ตรัง ไม่รอราชการ ชาวตรังตบเท้าขึ้นกทม. จี้แก้ปัญหาตั๋วบินแพง-ทิ้งงานอาคารผู้โดยสาร 1.2 พันล้านสนามบินตรัง สปช.ตรัง ทนไม่ไหว! ยื่น “นายกอิ๊ง-รมช.คมนาคม” จี้เลิกสัญญาทันทีหลังทิ้งงานชัด บี้สอบตรวจรับ 58งวดงานโปร่งใสหรือไม่ “มนพร” เด้งรับเรียกอธิบดีกรมท่าฯประชุมด่วนวันนี้ ด้านนักธุรกิจดังบุกคุยนกแอร์เสนอขายแบบแพ็กเกจแถมน้ำหนัก ราคาไม่เกิน 2พัน/เที่ยว แย้มข่าวดีโปรโมชั่นปลายปี
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ว่า จากกรณีที่เครือข่ายชมรมเสียงประชาชนจังหวัดตรัง(สปช.ตรัง) ได้เดินทางไปยังสำนักงานท่าอากาศยานนานาชาติตรัง เพื่อติดตามสอบถามความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานนานาชาติตรังหลังใหม่ มูลค่าโครงการกว่า 1,200 ล้านบาท พร้อมเร่งรัดให้เร่งก่อสร้างให้แล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา ภายหลังสปช.ตรังได้ติดตามและห่วงใยต่อความล่าช้าที่ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจของจังหวัดตรังเป็นอย่างมาก หลังเกิดปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงานในงวดสุดท้ายทั้งที่ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมส่งงวดงานและเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 98% แต่กลับมีการทิ้งงานในงวดสุดท้าย (จากทั้งหมด 58 งวดงาน) จนผ่านกำหนดเวลาส่งมอบงานตามสัญญาจ้างมานานกว่า 6 เดือนแล้ว ทำให้อาคารผู้โดยสารมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ฝนตกหลังคารั่วลงมาทำให้ฝ้าเพดานพัง สายไฟห้อยระโยงระยางค์ น้ำเจิ่งนองพื้นอาคาร นอกจากนี้งานปรับภูมิทัศน์ภายในอาคาร งานจัดสวน ปลูกต้นไม้ตกแต่ง พบว่าต้นไม้ต่างๆ มีสภาพแห้งเหี่ยวตายทั้งหมด ทำให้หลายหน่วยงานต่างเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งปัญหาทิ้งงานทิ้งร้างที่เกิดขึ้น ได้ส่งกระทบต่อประชาชนที่ต้องซื้อตั๋วเครื่องบินแพงกว่าจังหวัดอื่น เนื่องจากเที่ยวยินน้อย การแข่งขันน้อย เพราะอาคารใหม่ไม่แล้วเสร็จให้ใช้งาน
ล่าสุด ทำให้หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทบทวนการคิดคำนวณอัตราค่าโดยสารใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้บริการ โดยจ.ตรังขณะนี้มีสายการบินทั้งหมด 3 สายการบิน คือ ไลอ้อนแอร์ แอร์เอเชีย และนกแอร์ รวมจำนวนเที่ยวบินไป-กลับวันละ 8 เที่ยวต่อวันเท่านั้น
โดยนายประพล วิระพรสวรรค์ นักธุรกิจเจ้าของรีสอร์ตชื่อดังจังหวัดตรัง ซึ่งเดินทางโดยเครื่องบินบ่อยครั้ง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาตนซื้อตั๋วเครื่องบินครั้งละ 3,000-4,000 บาทมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งปัญหาตั๋วเครื่องบินราคาแพงนั้นเป็นปัญหาของเมืองรองทุกจังหวัด รวมทั้งจังหวัดตรัง โดยจังหวัดตรังได้ชื่อว่าติดอันดับ 1 ใน 5 เมืองไร้ฝุ่นของเอเชีย และเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อว่ามีชายหาดที่สวยที่สุดในโลก 2 ปีซ้อน ดังนั้น หากตั๋วเครื่องบินไปเมืองรองต่างๆ ราคาแพง นักท่องเที่ยวก็จะหนีหายไปเที่ยวเมืองใหญ่หมด ทำให้เมืองรองเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว และไม่ตอบรับนโยบายรัฐบาลที่จะยกระดับการท่องเที่ยวเมืองรอง
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง เปิดฉากแล้ว “นครตรังเกมส์ ครั้งที่ 39”การแข่งขันกีฬานักเรียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่ง รอบคัดเลือกภาคใต้…
- ตรัง-ผู้ว่าตรัง เต้น ทำหนังสือด่วนถึงอธิบดีกรมท่าอากาศยาน หาทางออกค่าตั๋วเครื่องบินตรังแพง อึ้ง อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ 1.2 พันล้าน…
- ประธานสปช.ตรัง เกาะหนึบปัญหาทิ้งงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่สนามบินตรัง 1.2 พันล้าน บุกร้อง รมช.คมนาคมวันนี้
นานประพล กล่าวต่อว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ตนได้เดินทางขึ้นกรุงเทพฯ เพื่อเข้าพบกับผู้บริหารของสายการบินต่างๆที่บินมาที่สนามบินตรังโดยได้เข้าพบกับตัวแทนของสายการบินนกแอร์ 1ใน 3 สายการบิน และเป็นสายการบินแรกที่ทำการบินมาจ.ตรัง โดยได้นำเสนอปัญหาตั๋วราคาแพง พร้อมข้อเสนอแนะขอให้ทบทวนอัตราค่าโดยสารใหม่ ให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนผู้ใช้บริการ ทั้งภาคธุรกิจ และประชาชน โดยเฉพาะการไม่กระทบการท่องเที่ยว โดยราคาที่สมเหตุสมผล สำหรับการเดินทางระหว่าง จ.ตรังกับกรุงเทพฯ ราคาควรจะอยู่ที่เที่ยวละ 1,500 -2,000 บาท พร้อมกับขอให้ทางสายการบินทำราคาตั๋วแบบบุฟเฟต์ ราคาเดียว เลื่อนวันเดินทางได้ มีน้ำหนักเพิ่ม โดยต้องเป็นราคาที่สมเหตุสมผล ขณะที่ภาครัฐ ภาคการเมือง ก็ควรจะเข้ามาดูแลแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วย
นายประพล กล่าวว่า ขณะที่ตัวแทนสายการบิน บอกว่า ราคาตั๋วเครื่องบินทุกสายการบิน มีวิธีคิดตามมาตรฐานเป็นขั้นๆ ตามกฎที่ถูกควบคุมที่ออกแบบให้เป็นธรรมทุกฝ่ายอยู่แล้ว ที่ผ่านมาทางสายการบินมีการจัดโปรโมชั่นตั๋วราคาถูก แต่คนอาจจะทราบน้อย ส่วนข้อเสนอให้ทบทวนราคาตั๋วใหม่ และการทำราคาตั๋วแบบบุฟเฟ่ต์นั้น ทางบริษัทยินดีนำไปปรึกษาหารือเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้ โดยจะให้คำตอบภายใน 2 สัปดาห์ และภายในเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมนี้ อาจจะมีโปรชั่นราคาตั๋วออกมา เพื่อส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวเมืองรองต่อไป
ด้าน นายรัตน์ ภู่กลาง ประธานเครือข่ายชมรมเสียงประชาชน จังหวัดตรัง(สปช.ตรัง) เปิดเผยว่า วานนี้(30ต.ค.67) ตน พร้อมด้วย นายจิรศักดิ์ ควนจันทร์ แกนนำสปช.ตรัง. และนายโยธิน ตุลยกุล ที่ปรึกษาด้านกฎหมายเครือข่ายสปช.ตรัง ได้เดินทางไปยังกรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือถึงนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่าน ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล จากนั้นเดินทางต่อไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อยืนหนังสือถึงนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ในฐานะกำกับดูแลกรมท่าอากาศยาน โดยนางมนพรได้รับเรื่องและได้มอบหมายให้เลขานุการรมช.คมนาคม และเจ้าหน้าที่สำนักงานรัฐมนตรี รับเรื่องติดตามกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องการทิ้งงานก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ และเรื่องปัญหาตั๋วเครื่องบินแพงตามที่ภาคประชาชนเดินทางมาร้องถึงกระทรวงคมนาคม โดยตนได้รับการประสานจากเลขาฯรัฐมนตรีว่า รมช.คมนาคมจะมีการเรียกอธิบดีกรมท่าอากาศยานมาประชุมเพื่อหาทางออกทั้ง 2 ปัญญาให้วันนี้ (31ต.ค.)
นายรัตน์ กล่าวว่า ทั้งนี้หนังสือร้องเรียน เรียกร้องสรุป 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ให้กรมท่าอากาศยานยกเลิกสัญญา ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่สนามบินตรัง วงเงิน 1.2 พันล้านบาท ทันที ภายหลังผู้รับเหมาทิ้งงานชัดเจน 2.ให้กระทรวงคมนาคมตรวจสอบสอบสวนการตรวจรับงานทั้ง 58 งวดงาน ว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อยโปร่งใสหรือไม่ และ3.เร่งดำเนินการก่อสร้างต่อให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นจากความคับแคบของสนามบินทำให้จังหวัดตรังมีตัวเลือกสายการบินน้อยส่งผลให้ตั๋วเครื่องบินราคาแพง
นายรัตน์ กล่าวว่า จากการเดินทางเข้ายื่นหนังสือ ทำให้ทราบว่าที่ผ่านมารมช.คมนาคม ในฐานะกำกับดูแลกรมท่าอากาศยาน แม่จะเพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ติดตามการดำเนินการของท่าอากาศยานต่างๆทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด รวมทั้งปัญหาอุปสรรคต่างๆในการดำเนินการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ โดยล่าสุดนางมนพรได้เดินทางไปตรวจความเรียบร้อยตลอดจนกำชับการดำเนินการที่ ท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดกระบี่ ที่มีการเปิดส่วนขยายใหม่เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวมากขึ้น โดยในส่วนของจังหวัดตรังนั้น จะสั่งการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและเร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: