ตรัง-กยท.ทุ่ม 800 ล้าน ดันโครงการชะลอยางสู้ราคาดิ่ง หนุนเกษตรกรนำยางฝากไว้กับสถาบันเกษตรกรฯ รอขายทำกำไรช่วงหน้าแล้งยางขาดแคลน หลังถูกนายทุนรวมหัวทุบราคา ไม่ถึงเดือนดิ่งลงกว่า 20 บาท/กก. ปลุกขวัญชาวสวนยาง อย่าล้มเลิกอาชีพ หลังกยท.พบตัวเลข แค่ 2-3 ปี พื้นที่ปลูกยางลดลง 2 ล้านไร่ เกษตรกรถอดใจเปลี่ยนชนิดพืช แห่ปลูกปาล์ม-ทุเรียนเพียบ หวั่นอาชีพเก่าแก่สูญพันธุ์ เผย เลื่อนคิกออฟ EUDR เพราะกลัวไทยคุมราคาตลาดโลก
เกษตรกรชาวสวนยางพาราทั่วประเทศ กำลังประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำอีกระลอก โดยเฉพาะราคาน้ำยางสดที่เคยปรับขึ้นทะลุกก.ละ 80 บาทไปแล้วเมื่อประมาณปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่พอขึ้นเดือนพฤศจิกายนมานี้ไม่ถึง 1 เดือน ราคากลับลดลงกว่า 20 บาทต่อกก. โดยราคายางตกต่ำจนวันนี้น้ำยางสดเหลือประมาณกก.ละ 58 -62 บาท และแนวโน้มอาจลดลงอีก ทั้งๆที่ปริมาณน้ำยางออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากในพื้นภาคใต้เกิดฝนตกต่อเนื่อง ประกอบกับเนื้อที่ปลูกยางพาราเหลือน้อยลง อันเนื่องมาจากเกษตรกรโค่นยางหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นแทนยางพารา เช่น ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน เป็นต้น ขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ยางของโลกสูงกว่าผลผลิต เชื่อว่าเกิดจากพ่อค้าจับมือกันทุบราคายางพารา
ล่าสุด ที่การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดตรัง(กยท.ตรัง) นายธาดา พรหมมี ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนกลาง พร้อมด้วยนายสุวิทย์ ก้องศักดิ์ศรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตด้านควบคุมและติดตาม และเจ้าหน้าที่ตลาดกลางยางพาราสงขลา เร่งลงพื้นที่เรียกประชุมผู้บริหาร และพนักงานกยท.ตรัง นำโดยนายเจษฎา จิตรหลัง ผอ.กยท.ตรัง และตัวแทนสถาบันเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดตรัง เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับโครงการชะลอยาง ที่ กยท.สนับสนุนงบประมาณให้สถาบันเกษตรกรชะลอการขายยางในช่วงที่ราคายางพาราตกต่ำ โดยให้สถาบันสมาชิกนำยางเข้าฝากไว้กับสถาบันแม่ข่ายของตนเอง โดยทาง กยท.จะโอนเงินค่ายางให้แก่สถาบันเจ้าของยางเป็นเงินร้อยละ 80 ของราคายางในวันนั้นผ่านสถาบันแม่ข่าย แล้วรอช่วงจังหวะที่ราคายางดีดตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้งซึ่งเกษตรกรหยุดกรีด ยางขาดตลาดและมีราคาสูง กยท.ก็จะเสนอขายยางผ่านตลาดกลางเพื่อทำกำไรให้กับสถาบันเกษตรกร ทั้งนี้โครงการชะลอยางก็เพื่อดึงยางออกจากระบบไปกักเก็บไว้ เพื่อสู้กับนายทุนที่กดราคาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรผู้แปรรูปยาง โดยล่าสุด กยท.ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการจำนวน 800 ล้านบาท เพื่อทำโครงการชะลอยาง โดยคาดว่าจะสามารถดูดซับปริมาณยางออกจากตลาดได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 1,000 ตัน
นายธาดา พรหมมี ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนกลาง บอกว่า โครงการชะลอยางเป็น 1 ในโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง ทั้งประเภทน้ำยางสด ยางก้อนถ้วย และยางแผ่นรมควัน โดยสถาบันเกษตรกรการดำเนินการคือในช่วงที่ราคายางตกต่ำอย่างในขณะนี้ กยท.ก็จะสนับสนุนเงินให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนำยางเอาฝาวากเก็บไว้กับสถาบันเกษตรกร โดยกยท.จะให้เงินแก่เกษตรกรในมูลค่า 80% ของราคาสินค้า เพื่อไปใช้หมุนเวียนซื้อยาง โดยยางที่ฝากไว้กับกยท.นั้นเกษตรกรพอใจจะขายเมื่อไร่ก็ขาย ซึ่งโครงการนี้จะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรกรได้อย่างมาก โดยทุกแห่งจะได้กำไรจากการนำยางพาราออกมาขายในช่วงที่ยางมีราคาดี หรือช่วงที่ยางขาดแคลน เพื่อทำกำไร ที่ผ่านมาทำมาแล้ว 2 ครั้ง ๆละ ได้กำไรหลายล้านบาทมาก ทั้งนี้ กยท.จะสนับสนุนห้องเก็บความชื้น ทำให้สามารถเก็บรักษาคุณภาพยางไว้ได้นานนับปี สร้างอำนาจต่อรองกับนายทุน สำหรับช่วงปัจจุบันนี้ ฝนตกหนักมากในทุกพื้นที่แต่ราคายางยังลง เพราะว่าตลาดล่วงหน้าอ้างอิงราคาน้ำมันลง มากำหนดราคายาง และอ้างอิงว่าใกล้จะแล้งแล้ว มีผลผลิตออกเยอะราคาต่างประเทศจึงมีแนวคิดว่าลง แต่สถานการณ์จริงขณะนี้เกษตรกรกรีดยางพาราได้น้อยมากและเกษตรกรก็รับโครงการชะลอยาง จะไม่ขายตอนยางราคาต่ำ จะไปขายอีกทีตอนยางราคาสูงขึ้นซึ่งจะเป็นช่วงเดือนเมษายนปีหน้า (พ.ศ.2568) ซึ่งผ่านมา 2 เฟสของโครงการ สามารถทำกำไรได้ประมาณ 50 ล้านบาท โดยเก็บยางไว้ได้ขายใน 6 เดือน ยางไม่เสียหาย ซึ่ง กยท.มีข้อมูลว่าปัจจุบันนี้ยางในระบบลดลง เนื่องจากภาคใต้ฝนตก กรีดยางได้น้อย อีกทั้งชาวสวนยางเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น ปาล์ม ทุเรียน มากขึ้น ในห้วง 2-3 ปีมานี้ คำขอโค่นเพื่อปลูกพืชอื่นในปี 2567 จำนวน 2 แสนไร่ ปลูกพืชอื่น 1.8 แสนไร่ ปลูกยางแค่ 2 หมื่นไร่ และพื้นที่อื่นๆที่โค่นยางแต่ไม่ขอทุนอีกเยอะ ประกอบกับพื้นที่อยู่ที่สูงหรือเนินเขา พอราคาตกต่ำ ลูกจ้างเลิกกรีด ทำให้ไม่มีลูกจ้าง ส่วนนี้ก็หายไป ภาพรวมในห้วง 2-3 ปีนี้ ยางในประเทศเคยมี 23 ล้านไร่ ตอนนี้เหลือ 21 ล้านไร่ ลดลงไปกว่า 2 ล้านไร่ เพราะกระแสพืชอื่นมาแรง ขณะที่การใช้ยางยังคงต้องการใช้เพิ่ม ความต้องการของตลาดโลกสูงกว่าผลผลิตที่ได้มาด้วยซ้ำ ถ้าราคาตกคนคงเลิกอาชีพนี้
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง จากสวนปาล์มตรังสู่ศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสานต้นแบบ ขุดสระน้ำเป็นรูปเลข 9 อารบิก สอดคล้องกับแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9
- มทภ.4 ย้ำผู้นำท้องที่ คือกำลังหลักในการแก้ปัญหา จชต.
- ตรัง อึ้ง!! เด็ก-เยาวชนหลุดออกนอกระบบการศึกษากว่า 6 พันคน ศึกษาธิการตรังสั่งรวบรวม-วิเคราะห์ข้อมูล รับนโยบาย Thailand zero dropout
- นราธิวาส-สุดทน! พ่อค้าแม่ค้าร้อง ส.ส.นำเรื่องเข้าสภาฯ หลัง "บอสตลาดเก็นติ้ง" จัดหนัก! ปรับราคาเช่า-ต่อสัญญาสูงลิ่ว
นายธาดา กล่าวว่า ที่ราคายางลดฮวบฮาบคือ การรับรองกฎหมาย EUDR ของยุโรปที่เลื่อนการรับรองจากเริ่มวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ไปเป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2568 ทั้งๆที่เกษตรกรและกยท.ร่วมมือกันเต็มที่ เราเป็นประเทศ 1 ใน 2 ประเทศของโลก ที่มีความพร้อมผลิตยางรับกฎหมาย EUDR แต่มีการเลื่อนออกไปเพราะห่วงไทยจะเป็นผู้กุมราคาเกินไป ตอนนี้ก็บอกเกษตรกรตลอดว่าอย่าทิ้งยาง ยางใช้เวลานานถึง 7 ปี จึงจะกรีดได้ แต่พืชอื่นปลูกแล้วได้กินเลย ดังนั้น ราคายางไม่ควรต่ำกว่าทุนการผลิตซึ่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท หากราคาต่ำกว่าต้นทุนนี้ พื้นที่ปลูกก็จะยิ่งหายไป
ด้านนางนัฐธิรา รักษา ผู้จัดการสาขายางพารา สหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว จำกัด เป็นสถาบันแม่ข่ายมีสถาบันสมาชิกนำยางมาฝากไว้ 53 ราย เกษตรกรเอามาฝากแล้วพอใจ ราคาปรับขึ้นตอนไหนก็สามารถขายได้ ในปี 2566ที่ผ่านมา ได้ทำโครงการไปทั้งหมด 63 สัญญา ได้กำไรทุกแห่ง รวมประมาณ 5 ล้านกว่าบาท
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: