นิเทศ จุฬาฯ ร่วมกับสมาคมนักข่าวฯ เปิดตัวคู่มือหลักสูตรนโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ หวังช่วยยุติการคุกคามทางเพศ สร้างความปลอดภัยในการทำงานให้นักข่าว
กรุงเทพฯ – (23 ต,ค. 2567) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานเสวนา “ยุติการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ :เปิดตัวคู่มือหลักสูตรนโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ ภายใต้การสนับสนุนของ UNESCO และ IPDC ณ Nitade X Space ห้องสมุดคณะนิเทศศาสตร์ ชั้น 5 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีผู้สื่อข่าวจาก 17 องค์กรร่วมการเสวนา และวิทยากรหลักจากภาคประชาสังคม นักวิชาการ และตัวแทนสื่อมวลชน เข้าร่วม ได้แก่ นัยนา สุภาพึ่ง มูลนิธิสิทธิเพื่อความเป็นธรรมทางเพศ จิตติมา ภาณุเตชะ สมาคมเพศวิถีศึกษา ดร.ชเนตตี ทินนาม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ดร. โกสุม โอมพรนุวัฒน์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อุษา มีซารี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ภัทรสุดา บุญญศรี The Standard และ ขวัญแก้ว ดงน้อย ThaiPBS
จากกรณีองค์กรสื่อในประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการคุกคามทางเพศมาโดยตลอด เพียงแต่ไม่ถูกรายงานในที่สาธารณะ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดตัวคู่มือหลักสูตรนโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ เสนอแนวทางหวังช่วยยุติการคุกคามทางเพศ สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศ เริ่มจากการกำหนดนโยบายการป้องกันการคุกคามทางเพศที่ชัดเจน ครอบคลุมทุกรูปแบบของการคุกคามทางเพศ พร้อมกำหนดมาตรการลงโทษทางวินัยที่เป็นรูปธรรม
ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า งานศึกษาส่วนใหญ่ทั่วโลกสรุปตรงกันว่าการคุกคามทางเพศเป็นภัยเงียบที่ผู้เสียหายหรือผู้เห็นเหตุการณ์เลือกที่จะนิ่งเฉย เพราะผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับอำนาจและการทำงานในองค์กรทำให้เหยื่อจำนวนมากต้องเงียบเสียงลง ขณะที่องค์กรมักกังวลกับภาพลักษณ์และมองประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องส่วนตัว จึงทำให้สาธารณะไม่มีโอกาสได้รับรู้ถึงปัญหา จนกลายเป็นมายาคติในสังคมว่าไม่มีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นในองค์กร สำหรับองค์กรสื่อในประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการคุกคามทางเพศมาโดยตลอด เพียงแต่ไม่ถูกรายงานในที่สาธารณะ มีเพียงไม่กี่กรณีที่กลายเป็นข่าวครึกโครม แม้ว่าโดยบทบาทและความรับผิดชอบของสื่อมีพันธกิจในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ผู้ปฏิบัติงานสื่อถูกคุกคามทางเพศเสียเองเรื่องเหล่านี้กลับถูกมองข้าม การมีคู่มือหลักสูตรนโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกัน โดยคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ จับมือกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกันผลักดันให้เกิดนโยบายและกลไกการป้องกันขึ้นได้จริง
ทางด้าน ดร.โกสุม โอมพรนุวัฒน์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโทสตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าสิ่งที่องค์กรสื่อต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศมี 5 ประการสำคัญ เริ่มจากการกำหนดนโยบายการป้องกันการคุกคามทางเพศที่ชัดเจนและเข้มงวด โดยต้องครอบคลุมทุกรูปแบบของการคุกคาม พร้อมกำหนดมาตรการลงโทษทางวินัยที่เป็นรูปธรรม จากนั้นต้องจัดตั้งช่องทางการร้องเรียนที่ปลอดภัยและเป็นความลับ พร้อมระบบสืบสวนที่เป็นธรรมและมีมาตรการคุ้มครองผู้เสียหาย เช่น การให้คำปรึกษาและการย้ายแผนกเมื่อจำเป็น องค์กรยังควรส่งเสริมการอบรมเรื่องการคุกคามทางเพศให้กับพนักงานทุกระดับอย่างต่อเนื่อง และปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานให้ปลอดภัย เช่น การจัดพื้นที่ที่มองเห็นได้ชัดเจนและมีการคมนาคมปลอดภัยสำหรับพนักงานที่ต้องทำงานดึก ทั้งหมดนี้จะช่วยป้องกันและลดปัญหาการคุกคาม
การจัดเสวนาในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และ IPDC (SWEDEN) ภายใต้ความร่วมมือกับ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
#นิเทศศาสตร์ #สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย #TJA #UNESCO #เปิดตัวหนังสือ #ยุติการคุกคามทางเพศ #นโยบาย #กลไกป้องกัน #สื่อมวลชน #นักข่าว #องค์กรสื่อ #นิเทศจุฬาฯ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: