ตรัง-เรื่องเพิ่งแดง! อาคารสนามบินตรังเสียหายยับเยิน ทิ้งร้างต่อหน้า “นายหัวชวน” นั่งไม่ติดร้อนใจรุดดู ผงะ!มือมืดลักสายไฟนานแรมปี สภ.เมืองตรังตามรวบทันควัน คนสนิท โพสต์ นักการเมืองคนหนึ่งประสานงบมายุคคสช. ไม่นิ่งนอนใจตามบี้งานก่อสร้างตลอด อึ้ง! 1.2 พันล้านภาษีปชช. ตกหลุมสุญญากาศ ไร้แม้รปภ. ทย.สั่งลงพื้นที่ด่วนสำรวจหน้างาน เร่งตั้งงบใหม่ ลั่นสร้างเสร็จปลายปี 68 หลังประชาชนบุกร้อง “มนพร”
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรังเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ว่า เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ผู้ใช้เฟสบุ๊ค ชื่อ Thanophas Sinchai ซึ่งเป็นของนายธโนภาส สินไชย เลขาผู้ติดตามนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย อดีตประธานรัฐสภา ในฐานะส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความระบุ ว่าด้วยเรื่องสนามบินตรัง หรือ ท่าอากาศยานนานาชาติตรัง ล่าช้า สร้างไม่เสร็จ สายไฟหาย!!! ความคาดหวังของชาวตรัง….ย้อนกลับไปหลายปี เริ่มตั้งแต่ยุค คสช. ที่การเมืองไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีผู้แทน เกิดสูญญากาศทางการเมือง ได้มีนักการเมืองท่านนึงผลักดันงบประมาณให้เกิดการพัฒนาสนามบินตรังแห่งนี้ ตั้งแต่ขยายหลุมจอดเครื่องบิน อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ และ ทางวิ่ง(Runway) ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันในสนามบินแห่งเดียวกันแห่งนี้”
.
นายธโนภาส ระบุอีกว่า และเมื่อได้มองไปถึงอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ของสนามบินแห่งนี้ ถ้าเปิดให้บริการผู้โดยสารขึ้นมาอย่างเต็มระบบ จะมีค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 900,000 บาท ถึง 1,100,000 บาท ต่อเดือน นักการเมืองท่านนี้นอกจะผลักดันงบประมาณลงมา ยังมองไปถึงค่าสาธารณูปโภค ทั้งที่เป็นของรัฐ จึงได้ประสานไปยังคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อหาหนทางลดค่าไฟฟ้าของสนามบินแห่งนี้ลง ส่วนการก่อสร้างเป็นเรื่องระหว่างผู้รับจ้างที่มาดำเนินการทำการก่อสร้างก็มีสัญญาแตกต่างกัน แต่ละสัญญาก็ดำเนินการกันไป ภาคธุรกิจก็รอคอยความหวังสนามบินแห่งนี้จะเป็นสนามบินนานาชาติ จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา มีเที่ยวบินเช่าเหมาลำ จนองค์กรการท่องเที่ยวบินไปเซ็น MOU กับต่างประเทศเพื่อคาดหวังว่าเมื่อสนามบินแห่งนี้เปิดขึ้นมา จะมีเม็ดเงินเข้ามาใช้จ่ายในบ้านเราเหมือนจังหวัดข้างเคียง เพราะเราจะมีสนามบินนานาชาติ
.
นายธโนภาส ระบุว่า จนแล้วจนเล่า นักการเมืองท่านนี้ได้ติดตามความคืบหน้า ทำหนังสือทวงถามไปยังผู้มีอำนาจเพื่อตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น แต่แล้ววันนี้ “คณะกรรมการฯจึงมีมติเห็นควรบอกเลิกสัญญาจ้าง เพื่อให้ผู้รับจ้างรายใหม่ดำเนินการต่อ โดยขณะนี้กรมท่าอากาศยานอยู่ระหว่างเสนอหนังสือยกเลิกสัญญาจ้างดังกล่าว ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการหาผู้รับจ้างรายใหม่มาดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จ” ไม่ต้องถามความรู้สึกของชาวตรัง ว่ารู้สึกอย่างไร ขณะที่เกิดสูญญากาศระหว่างผู้รับเหมา นักการเมืองท่านนี้ก็ยังคงติดตามและได้รับรายงานความคืบหน้าของโครงการจนถึงเรื่องการลักขโมยสายไฟในอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ในวันรุ่งขึ้น (4 พ.ย.67) ก่อนที่ท่านจะบินไปกทม. ก็รุดไปดูที่เกิดเหตุและได้แจ้งไปยังผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง และ ผกก.สภ.เมืองตรัง ว่าได้มีบุคคลได้ลักลอบเข้าไปตัดสายไฟภายในอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ จนถึงเวลาช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ผกก.สภ.เมืองตรังได้เข้าพื้นที่เกิดเหตุและตั้งชุดเฉพาะกิจ จนสามารถจับกุมคนร้ายได้
.
นายธโนภาส เล่าอีกว่า ต่อมาจึงพบว่าบุคคลดังกล่าวได้เข้าลักลอบตัดสายไฟไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง เกิดความเสียหายที่มีมูลค่ามหาศาล “นายXXX ได้ขับขี่รถจยย. XXXX ไปบริเวณอาคารที่พักผู้โดยสารท่าอากาศยานหลังใหม่ดังกล่าว แล้วใช้คีมตัดเอาสายไฟ ความยาวรวมประมาณ XXX ม. จำนวน XXX เส้น มาปอกเหลือเพียงลวดทองแดง น้ำหนักรวมประมาณ XXX กก. และในวันถัดไปได้ให้ นางสาวXXX XXXX ไปขายที่ร้านรับซื้อของเก่า ชื่อว่า “ ร้าน XXX “ อยู่ที่ XXXX อำเภอเมือง จังหวัดตรัง โดยนำเงินมาแบ่งกัน พร้อมนำชี้ภาพอาคารที่พักผู้โดยสารท่าอากาศยานหลังใหม่ว่าเป็นจุดที่ตนกับพวกเข้าไปลักสายไฟ และร้านรับซื้อของเก่า ชื่อว่า “ ร้าน XXX” ในการจับกุมครั้งนี้ต้องขอขอบคุณ ผกก.สภ.เมืองตรัง ที่เข้าดำเนินการจับกุมได้ทันท่วงที
.
“ทำไมผมถึงเพิ่งเขียนเรื่องนี้ ทั้งที่เหตุการณ์ผ่านไปสักพัก เพราะว่าต้องการให้ทุกอย่างปรากฎอย่างชัดเจนและมีข้อมูลถูกต้อง จนเกิดเหตุการณ์ดังที่ปรากฎ และอยากให้เห็นว่าบุคคลท่านนึงได้ทำงานเบื้องหลังกับสิ่งเหล่านี้มาตลอด ในวันนี้เรื่องของสนามบินตรังหรือท่าอากาศยานนานาชาติตรัง เป็นสิ่งที่ทุกคนคาดหวังว่าจะช่วยเติมเต็มเศรษฐกิจในบ้านเราได้ จึงอยากให้ทุกท่านช่วยกันคิดต่อยอดว่านอกจากสนามบินของบ้านเราแล้ว พวกเราจะช่วยกันเชิญนักท่องเที่ยวกลับมาเยือน”จังหวัดตรัง” ซ้ำอีกได้อย่างไร ให้เหมือนจังหวัดอื่นๆ หรือประเทศอื่นๆ ที่ “เรา” อยากไปซ้ำในทุกๆ ปี”นายธโนภาส ระบุ
.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีปัญหาเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร ท่าอากาศยานนานาชาติตรัง หลังใหม่ วงเงิน 1.2 พันล้านบาท นั้น เป็นปัญหายืดเยื้อมายาวนาน โดยไม่สามารถก่อสร้างได้แล้วเสร็จ ปัจจุบันผู้รับจ้าง คือ บริษัทอักษรย่อ พ. ได้ทิ้งงานไปแล้ว โดยกรมท่าอากาศยาน(ทย.) ได้มีมติบอกเลิกสัญญากับเอกชนรายดังกล่าว และอยู่ระหว่างดำเนินการแจ้งบอกเลิกสัญญาทางเอกสาร ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ เครือข่ายชมรมเสียงประชาชน จังหวัดตรัง(สปช.ตรัง) ได้เดินทางไปยังสำนักงานท่าอากาศยานนานาชาติตรัง เพื่อติดตามสอบถามความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานนานาชาติตรังหลังใหม่ มูลค่าโครงการกว่า 1,200 ล้านบาท พร้อมเร่งรัดให้เร่งก่อสร้างให้แล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เนื่องจากได้ติดตามและห่วงใยต่อความล่าช้าที่ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจของจังหวัดตรังเป็นอย่างมาก หลังเกิดปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงานในงวดสุดท้าย ทั้งที่ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมส่งงวดงานและเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 98% แต่กลับมีการทิ้งงานในงวดสุดท้าย จนผ่านกำหนดเวลาส่งมอบงานตามสัญญาจ้างมานานกว่า 7 เดือนแล้ว ทำให้อาคารผู้โดยสารมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ฝนตกหลังคารั่วลงมาทำให้ฝ้าเพดานพัง สายไฟห้อยระโยงระยาง น้ำเจิ่งนองพื้นอาคาร นอกจากนี้งานปรับภูมิทัศน์ภายในอาคาร งานจัดสวน ปลูกต้นไม้ตกแต่ง พบว่าต้นไม้ต่างๆ มีสภาพแห้งเหี่ยวตายทั้งหมด ทำให้หลายหน่วยงานต่างเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งปัญหาการทิ้งงานทิ้งร้างที่เกิดขึ้น ได้ส่งกระทบต่อประชาชนที่ต้องซื้อตั๋วเครื่องบินแพงกว่าจังหวัดอื่น เนื่องจากเที่ยวยินน้อย การแข่งขันน้อย เพราะอาคารใหม่ไม่แล้วเสร็จให้ใช้งาน และในวันที่ 30 ตุลาคม 2567 เครือข่ายสปช.ตรัง ได้เดินทางไปยังกระทรวงคมนาคม พร้อมยื่นหนังสือต่อนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเร่งรัดโดยตรง
.
ความคืบหน้าล่าสุด นายดนัย เรืองสอน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน(ทย.) ได้มีหนังสือด่วน ที่ คค 0501/3762 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 โดยกรมท่าอากาศยานตอบข้อร้องเรียนประชาชน พร้อมรายงานผลการดำเนินงานการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานตรัง ระบุ กรมท่าอากาศยาน ขอชี้แจงว่าที่ผ่านมาโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานตรัง ประสบปัญหาผู้รับจ้างไม่เข้าทำงานและไม่มีบุคลากรประจำที่หน่วยงาน เนื่องจากขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง จึงทำให้การเปิดให้บริการช้ากว่าแผนที่กำหนด ทั้งนี้ กรมท่าอากาศยานไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมากรมท่าอากาศยานได้ดำเนินการหลังจากสิ้นสุดกำหนดระยะเวลาตามสัญญา ณ วันที่ 22 เมษายน 2567 โดยส่งหนังสือถึงผู้รับจ้าง ดังนี้ 1.หนังสือแจ้งเรียกค่าปรับกรณีผิดสัญญาจ้าง 2.หนังสือเร่งรัดให้ส่งงาน 2 งวดที่เหลือ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ งานทดสอบทุกระบบ ไฟถนน และงานคงเหลือทั้งหมด และ 3.หนังสือแจ้งสงวนสิทธิ์บอกเลิกสัญญาจ้าง
.
หนังสือระบุอีกว่า จากนั้นได้มีการประชุมคณะกรรมการตรวจรับ ผู้ควบคุมงานและผู้รับจ้างครั้งที่ 1 เพื่อติดตามเร่งรัดงาน ผู้รับจ้างรับทราบการสงวนสิทธิ์บอกเลิกสัญญา และยังประสงค์จะดำเนินการสร้างต่อ ต่อมาได้มีการประชุมคณะกรรมการตรวจรับ ผู้ควบคุมงาน และผู้รับจ้างครั้งที่ 2 เพื่อแจ้งให้ผู้รับจ้างเร่งเข้าทำงาน โดยผู้รับจ้างยืนยันจะมีบุคลากรเข้างานภายในวันที่ 5 ตุลาคม 2567 หลังจากนั้นมีการประชุมคณะกรรมการตรวจรับ ผู้ควบคุมงาน และผู้รับจ้างครั้งที่ 3 เนื่องจากยังไม่มีความคืบหน้า จึงแจ้งให้ผู้รับจ้างเร่งรัดเข้าทำงานอีกครั้ง มิฉะนั้นจะบอกเลิกสัญญาจ้าง ผู้รับจ้างแจ้งว่าอยู่ระหว่างเจรจาหาแหล่งเงินทุนในวันที่ 26 ตุลาคม 2567 เพื่อดำเนินการต่อ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ในการประชุมคณะกรรมการตรวจรับ ผู้ควบคุมงาน ที่ประชุมรายงานว่ายังไม่มีการเข้าทำงาน คณะกรรมการฯจึงมีมติเห็นควรบอกเลิกสัญญาจ้าง เพื่อให้ผู้รับจ้างรายใหม่ดำเนินการต่อ โดยขณะนี้กรมท่าอากาศยานอยู่ระหว่างเสนอหนังสือยกเลิกสัญญาจ้างดังกล่าว ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการหาผู้รับจ้างรายใหม่มาดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จ และเปิดใช้งานภายในสิ้นปี 2568
.
รายงานข่าวจากรมท่าอากาศยาน(ทย.) แจ้งว่า วันที่เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทย.ได้ประชุมร่วมกับ Consult โครงการ เพื่อนำเสนอข้อมูล โดยกองก่อสร้างและบำรุงรักษา(กกบ.) ทย.จะประมวลผล และลงไปสำรวจหน้างานกการก่อสร้างช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ถึงช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ เพื่อสรุปข้อมูลทุกอย่างภายในกลางเดือนธันวาคม เพื่อหาผู้รับจ้างรายใหม่ นอกจากนี้ในส่วนของการตรวจสอบงานที่ตรวจรับไปแล้ว มีการตรวจสอบโดย ทย. และหน่วยงานภายนอก เช่น ป.ป.ช. แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการตรวจสอบ และทดสอบเปิดระบบต่างๆโดยตลอด เช่น ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง CCTV และส่วนอื่นๆ ซึ่งกองก่อสร้างและบำรุงรักษา(กกบ.) ทย. จะไปสำรวจอีกครั้ง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
ข่าวน่าสนใจ:
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: