ภารกิจของเหมืองแม่เมาะ คือขุดถ่านหินลิกไนต์ส่งเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โรงไฟฟ้าหลักของประเทศที่มีต้นทุนการผลิตถูกที่สุด เหมืองแม่เมาะยังได้จัดทำแผนฟื้นฟูสภาพเหมือง ไว้ 3 ด้าน ได้แก่ การปลูกป่าทดแทนร้อยละ 93, พื้นที่กักเก็บน้ำร้อยละ 3 และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอีกร้อยละ 4 โดยปัจจุบันดำเนินการปลูกป่าทดแทนไปแล้วกว่า 12,962 ไร่ พร้อมทั้งจัดพื้นที่เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอีก 831 ไร่ อย่างสวนพฤกษชาติ พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษาเหมืองแม่เมาะฯ สวนเฉลิมพระเกียรติ และทุ่งบัวตอง
ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติจากต้นไม้ ดอกไม้นานาพรรณ ทำให้พื้นที่ของ กฟผ.แม่เมาะ มีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ ดึงดูดให้มีนกประจำถิ่นและนกอพยพจำนวนมาก ชมรมคนรักษ์นกและธรรมชาติ กฟผ.แม่เมาะ ที่ก่อตั้งโดยผู้ปฏิบัติงาน ได้จัดกิจกรรมดูนกในพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ “ยามค่ำดูดาว ยามเช้าดูนก” หนึ่งกิจกรรมในงานเทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ ครั้งที่ 20 เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาดูนกในพื้นที่ โดยชมรมคนรักษ์นกฯ ได้สำรวจนกในพื้นที่สวนเฉลิมพระเกียรติฯ และพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาและทำอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี สำหรับสถิติจำนวนนก 4 ปีย้อนหลัง ปี 2564 สำรวจพบนก จำนวน 30 ชนิด ปี 2565 สำรวจพบนก จำนวน 33 ชนิด ปี 2566 สำรวจพบนก จำนวน 25 ชนิด และเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2567 สำรวจพบนกชนิดต่างๆ 25 ชนิด อาทิ นกตีทอง, นกกระเบื้องผา (นกอพยพ), นกกระติ๊ดขี้หมู, นกอีเสือหลังแดง (นกอพยพ), นกกินปลีดำม่วง, นกกินแมลงตาเหลือง เป็นต้น และยังพบนกปรอดหน้านวลอีก 1 คู่ ซึ่งเป็นนกที่พบครั้งแรกบนทุ่งบัวตองอีกด้วย โดยพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ พบชนิดนกสะสมตั้งแต่เริ่มสำรวจ กว่า 70 ชนิดด้วยกัน
ข่าวน่าสนใจ:
นกที่พบในพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ ส่วนใหญ่เป็นนกประจำถิ่น และนกอพยพ ซึ่งมีนกบางชนิดที่สำรวจพบ สามารถพบได้เฉพาะในพื้นที่ที่สมบูรณ์และมีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ค่อนข้างหนาแน่น รวมถึงมีปัจจัยคุกคามจากกิจกรรมของมนุษย์ค่อนข้างต่ำ เช่น นกกระจ้อยคอขาว นกกะรางสร้อยคอเล็ก นกจับแมลงสีน้ำตาลแดง นกตบยุงหางยาว นกคัคคูเหยี่ยวใหญ่ และนกฮูก รวมถึงเหยี่ยวเพเรกริน ซึ่งเป็นนกอพยพที่ค่อนข้างหาเจอยากบินอพยพผ่านในพื้นที่เหมืองแม่เมาะ (ข้อมูลจากการสำรวจของอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อปลายปี 2565)
ในพื้นที่ปลูกป่า กฟผ.แม่เมาะ คัดเลือกพันธุ์ไม้ประจำถิ่นหลากหลายชนิดใช้ในการปลูกพื้นฟู โดยไม้บางพันธุ์สามารถเป็นอาหารสัตว์ได้ เช่น ไทร มะเดื่อ ตะขบ มะขามเทศ และพันธุ์ไม้บางประเภทจะเป็นที่อยู่อาศัยของแมลง หนอนผีเสื้อ ดักแด้ต่าง ๆ ซึ่งเป็นอาหารที่ดีของนก รวมถึงพื้นที่ป่า และแหล่งน้ำใน กฟผ. ไม่ถูกรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์มากนัก จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประชากรนกเพิ่มขึ้นในพื้นที่ จากการสำรวจนกในพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ จะพบนกชนิดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นทุกปี และจำนวนของนกก็เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน
คุณภาพอากาศที่ดีเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นก เข้ามาในพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ เนื่องจากนกมีประสาทสัมผัสที่ไวต่อกลิ่น ฝุ่นละออง บริเวณที่คุณภาพอากาศแย่นกจะหลีกเลี่ยง นอกจากนี้แล้วการจัดการสภาพแวดล้อม แหล่งอาหาร และที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ก็มีส่วนทำให้ประชากรนกเพิ่มมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าภาระกิจของการฟื้นฟูสภาพพื้นที่จากการทำเหมืองถ่านหินแม่เมาะ มิใช่จะทำแค่การปลูกป่า จัดทำแหล่งน้ำ และสร้างสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้แล้วเสร็จเท่านั้น แต่งานฟื้นฟูสภาพเหมืองให้ความสำคัญตั้งแต่การวางแผนจัดการ การคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาป่าไม้หลังปลูกแล้วจะต้องให้ประโยชน์ตามหน้าที่ของป่าได้แก่ ปกคลุมหน้าดินให้ความร่มรื่น เป็นแหล่งให้ความชุ่มชื้นกักเก็บน้ำ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และเป็นสถานที่ให้ความรื่นรมย์ของมนุษย์ ณ วันนี้ได้เกิดขึ้นแล้วอย่างสมบูรณ์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: