นายกเทศบาลตำบลนาคำ แจงเหตุต้องระงับเพลิงล่าช้า จากกรณีเหตุเพลิงไหม้บ้านพักอาศัยของชาวบ้าน ม.11 บ้านนาคำ ต.นาคำ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม
เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2567 หลังเพลิงสงบพบว่ามีบ้านเรือนถูกเพลิงเผาไหม้เสียหายทั้งหมดจำนวน 6 หลัง และเสียหายเพียงบางส่วนอีก 4 หลัง รวมทั้งสิ้น 10 หลังคาเรือนนั้น ปรากฏว่าได้เกิดกระแสดราม่าบนโลกโซเชียลจากชาวบ้านในชุมชนขณะเกิดเหตุการณ์ กล่าวถึงการขาดความพร้อมเป็นไปด้วยความล่าช้า รวมถึงสภาพการใช้งานของรถดับเพลิงไม่พร้อมใช้งาน จึงเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในวงกว้างกว่าควรที่จะเป็น จนเป็นเหตุ ทำให้บ้านเรือนของประชาชนต้องถูกเพลิงไหม้เผาวอดเกือบ 10 หลังคาเรือน
ล่าสุด 21 พฤศจิกายน 2567 เจ้าหน้าที่จิตอาสา จาก มทบ.210 ตชด. 237 อสม.ต.นาคำ รวมถึง องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนมและองค์การบริหารท้องถิ่น ต่างร่วมกันลงพื้นที่ช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยด้วยการรื้อถอนเสาตอและวัสดุที่เสียหายออกมา ขณะที่ นายสุบิน สมรฤทธ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลนาคำ อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ได้ชี้แจงถึงเหตุการณ์ผ่านผู้สื่อข่าวว่า วันเกิดเหตุ หน่วยบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลตำบลนาคำได้รับแจ้งเหตุเกิดเพลิงไหม้ ยังพื้นที่ บ.นาคำ หมู่ที่ 11 และในทันทีที่ได้รับแจ้งเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยรถดับเพลิงจำนวน 2 คัน จึงได้รีบลงพื้นที่ตามที่แจ้งเหตุโดยทันที ทั้งนี้ที่ผ่านมา การทำงานของชุดดับเพลิงของหน่วยฯ จัดระบบเป็นสองชุดปฏิบัติการผลัดละ 24 ชั่วโมงวันเว้นวัน
แต่วันที่เกิดเหตุรถดับเพลิงคันเดิมตั้งแต่ก่อนยกระดับเป็นเทศบาลและเพิ่มภายหลังอีก 1คัน โดยขอยืนยันว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงไม่ได้ลงพื้นที่ล่าช้าตามที่เป็นข่าว แต่เนื่องจากการรับแจ้งเหตุของเจ้าหน้าที่ได้รับภายหลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ก่อนหน้านี้แล้วกว่า 30 นาที อีกทั้งระหว่างตามเส้นทางลงพื้นที่เพื่อเข้าระงับเหตุ ชาวบ้านตั้งเต้นท์ทำบุญบนเส้นทางดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้รถดับเพลิง 1 ใน 2 คัน และล่าช้าอีกกว่า 10 นาที จึงไม่สามารถเข้าดับไฟได้โดยทันที ขณะที่รถดับเพลิงอีกคันได้เข้าผจญเพลิงอีกด้านหน้าหนึ่งตามลำพัง จึงทำให้อยู่เหนือขอบเขตการควบคุมเพลิงก่อนได้ประสานขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานพื้นที่ใกล้เคียงเข้าระงับเหตุ จ.อ.ศุภณัฐ รัตนะ นักป้องกันสาธารณภัย เทศบาลตำบลนาคำ กล่าวว่า วันที่เข้าระงับเหตุและเข้าผจญเพลิงนั้น พบว่าระดับเปลวเพลิงที่ลุกไหม้อยู่ในระดับปานกลางถึงระดับสูงแล้ว สิ่งที่ทางเจ้าหน้าที่ควบคุมเพลิงจะต้องทำให้เพลิงไหม้อยู่ในวงจำกัด ด้วยการจ่ายน้ำพรมบ้านที่ยังไม่ประสบภัย เพื่อไม่ให้เกิดการลุกลามบานปลาย ส่วนกรณีที่กล่าวถึง รถดับเพลิงขณะที่เข้ามาดับไฟไม่มีน้ำ แรงดันของน้ำที่ฉีดไม่สามารถใช้งานได้ จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายกว่าที่ควรจะเป็น จ.อ.ศุภณัฐ กล่าวถึงเหตการณ์ในนั้นว่า ผู้ควบคุมหรือผู้ขับขี่โดยเป็นจิตอาสาที่เข้ามาช่วยระงับเหตุ และรถดับเพลิงคันดังกล่าวมีน้ำจำนวน 6,000 ลิตร ที่พร้อมต่อการดับเพลิง แต่ด้วยขาดทักษะการใช้งานเครื่องมืออุปกรณ์ จึงทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้เต็มประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตามทันทีรับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ได้ประสานความช่วยเหลือจาก อบต.ข้างเคียง ในการร่วม ควบคุมไม่ให้เกิดความสูญเสียในวงกว้างต่อไป.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: