สงขลา-สะเดา หนุ่มใหญ่ชาวอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา สะสมตะเกียงเจ้าพายุโบราณ มรดกแห่งแสงสว่างและเรื่องราว มากทั้งราคาและคุณค่าทางจิตใจ
ตะเกียงเจ้าพายุเก่า ไม่ใช่เพียงแค่เครื่องมือให้แสงสว่างในอดีต แต่เป็นมากกว่านั้น มันคือเครื่องมือที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ เทคโนโลยี และวิถีชีวิตของผู้คนในยุคหนึ่ง การสะสมตะเกียงเจ้าพายุเก่าจึงไม่ใช่เพียงแค่การสะสมของเก่า แต่เป็นการสะสมเรื่องราว เป็นการเก็บรักษาประวัติศาสตร์ชิ้นเล็กๆ ที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง
คุณค่าทางประวัติศาสตร์และเทคโนโลยี
ตะเกียงเจ้าพายุแต่ละดวง สะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการของเทคโนโลยีการให้แสงสว่าง ตั้งแต่ตะเกียงน้ำมันก๊าดแบบธรรมดา ไปจนถึงตะเกียงที่มีกลไกซับซ้อนมากขึ้น วัสดุที่ใช้สร้าง เช่น ทองเหลือง เหล็กหล่อ หรือแม้แต่แก้ว ล้วนบ่งบอกถึงยุคสมัยและเทคโนโลยีการผลิตในขณะนั้น การศึกษาตะเกียงแต่ละดวง จึงเปรียบเสมือนการเดินทางย้อนเวลากลับไปสู่ยุคสมัยที่ตะเกียงเหล่านั้นถือกำเนิดขึ้น
ข่าวน่าสนใจ:
คุณ กฤชเดช ทินกร อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่ 56 หมู่ที่ 8 บ้านคลองยุ่ง ตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นอีกผู้หนึ่งที่ชื่นชอบการเก็บสะสมของเก่า ของโบราณ โดยเฉพาะตะเกียงเจ้าพายุ ซึ่งถูกเก็บรักษาและจัดวางไว้อย่างดี
มีแรงบันดาลใจอย่างไรจึงได้เก็บสะสมตะเกียงเจ้าพายุ
เริ่มต้นตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยก็เก็บสะสมของเก่ามาเรื่อย แต่จะเป็นพวกแสตมป์ แบงค์ พระเครื่อง ตอนหลังมาที่บ้านเจอตะเกียง (ยี่ห้อผีเสื้อหรือบัตเตอร์ฟลาย) ซึ่งแต่เดิมพื้นฐานที่บ้านจะมีอาชีพปลูกพลู พอตอนค่ำ พ่อจะจุดตะเกียงดวงนี้ (เป็นของปู่ อายุประมาณ 70 ) แล้วนั่งเอาใบพลูมาซ้อนกันเพื่อจะนำไปขายในวันรุ่งขึ้น ผมก็เห็นภาพนี้ติดตาอยู่ในความทรงจำ ผมก็เลยเริ่มเก็บ หลังจากที่ได้ทำงานก็เริ่มค้นคว้าว่าอะไหล่ต่างๆยังมีขายมั๊ย ซึ่งไปเจอร้านขายและรับซ่อมตะเกียง ปรากฏว่าอะไหล่ยังตกค้างหลงเหลืออยู่ ผมก็เลยเอามาฝึกซ่อมจนรู้และเกิดความชำนาญ ทั้งนี้ผมสะสมมาประมาณ 30 ปี มีประมาณ 100 ดวง
ตะเกียงส่วนใหญ่หลักๆมาจากประเทศเยอรมัน พิมพ์นิยมคือยี่ห้อ เปโตแม็กซ์ กับไอด้าหรือบางคนเรียกอิสด้า ส่วนพื้นๆที่นิยมใช้เกือบทั่วทุกภาคก็คือตะเกียงตราผีเสื้อซึ่งถือเป็นพิมพ์นิยม ซึ่งรุ่นแรกจะมาจากประเทศอังกฤษ แต่ในยุคหลังๆก็มาผลิตอยู่ที่ประเทศฮ่องกง
ที่สะสมอยู่ตอนนี้มียี่ห้ออะไรบ้าง
มียี่ห้อโคลแมน ตัวนี้ช่วงปีที่ผลิตสั้นมากคือผลิตอยู่ไม่กี่ปี อายุประมาณ 60-70 ปี เป็นของประเทศอเมริกา ราคาอยู่ที่หลักหมื่น ด้วยความที่ผลิตมาน้อยจึงทำให้เป็นที่ต้องการของนักสะสมทั้งชาวไทย และต่างประเทศ นอกจากนั้นยังมีตะเกียงไส้ผ้ายี่ห้อ ราโย่ หรือเรโอ เป็นของฝั่งอเมริกา อายุประมาณ 60-70 ปีเหมือนกัน แล้วยังมีตะเกียงประเภทลานไส้ผ้า ตะเกียงยี่ห้อนูไรท์ จากประเทศอเมริกา ที่นักสะสมเรียกว่าถังแก๊ส เพราะมีรูปทรงเหมือนกับถังแก๊ส ซึ่งเป็นอีกรุ่นที่หาได้ค่อนข้างยากในกลุ่มนักสะสมจะมีอยู่จำนวนน้อย
ตะเกียงเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในประเทศไทย ซึ่งก็มีการนำเข้ามาใช้อย่างแพร่หลาย เพราะไม่มีไฟฟ้าใช้ จากคำบอกเล่าของพ่อบอกว่าดวงที่ใช้ที่บ้านซื้อมาในราคา 2-3 ร้อยในสมัยนั้น
สิ่งกำหนดที่ให้ตะเกียงมีราคาคืออะไร
ยี่ห้อหรือรุ่นที่นำเข้ามา หากมีน้อยเป็นที่นิยมก็ทำให้ราคาสูง นอกจากนั้นก็เป็นรูปแบบ ความสมบูรณ์ของตะเกียง มีรอยบุบไหม ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสภาพไม่สมบูรณ์เต็มร้อย ต้องนำมาซ่อมมาตกแต่งเพื่อให้สามารถใช้งานได้ นอกจากนั้นต้องดูว่าเป็นของเก่าจริงไหม ส่วนที่ขาดหายมีอะไหล่ไหม ลักษณะเป็นอย่างไร ซึ่งประสบการณ์ในการสะสมจะทำให้รู้ได้
การสะสมตะเกียงมีคุณค่าและสะท้อนถึงอะไรได้บ้าง
ในคุณค่าของตะเกียงทำให้เรานึกย้อนไปในสมัยที่ไม่มีไฟฟ้า ก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคนในท้องถิ่นรวมไปถึงกลไกการทำงาน หลักการต่างๆก็เป็นตัวบ่งชี้ถึงการวิวัฒนาการทางความคิดของการออกแบบของคนในยุคนั้น สำหรับคุณค่า ณ ปัจจุบันน่าจะเป็นการอนุรักษ์ตามความชอบส่วนตัวของแต่ละบุคคล ในส่วนของราคาไม่มีราคากลางเพราะตะเกียงในปัจจุบันนี้นับว่าเป็นของโบราณ เรื่องราคาไม่สามารถมากำหนดตายตัวได้ ในส่วนของการซื้อหาก็อยู่ที่ความพอใจระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ
และตะเกียงแต่ละที่แต่ละยี่ห้อมันบ่งบอก เหมือนกับเป็นการออกแบบในเชิงนวัตกรรมโดยเฉพาะฝั่งประเทศอังกฤษการออกแบบจะค่อนข้างพิถีพิถันเน้นนำไปทางด้านศิลปะไม่ว่าจะเป็นตัวโครงของตะเกียงเป็นเฉด อะไรประมาณนี้จะใช้ความวิจิตรพิสดารมากกว่าฝั่ง อเมริกา ๆจะเป็นแบบง่ายๆไม่พิถีพิถันมาก
การดูแลรักษา
อย่างใส่น้ำมันไปแล้ว หากเราจุดหรือใช้ไม่หมดต้องและไม่ใช้นานๆ ต้องเอาน้ำมันออกให้หมดถ้าน้ำมันคาถังอยู่และทิ้งไว้นานๆมันจะเป็นยางมะตอย เป็นสนิมเขียว ทำให้กัดเนื้อโลหะทะลุได้ และอย่าให้โดนความชื้น แสงแดด และอุณหภูมิที่สูง ควรทำความสะอาดตะเกียงอย่างระมัดระวัง โดยใช้ผ้าสะอาดและนุ่ม และควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่อาจทำลายตะเกียง
ความรู้สึกที่ได้สะสมตะเกียง
ก็รู้สึกมีความสุขที่ได้บำรุงรักษาของที่มันที่มันผ่านไป ที่คิดว่าครั้งหนึ่งมันเคยมีคุณค่า เคยมีประโยชน์ กับคนในท้องถิ่นของไทยทั้งที่อยู่ในชนบทและในเมืองในเมื่อมันเลิกใช้ไปแล้วสิ่งเหล่านี้มันก็คงอยู่เมื่อเรานำมาบูรณะซ่อมแซมให้มันใช้งานได้ก็มีความรู้สึกว่ามีความภาคภูมิใจและมีความสุข
ตะเกียงเจ้าพายุเก่าหลายดวง มีความสวยงามทางศิลปะ ทั้งในด้านรูปทรง ลวดลาย และการตกแต่ง บางดวงอาจมีการแกะสลัก หรือประดับตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจง สะท้อนให้เห็นถึงฝีมือและความประณีตของช่างฝีมือในสมัยนั้น การสะสมตะเกียงจึงเป็นการชื่นชมศิลปะและความงาม ที่สืบทอดมาจากอดีต
ตะเกียงเจ้าพายุโบราณที่เป็นที่นิยมอันดับต้นๆ
ยี่ห้อผีเสื้อหรือบัตเตอร์ฟลาย จากประเทศอังกฤษและฮ่องกง ราคาอยู่ที่ประมาณ ดวงละ 2 ถึง 3 ห้า ยี่ห้อเปโตรแม็กซ์ จากประเทศเยอรมัน ราคา 2 ถึง 3 พันห้า ยี่ห้อไอด้า จากประเทศเยอรมัน ราคา 2 ถึง 3 พันห้า ยี่ห้อโคลแมน จากประเทศอเมริกา ราคา 5-8 พันบาทหรือถึงหมื่น ยี่ห้อทิวลี่จากประเทศอังกฤษ ราคา 8 พัน ถึงหมื่นกลางๆ ส่วนที่หายากและราคาแพงสุดนะตอนนี้ เป็นยี่ห้อบานฉาด จากประเทศอังกฤษ ที่ราคาหมื่นปลายๆถึงแสนบาทเลยทีเดียว
การสะสมตะเกียงเจ้าพายุเก่า ไม่ใช่เพียงแค่การสะสมของเก่า แต่เป็นการสะสมประวัติศาสตร์ ศิลปะ และความทรงจำ เป็นการเก็บรักษาสิ่งที่มีคุณค่า และเป็นการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่สืบไป สำหรับผู้ที่สนใจ การศึกษาค้นคว้า และการเรียนรู้เกี่ยวกับตะเกียงเจ้าพายุเก่า จะช่วยเพิ่มความรู้ความเข้าใจ และเพิ่มความเพลิดเพลินในการสะสมได้อย่างมาก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: