ตรัง อาจต้องปิดท่าเรือ! สปช.ตรัง ยื่น รมว.คมนาคม จี้ซ่อมด่วนท่าเรือปากเมง ประตูสู่อันดามัน หลังกระเบื้องหลังคาร่วงระนาว โป๊ะจอดเรือพังยับ ซ่อมช้าอุบัติเหตุนทท.ถึงตาย เจอของจริงรังแตนแอบโคมไฟเพียบรุมต่อย เจ้าท่าตรังวอนทุกฝ่ายหันหน้าร่วมหาทางออก อาจลงขันซ่อมด่วนไปก่อนให้ปลอดภัย ไม่นั้นงัดกม.ปิดท่าเรือ สะเทือนศก.จังหวัดแน่ แจงส่งมอบอาคารท่าเรือให้ธนารักษ์แล้วเพื่อขึ้นทะเบียนทรัพย์หลวง ผงะ 3 ปี อุทยานฯเจ้าไหมขอใช้พื้นที่ไม่แล้วเสร็จ ส่งเอกสารคำขอไม่ครบ แต่เข้าไปใช้งานจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแล้ว
.
ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดตรังรายงานจากท่าเรือปากเมง ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ว่า ปัจจุบันท่าเรือปากเมงเป็นท่าเรือสำคัญของจังหวัดตรัง ประตูสู่อันดามัน รองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และยังเป็นจุดเช็คอินที่บรรดานักท่องเที่ยวเมื่อมาเยือนจังหวัดตรังก็จะต้องมาเช็คอินถ่ายรูป เพราะมีวิวทะเลและภูเขา ที่สวยงามและอากาศบริสุทธิ์ แต่ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้รับร้องเรียนจากทั้งนักท่องเที่ยว ชาวบ้านในพื้นที่ ผู้ประกอบการต่างๆ ว่าบริเวณหลังคาอาคารท่าเรือชำรุดหลายจุดเนื่องจากโดนพายุพัดเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงทางเชื่อมโป๊ะท่าเรือก็ชำรุด ซึ่งขณะนี้ได้งบประมาณปี 2568 มาแล้ว วงเงิน 12 ล้านบาทสำหรับซ่อมท่าเรือในจังหวัดกระบี่ 2 ท่า และจังหวัดตรัง 1 ท่า(ท่าเรือปากเมง) แต่ยังไม่ทราบว่าจะเข้าทำการซ่อมแซมวันไหนอย่างไร และขณะนี้ก็ได้เปิดฤดูไฮซีซั่นแล้วและเริ่มมีนักท่องเที่ยวทยอยเข้ามาเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการหวั่นว่าหลังคาที่ชำรุดจะมีเศษกระเบื้องตกมาใส่นักท่องเที่ยวจนเกิดอันตรายได้แก่ชีวิต และทางเชื่อมโป๊ะที่ชำรุด ก็อาจทำให้เกิดอันตรายเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวได้เช่นกัน จึงอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งเข้ามาซ่อมแซมให้โดยเร็ว เพราะเนื่องจากท่าเรือปากเมง เป็นหน้าเป็นตาให้กับจังหวัดตรัง ที่สำคัญเมื่อเปิดฤดูกาลการท่องเที่ยวแล้ว ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างความมั่นใจต่อการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง
ผู้สื่อข่าวเดินสำรวจโดยรอบบริเวณ ทั้งตัวท่าเรือ ใน-นอกอาคาร ทางเดิน ทางเชื่อม ไปจนถึงโป๊ะลอยน้ำ จุดลงเรือ จากการตรวจสอบสภาพเบื้องต้น พบความเสียหายหลายจุด ทั้งหลังคาตรงท่าเรือ บริเวณโป๊ะ บริเวณทางเดิน บริเวณหลังคาอาคารใหม่ ที่เริ่มมีร่องรอยของการแตกหักของกระเบื้องมุงหลังคา หล่นลงมาเป็นรูโหว่จำนวนมาก โดยแผ่นกระเบื้องที่หล่นลงมาจากหลังคาที่มีความสูงไม่ต่ำกว่าตึก 3 ชั้น หรือราวเกือบ 10 เมตร มีความเสี่ยงอันตรายหากหล่นใส่คน อาจทำให้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ แต่ท่าเรือก็ยังเปิดให้บริการตามปกติ โดยนักท่องเที่ยวที่เห็นสภาพกระเบื้องหลังคาชำรุดดังกล่าว ต่างก็กังวลและพยายามเดินหลีกแนวรัศมีการตกหล่น เพราะคาดเดาไม่ได้เลยว่าจะตกหล่นลงมาตอนไหนอย่างไร
ล่าสุดวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 สมาชิกเครือข่ายชมรมเสียงประชาชน จังหวัดตรัง(สปช.ตรัง) นำโดยนายรัตน์ ภู่กลาง ประธานสปช.ตรัง และคณะลงพื้นที่ท่าเรือปากเมง เพื่อดูสภาพความเสียหายจริง พบว่า กระเบื้องหลังคามีความชำรุดร่วงหล่นลงมาจริงเป็นจำนวนมาก และมีอีกบางส่วนที่กองค้างอยู่ด้านบนรอเวลาหล่นลงมาเพิ่มเติม โดยเป็นกระเบื้องทรงว่าวขนาดใหญ่ น้ำหนักแต่ละแผ่นไม่ต่ำกว่า 3 กิโลกรัม มีมุมแหลม น่าหวาดเสียวอันตรายอย่างมาก นอกจากนี้ยังพบโป๊ะลอยน้ำสำหรับเทียบเรือมีสภาพชำรุด เช่น สะพานทางเดินมีการยุบตัวเป็นช่วงๆ หูยึดโป๊ะกับเรือขาดเสียหายหลายจุด ทางเดินแผ่นเหล็กผุพังจนต้องปิดเหลือใช้งานได้เพียงข้างเดียว แม้กระทั่งเหล็กโครงสร้างแข็งแรงพิเศษชนิดไอบีม สำหรับเชื่อมสะพานท่าเรือและรับน้ำหนักก็มีการฉีกขาด อีกทั้งยังมีรังแตนที่ทำรังอยู่ตามโคมไฟทางเดินท่าเรือ และได้ออกมาต่อยคณะสปช.ได้รับบาดเจ็บไปหลายรายด้วย
ต่อมา นายรัตน์ พร้อมด้วยนายจิรศักดิ์ ควนจันทร์ แกนนำสปช.ตรัง. นายโยธิน ตุลยกุล ที่ปรึกษาด้านกฎหมายสปช.ตรัง นายทักษ์อัตถ์ จิโรจน์มนตรี สมาชิกสปช.ตรัง เดินทางไปยังสำหนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาตรัง เพื่อยื่นหนังสือจี้ซ่อมด่วนท่าเรือปากเมงแก่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ผ่านนางวิมลมาน สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาตรัง พร้อมเปิดห้องประชุมรับฟังข้อชี้แจงจากผอ.เจ้าท่าตรังนานกว่า 1 ชั่วโมง
ข่าวน่าสนใจ:
- วิกฤตพะยูนตรัง 7 วันสำรวจ พบแค่ตัวเดียว ทดลองวางแปลงอาหาร กลับถูกเมินไม่ยอมกิน
- ตรัง สับปะรดทอด-ข้าวเม่าทอด ดาวเด่นประจำร้านสมพร รสชาติอร่อย ราคาเป็นกันเอง
- ตรัง คู่ซี้ พระ-ฆราวาส เมาแอ๋ด่าทอชาวบ้านใกล้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อาละวาดอ้างมีปืน ทำชาวบ้านแตกตื่น ตร.หิ้วปีกบังคับสึก กร่างไม่เลิกบอกรู้จักพระผู้ใหญ่
- ตรัง จัดใหญ่ 12 วัน งานฉลองรัฐธรรมนูญและงานกาชาดจ.ตรัง 4-15 ธ.ค.นี้ รีแบร์นใหม่! ย้อนยุคงานเหลิมแต่แรก แสดงบินโดรนพิธีเปิด วธ.ทุ่ม 3.4 ล้าน…
นางวิมลมาน สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาตรัง กล่าวว่า สำหรับกรณีปัญหาความชำรุดของท่าเรือปากเมงที่เกิดขึ้น เจ้าท่าตรังไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ลงพื้นที่สำรวจและรายงานเหตุการณ์ความเสียหายไปยังกรมเจ้าท่ามาโดยตลอด สำหรับท่าเรือปากเมง หลายคนยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน จึงขอชี้แจงว่า ท่าเรือมีการก่อสร้างปรับปรุง ก่อนจะเปิดใช้เมื่อปี 2564 โดยใช้งบประมาณของกรมเจ้าท่าวงเงิน 140 ล้านบาท และเมื่อสร้างเสร็จ กรมเข้าท่าก็ได้ทำเรื่องส่งมอบทรัพย์สินประเภทอาคารและสิ่งปลูกสร้างให้กับกรมธนารักษ์เพื่อรับการขึ้นทะเบียนเป็นทรัพย์สินของทางรายการจำนวน 7 รายการ ทั้งตัวท่าเรือ อาคารประกอบ และอื่นๆ โดยต่อมากรมธนารักษ์ได้มีการออกหนังสือตอบรับการรับมอบทรัพย์สินโดยสมบูรณ์ แต่ในแง่การใช้งานมีเจ้าของพืน้ที่คือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คืออุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมเป็นผู้ใช้พื้นที่สำหรับอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวและจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้าอุทยาน กรมธนารักษ์ซึ่งมีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของรัฐ จึงให้อุทยานฯเจ้าไหมทำเรื่องขอใช้พื้นที่ซึ่งเป็นทรัพย์สินของรัฐให้ถูกต้องตามกฎหมาย
“แต่ทราบว่าจนบัดนี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องการประสานงานเอกสารการขอใช้พื้นที่ท่าเรือปากเมงระหว่างกรมธนารักษ์กับอุทยานฯเจ้าไหม โดยธนารักษ์ได้มีหนังสือทวงถามขอเอกสารประกอบคำขอเพิ่มเติมจากอุทยานฯเจ้าไหม ดังนั้นขั้นตอนการขอใช้พื้นที่ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ยืนยันว่ากรมเจ้าท่าได้ส่งมอบพื้นที่ให้กรมธนารักษ์โดยสมบูรณ์แล้ว และในปีงบประมาณ 2568 สำนักวิศวกรรม กรมเจ้าท่าก็ได้ตั้งเรื่องจนได้รับการจัดสรรงบ 12 ล้านบาท มาเพื่อซ่อมท่าเรือ 3 แห่ง ได้แก่ กระบี่ 2 แง และตรัง 1 แห่งคือท่าเรือปากเมง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างรายละเอียดข้อกำหนดการจัดซื้อจัดจ้าง(TOR) ท่าเรือปากเมงที่ชำรุดเราก็ได้สำรวจและรายงานมาโดยตลอด แต่ปัญหาคือตามระเบียบราชการเราไปซ่อมทันทีไม่ได้ และการที่ยังไม่มีเจ้าภาพการใช้งานท่าเรืออย่างชัดเจนก็เกิดปัญหาเรื่องใครจะเป็นคนซ่อม แต่ว่ามีคนใช้งานอยู่ และเสี่ยงอันตรายทุกวัน อยากให้ทุกหน่วยงานหันหน้ามาคุยกันเพื่อร่วมหาทางออก จะลงขันกันซ่อมด่วนไปก่อนนอกงบประมาณ หรือรองบประมาณก็ล่าช้า แต่อันตรายเกิดได้ตลอดเวลา เจ้าท่าเองก็ทำได้อย่างเดียวตามกฎหมายที่เราถืออยู่คือ เมื่อไม่ปลอดภัยก็สั่งปิดท่าเรือ ซึ่งก็มีการคุยกันแล้วว่าอาจจะต้องปิด แต่จะเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวทะเลตรังแน่นอน เราก็ไม่อยากทำถ้าทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกันได้โดยเร็ว”ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาตรัง กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับท่าเรือปากเมง ประตูสู่อันดามัน ตั้งอยู่บริเวณหาดปากเมง ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เป็นโครงการก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือท่องเที่ยวเดิมที่ชำรุด เจ้าของโครงการคือกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม งบดำเนินการ 140 ล้านบาทเศษ พิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ใกล้ครบ 3 ปีของการเปิดใช้งานแล้ว โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีเปิด โดยท่าเรือปากเมงเป็น 1 ในแผนพัฒนาท่าเรือ ปี 2561-2567 ของรัฐบาลเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย ในการสนับสนุนการท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน จํานวน 13 ท่า โดยกระทรวงคมนาคมในยุคนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรมว.คมนาคม อาทิ ท่าเรือสุระกุล จังหวัดพังงา ท่าเรือเกาะลันตาใหญ่ ท่าเรือสวนสาธารณะธารา ท่าเรือท่าเลน จังหวัดกระบี่ รวมถึงท่าเรือปากเมง จังหวัดตรัง เพื่อเตรียมพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวทางทะเลฝั่งอันดามัน.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: