ราชบุรี ในวันนี้( 7 พ.ย. 67 ) จะพาไปดูเตาเผาอิฐที่ดูแปลกตาอาจดูคล้ายสถูปเจดีย์โบราณ คล้ายโบราณสถานที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีปล่องสูงขึ้นไปถูกก่อสร้างด้วยอิฐแบบโบราณเผยให้เห็นร่องรอยที่ผุกร่อนไปตามกาลเวลามีกลิ่นไอของศิลปะที่น่าอนุรักษ์ไว้ เป็นไอเดียก่อสร้างเตาเผาอิฐแดง หรืออิฐมอญ ของนางสาวปุญณสา ประชุมศรี อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 154 หมู่ 5 ต.บางโตนด อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งได้ยึดอาชีพการเผาอิฐขายต่อจากรุ่นพ่อมานานกว่า 40 ปี แล้ว หลังจากที่บ้านมีพื้นที่ดินอยู่กว่า 40 ไร่ แบ่งปลูกพืชผัก ผลไม้ มะพร้าวน้ำหอม สร้างเป็นบ้านพักส่วนหนึ่ง อีกส่วนนำมาสร้างเตาเผาอิฐโบราณ โดยไปว่าจ้างช่างมาจาก จ.พระนครศรีอยุธยา มาสร้างเป็นทรงลักษณะคล้ายทรงสถูปเจดีย์ ใช้อิฐซึ่งทำจากดินเป็นวัตถุสำคัญในการทำเตา เผาอิฐขายเป็นอาชีพ ด้วยคุณลักษณะของดินที่จังหวัดราชบุรี จะมีคุณสมบัติเป็นดินเหนียวร่วนปนทรายเล็กน้อยจะแตกต่างที่ดินที่อื่น เหมาะแก่การนำมาทำอิฐแดงที่มีความคงทน นำไปก่อสร้างอาคาร ทำให้อากาศไม่ร้อน แต่ด้วยระยะเวลาที่ได้ทำอาชีพนี้มานาน ดินจากบ้านของตนเองเริ่มจะเหลือน้อยแล้วจากที่ขุดยกร่องทำสวนมะพร้าว และขุดสระเลี้ยงปลา จึงได้ไปซื้อดินจากที่อื่นมาผสม สมัยก่อนเคยซื้อมาเป็นคันรถ 6 ล้อ คันละ 600 บาท มาตอนนี้ดินปรับราคาแพงคันละ 1,500 – 1,800 บาท ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบในการทำอิฐมีราคาเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ไม่สามารถปรับราคาเพิ่มตามได้
โดย นางสาวปุญณสา ประชุมศรี เจ้าของโรงอิฐ กล่าวว่า สมัยก่อนก่อสร้างเป็นเตาแกลบ แต่มีปัญหาเรื่องขาดแกลบนำมาใช้ ส่วนอิฐจะต้องทำต่อเนื่อง ทำให้ต้องแก้ปัญหาใช้เตาเผาทรงนี้ขึ้น ใช้ไม้ฟืนในการเผาจะมีใช้ตลอด ที่บ้านยังปลูกมะพร้าวจึงนำทางมะพร้าวมาใช้เป็นฟืน เตาเผาเรียกทรงโดม บางคนเรียกทรงสถูป ทรงเจดีย์ เหมือนทรงของโบราณสถานแถวอยุธยา แต่ละเตาใช้งานผ่านมาประมาณ 20 ปีแล้ว สามารถบรรจุอิฐเผาได้ประมาณ 80,000 – 100,000 ก้อนต่อครั้ง ใช้เตานี้มาประมาณกว่า 20 ปี แต่ถ้าทำอิฐเตาแบบดั้งเดิมประมาณ 40 กว่าปีแล้ว
ตอนนี้มีปัญหาเรื่องราคาดินแพงขึ้น หลังจากเคยซื้อที่ดินสมัยก่อนไร่ ละ 100,000 บาท แต่มาตอนนี้ไร่ละ 400,000 – 500,000 บาท ขณะที่ราคาอิฐขึ้นราคาไม่ได้ เพราะมีคู่แข่งการตลาดเยอะ มีทั้งอิฐมวลเบา แผ่นสำเร็จ ทำให้ราคาอิฐแดงขึ้นราคาลำบาก จึงทำให้เป็นปัญหา ถ้าจะทำอาชีพนี้ต่อก็จะต้องไปหาซื้อที่มาเพิ่ม ถ้าดินที่บ้านหมดก็คงจะเลิกกิจการ น่าจะอีกปี หรือ 2 ปี อนาคตคิดว่าจะเก็บเตาไว้เป็นที่ระลึก และจะเปลี่ยนมาทำเป็นโรงเพาะเห็ดแทน เพราะข้างในจะมีอุณหภูมิเย็นดีมาก
สำหรับขั้นตอนการทำอิฐเริ่มจากนำดินมาหมักทิ้งไว้ประมาณ 1-2 คืน เพื่อให้เนื้อมีความเนียน เสร็จแล้วเอามาเข้าเครื่องโม่รีดออกมาเป็นก้อน จากนั้นให้นำไปผึ่งลม พอเริ่มแข็งตัวนำไปตั้งรอจนกว่าจะแห้ง ถึงจะเอาเข้าเตาเผา ถ้านำไปผึ่งแดดใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ ถ้าในร่มจะใช้เวลานานประมาณ 15 วันขึ้นไป ส่วนดินในการทำอิฐจะมีคุณลักษณะพิเศษคือ จะต้องมีความเหนียว ปนทรายออกร่วนเล็กน้อย แต่หากเป็นดินจากพื้นที่อื่นจะมีเม็ดกรวด หอย ปะปนมาด้วย เมื่อนำมาเผาจะทำให้ระเบิดออกส่วนที่มีการปะปนของหอยในเนื้อดินเผา ซึ่งดินสามารถใช้ได้เพียงแค่บางแหล่งเท่านั้น ส่วนการเผาใช้เวลาประมาณ 3 วัน 3 คืน ใช้ไม้ฟืนในการเป็นเชื้อเพลิง เริ่มจากค่อย ๆ อุ่นไล่น้ำออกให้หมด ค่อย ๆ ปรับอุณหภูมิขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึง 700 องศา และคงอุณหภูมินี้ไว้ประมาณ 1 คืน หลังจากนั้นให้ปิดเตาและรอให้เย็นแล้วค่อยนำอิฐออกส่งจำหน่ายตามร้านค้าวัสดุก่อสร้างต่างๆ โดยราคาส่งหน้าร้านขายก้อนละ 1 บาท ส่วนที่ร้านค้าต่างๆที่รับไปจะบวกเพิ่มราคาจะแตกต่างกันเล็กน้อยไม่เท่ากัน
สำหรับใครสนใจจะไปชมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ นางสาวปุญณสา ประชุมศรี เจ้าของโรงอิฐ เบอร์โทร 092 – 7283053
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: