก 5,000 ลูก เพราะเมื่อลากเรือพระผ่านไปตรงไหนก็มีพี่น้องประชาชนรอทำบุญและรับข้าวต้มลูกโยนตลอดสองข้างทาง ปีที่แล้วทำไป 3,000 ลูก ปรากฎว่าแจกจ่ายไม่พอแป๊บเดียวก็หมด ส่วนคนที่มาทำข้าวต้นลูกโยนต่างก็มาช่วยกันด้วยใจ และเป็นแบบนี้ทุกปี แม้ว่าปีนี้กะทิจะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 100 บาท แต่เราก็ยังทำเพราะเป็นส่วนหนึ่งของประเพณี และถือเป็นการทำบุญใหญ่ อีกทั้งเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมความสามัคคีกันในหมู่บ้าน

ในขณะที่ชาวบ้านตำบลท่าพญา อ.ปะเหลียน จ.ตรัง กำลังเร่งตกแต่งเรือพระเช่นกัน เพื่อให้เสร็จทันคืนนี้ที่จะมีการสมโภชเรือพระก่อนพรุ่งนี้ที่จะลากพระมายังลานเรือพระสนามกีฬาทุ่งแจ้งระยะทางกว่า 30 กิโลเมตร

นายอัครพล คงจร คณะตกแต่งเรือพระวัดท่าพญา บอกว่า การตกแต่งเรือพระปีนี้รูปแบบด้านหน้าเราจะทำใหม่หมด เพิ่มเติมยกระดับความสูงขึ้นและเลื่อนด้านหน้าออกมานิดนึง ไม่มีราหูเพิ่มเติมขึ้นมา ซึ่งข้างบนเมื่อก่อนจะเป็นรูปเทวดาแต่ช่วงหลังเราจะเพิ่มม้ากับเจ้าชายสิทธัตถะเข้าไป ที่เป็นประวัติเจ้าชายสิทธัตถะหนีออกบวช ตัวฐานพระและด้านหน้าทุกอย่างจะออกแบบไม่เหมือนเดิม ซึ่งการตกแต่งเรือพระใช้เวลาในการทำถึง 6 เดือน

ทั้งนี้ขอเชิญชวนชาวบ้านเที่ยวงานประเพณีลากพระจังหวัดตรัง 2567 รับความสุขและรับบุญกันทุกคน สำหรับเรือพระวัดท่าพญาจะอยู่ล็อคที่ 9

ส่วนบรรยากาศที่วัดนิคมประทีป (วัดโคกหล่อ) อำเภอเมือง จังหวัดตรัง กำลังเร่งเก็บรายละเอียดตกแต่งเรือพระ โดยไฮไลท์ของวัดโคกหล่อปีนี้ มีหอนาฬิกาตรังอยู่บนเรือพระด้วย พร้อมกับมีรูปปั้นช้างหน้าเขาพระสุเมรุ และธรรมจักรที่สามารถหมุนได้ ซึ่งคาดว่าปีนี้เรือพระทุก ๆ วัดมีความงดงามอลังการตระการตา ไม่แพ้ปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน