ตรัง-ขาดสภาพคล่องขั้นรุนแรง! อธิบดีกรมท่าอากาศยาน ร่อนหนังสือด่วน! แจ้งบอกเลิกสัญญาผรม.ทิ้งงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินตรัง 1.2 พันล้านแล้ว หลังภาคปชช.บุกร้องเรียน “มนพร” ถึงกระทรวงฯ คาดแล้วเสร็จปลายปี 68 เผย หลังหมดสัญญาเรียกประชุมจี้งาน 3 รอบ รับปากทุกรอบ สุดท้าย บ.พ-พาน ทุนร้อยล้าน หนี! “สปช.ตรัง” จี้เร่งเข้าสำรวจสภาพ เดินหน้าสร้างต่อให้แล้วเสร็จ พ้อตรังเมืองทิ้งงาน ชาวบ้านสูญเสียโอกาส
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรังเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ว่า จากกรณีที่เครือข่ายชมรมเสียงประชาชน จังหวัดตรัง(สปช.ตรัง) ได้เดินทางไปยังสำนักงานท่าอากาศยานนานาชาติตรัง เพื่อติดตามสอบถามความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานนานาชาติตรังหลังใหม่ มูลค่าโครงการกว่า 1,200 ล้านบาท พร้อมเร่งรัดให้เร่งก่อสร้างให้แล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมาเนื่องจากได้ติดตามและห่วงใยต่อความล่าช้าที่ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจของจังหวัดตรังเป็นอย่างมาก หลังเกิดปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงานในงวดสุดท้ายทั้งที่ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมส่งงวดงานและเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 98% แต่กลับมีการทิ้งงานในงวดสุดท้าย จนผ่านกำหนดเวลาส่งมอบงานตามสัญญาจ้างมานานกว่า 7 เดือนแล้ว ทำให้อาคารผู้โดยสารมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ฝนตกหลังคารั่วลงมาทำให้ฝ้าเพดานพัง สายไฟห้อยระโยงรยางค์ น้ำเจิ่งนองพื้นอาคาร นอกจากนี้งานปรับภูมิทัศน์ภายในอาคาร งานจัดสวน ปลูกต้นไม้ตกแต่ง พบว่าต้นไม้ต่างๆมีสภาพแห้งเหี่ยวตายทั้งหมด ทำให้หลายหน่วยงานต่างเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งปัญหาการทิ้งงานทิ้งร้างที่เกิดขึ้น ได้ส่งกระทบต่อประชาชนที่ต้องซื้อตั๋วเครื่องบินแพงกว่าจังหวัดอื่น เนื่องจากเที่ยวยินน้อย การแข่งขันน้อย เพราะอาคารใหม่ไม่แล้วเสร็จให้ใช้งาน และในวันที่ 30 ตุลาคม 2567 เครือข่ายสปช.ตรัง ได้เดินทางไปยังกระทรวงคมนาคม พร้อมยื่นหนังสือต่อนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเร่งรัดโดยตรง นั้น
ความคืบหน้าล่าสุด นายจิรศักดิ์ ควนจันทร์ แกนนำเครือข่ายชมรมเสียงประชาชน จังหวัดตรัง(สปช.ตรัง) เปิดเผยว่า เครือข่ายสปช.ตรังได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยล่าสุด นายดนัย เรืองสอน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน(ทย.) ได้มีหนังสือด่วน ที่ คค 0501/3762 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 โดยกรมท่าอากาศยานตอบข้อร้องเรียน พร้อมรายงานผลการดำเนินงานการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานตรัง ระบุ กรมท่าอากาศยาน ขอชี้แจงว่าที่ผ่านมาโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานตรัง ประสบปัญหาผู้รับจ้างไม่เข้าทำงานและไม่มีบุคลากรประจำที่หน่วยงาน เนื่องจากขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง จึงทำให้การเปิดให้บริการช้ากว่าแผนที่กำหนด ทั้งนี้ กรมท่าอากาศยานไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมากรมท่าอากาศยานได้ดำเนินการหลังจากสิ้นสุดกำหนดระยะเวลาตามสัญญา ณ วันที่ 22 เมษายน 2567 โดยส่งหนังสือถึงผู้รับจ้าง ดังนี้ 1.หนังสือแจ้งเรียกค่าปรับกรณีผิดสัญญาจ้าง 2.หนังสือเร่งรัดให้ส่งงาน 2 งวดที่เหลือ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ งานทดสอบทุกระบบ ไฟถนน และงานคงเหลือทั้งหมด และ 3.หนังสือแจ้งสงวนสิทธิ์บอกเลิกสัญญาจ้าง
“จากนั้นได้มีการประชุมคณะกรรมการตรวจรับ ผู้ควบคุมงานและผู้รับจ้างครั้งที่ 1 เพื่อติดตามเร่งรัดงาน ผู้รับจ้างรับทราบการสงวนสิทธิ์บอกเลิกสัญญา และยังประสงค์จะดำเนินการสร้างต่อ ต่อมาได้มีการประชุมคณะกรรมการตรวจรับ ผู้ควบคุมงาน และผู้รับจ้างครั้งที่ 2 เพื่อแจ้งให้ผู้รับจ้างเร่งเข้าทำงาน โดยผู้รับจ้างยืนยันจะมีบุคลากรเข้างานภายในวันที่ 5 ตุลาคม 2567 หลังจากนั้นมีการประชุมคณะกรรมการตรวจรับ ผู้ควบคุมงาน และผู้รับจ้างครั้งที่ 3 เนื่องจากยังไม่มีความคืบหน้า จึงแจ้งให้ผู้รับจ้างเร่งรัดเข้าทำงานอีกครั้ง มิฉะนั้นจะบอกเลิกสัญญาจ้าง ผู้รับจ้างแจ้งว่าอยู่ระหว่างเจรจาหาแหล่งเงินทุนในวันที่ 26 ตุลาคม 2567 เพื่อดำเนินการต่อ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ในการประชุมคณะกรรมการตรวจรับ ผู้ควบคุมงาน ที่ประชุมรายงานว่ายังไม่มีการเข้าทำงาน คณะกรรมการฯจึงมีมติเห็นควรบอกเลิกสัญญาจ้าง เพื่อให้ผู้รับจ้างรายใหม่ดำเนินการต่อ โดยขณะนี้กรมท่าอากาศยานอยู่ระหว่างเสนอหนังสือยกเลิกสัญญาจ้างดังกล่าว ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการหาผู้รับจ้างรายใหม่มาดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จ และเปิดใช้งานภายในสิ้นปี 2568”นายจิรศักดิ์ระบุ
ข่าวน่าสนใจ:
- วิกฤตพะยูนตรัง 7 วันสำรวจ พบแค่ตัวเดียว ทดลองวางแปลงอาหาร กลับถูกเมินไม่ยอมกิน
- ชวนชิม 'ศรีบุญเรือน' ร้านข้าวต้มต้นตำรับ สืบทอดสามรุ่น เสน่ห์ร้านข้าวต้มยามค่ำคืน ที่รวมอาหารจีน อาหารเหลา อาหารใต้ไว้ในร้านเดียว
- ชวนคนตรังไปงาน WORLD TEA & COFFEE EXPO 2024
- ตรัง ชื่นชมชุมชนท่องเที่ยวร่วมใจเก็บขยะบนเกาะเหลาเหลียง
นายจิรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในนามเครือข่ายสปช.ตรัง และชาวจังหวัดตรัง ขอขอบคุณรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม อธิบดีกรมท่าอากาศยาน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาจนได้ทางออก เพราะจังหวัดตรังเสียโอกาสมากจากการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จหลายโครงการ โดยเฉพาะปัญหาการทิ้งงาน หลังจากนี้ขอให้เร่งเข้าสำรวจ ตรวจสอบอาคารผู้โดยสารที่ทิ้งงานไว้ ตั้งงบประมาณ และจัดซื้อจัดจ้างโดยด่วน อย่าให้เมืองตรังเสียโอกาสไปมากกว่านี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เครือข่ายสปช.ตรัง เครือข่ายภาคประชาชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ตรัง ต่างระดมลงพื้นที่ตรวจสอบการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานนานาชาติตรัง พบปัญหาการทิ้งงานก่อสร้าง โดยมีบริษัท พ.พาน(ชื่อสมมุติ) ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ เป็นคู่สัญญา จากข้อมูลพบว่าที่ผ่านมาบริษัท พ.พาน เคยเป็นคู่สัญญากับกรมทย.หลายโครงการ ทั้งนี้ การทิ้งงานมายาวนานกว่า 7 เดือนเศษ มีค่าปรับวันละ 1 ล้านบาท ยอดค่าปรับรวมขณะนี้ใกล้แตะ 200 ล้านบาทแล้ว ขณะที่ความล่าช้าที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจของจังหวัดตรังเป็นอย่างมาก และเป็นการทิ้งงานในงวดสุดท้ายทั้งที่ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมส่งงวดงานและเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 98% แต่กลับมีการทิ้งงานในงวดสุดท้าย(จากทั้งหมด58งวดงาน) ทำให้อาคารผู้โดยสารมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ฝนตกหลังคารั่วลงมาทำให้ฝ้าเพดานพัง สายไฟห้อยระโยงระยาง น้ำเจิ่งนองพื้นอาคาร นอกจากนี้งานปรับภูมิทัศน์ภายในอาคาร งานจัดสวน ปลูกต้นไม้ตกแต่ง พบว่าต้นไม้ต่างๆมีสภาพแห้งเหี่ยวตายทั้งหมด ทำให้หลายหน่วยงานต่างเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งปัญหาการทิ้งงานทิ้งร้างที่เกิดขึ้น ได้ส่งกระทบต่อประชาชนที่ต้องซื้อตั๋วเครื่องบินแพงกว่าจังหวัดอื่น เนื่องจากเที่ยวบินน้อย การแข่งขันน้อย เพราะอาคารใหม่ไม่แล้วเสร็จให้ใช้งาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: