X

“ตรังโมเดล” โกโก้สร้างรายได้ให้เกษตรกร กิโลกรัมละ 8 บาท ภาคเกษตร-เอกชนร่วมมือเปิดจุดรับซื้อ 11 แห่ง 

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2567 ที่โรงแรมเรือรัษฎา อ.เมือง จ.ตรัง นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานเปิดเวทีสัมมนาทางเลือกทางรอดเกษตรกรไทยกับพืชโกโก้ เส้นทางโก้โก้สู้โรงงานตรังโมเดล โดยมีตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ทั้งจากจังหวัดตรัง จากภาคใต้ และจากทั่วทุกภาคของประเทศเข้าร่วมรวมประมาณ 300 คน

ด้วยปัจจุบันตลาดโกโก้และช็อกโกแลตกำลังเติบโต โดยในปี 2566 ประเทศไทยต้องนำเข้าโกโก้ในรูปของผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ จำนวน 48,601 ต้น มูลค่าสูงถึง 9,096,830,000 (ข้อมูลสถิติการค้าสินค้าเกษตรไทยกับต่างประเทศ ปี 2566 ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2566 ถึงกลางปี 2567เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้เกิดภาวะภัยแล้งในพื้นที่ปลูกโกโก้ ส่งผลให้ผลผลิตโก้ของโลกลดลง และราคาโกโก้โนตลาดโลกได้สูงขึ้นต่อเนื่อง ผลผลิตโกโก้เป็นลักษณะของพืชเชิงอุตสาหกรรมที่ต้องนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปของโรงงานปริมาณผลผลิตในการรวบรวม จึงต้องมากพอในการรับซื้อส่งเข้าโรงงาน เฉพาะจังหวัดตรังในรอบปี 2562-2564 เกษตรกรได้รับส่งเสริมให้มีการปลูกโกโก้เป็นพืชแซม/ร่วมยางพาราพบว่า มีเกษตรกรไม่น้อยกว่า 500 ราย มีการปลูกโกโก้กระจายอยู่ในทุกอำเภอ ปริมาณการปลูกในช่วงเวลาดังกล่าวจำนวนมากกว่า 200,000 ต้น

โดยเมื่อผลผลิตออกผลพร้อมกันในระยะ 3-4 ปีต่อมา เกษตรกรส่วนใหญ่ประสบปัญหาไม่มีแหล่งรับซื้อผลผลิตโกโก้ มีเพียงเกษตรกรบางรายที่สามารถจำหน่ายได้ แต่ผู้รับซื้อไม่ได้ดำเนินการรับชื้ออย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรบางส่วนโค่นต้นโกโก้ทิ้ง และปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน ปัจจุบันคงเหลือต้นโกโก้อยู่ประมาณ 100,000 ต้นเศษ เพื่อแก้ไขปัญหาการไม่มีแหล่งรับซื้อผลผลิต และการรับซื้อผลผลิตไม่ต่อเนื่อง จังหวัดตรัง นำโดยนายทรงกลด สว่างวงศ์ ได้ประสานความร่วมมือกับ บริษัท ชิโนไทย ชิงกวาง โกโก้ โปรดัก จำกัด ซึ่งมีโรงงานแปรรูปโกโก้เพื่อการส่งออกภายใต้การร่วมทุนระหว่างไทย-จีน และได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (801) โรงงานตั้งอยู่อาคารเลขที่ 59 หมู่ที่ 4 ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอนิคมพัฒนาจังหวัดระยอง

โดยมีความต้องการผลผลิตโกโก้ทั้งในรูปผลสด เมล็ดสด และเมล็ดแห้ง เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ปีละไม่ต่ำกว่า 10,000 ตันเมล็ดแห้ง ทั้งนี้ นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง มอบนโยบายให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรัง สำนักงานสหกรณ์จังหวัดตรัง บูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกโก้โก้ได้มีแหล่งจำหน่ายอย่างต่อเนื่องและมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ โดยเปิดจุดรับซื้อโกโก้ ทั้งผลสด เมล็ดสด และเมล็ดแห้งผ่านสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน หรือจุดรวบรวมรายย่อยของเกษตรกรบูรณาการความร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรัง สำนักงานสหกรณ์จังหวัดตรัง สำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดตรัง สำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง สภาเกษตรกรกรจังหวัดตรัง การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง สภาเกษตรกรจังหวัดตรัง ร่วมกับ สหพัฒนาทองมี นำโดย นายชนศวรรรตน์ ธนศุภรณ์พงษ์ ประธานกรรมการสหพัฒนาทองมี ตัวแทนรับซื้อ และบริษัท ชิโน ไทย ซิงกวาง โกโก้ โปรดัก จำกัด

โดย นายพรชัย ลิขิตสมบัติ กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท ชิโนฯ โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปดังกล่าว จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมร่วมมือในการรวบรวมผลผลิตโกโก้ผ่านสหกรณ์และกลุ่มวิสาหกิจชุมชมชนในจังหวัดตรัง โดยไม่มีการจำหน่ายต้นพันธุ์และปุ๋ยแต่อย่างใด จำนวน 11 จุดกระจายในทุกอำภอของจังหวัดตรัง ประกอบด้วย จุดที่ 1 สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านไชยภักดี จำกัด ตำบลอ่าวตง อำเภอวังวิเศษ จุดที่ 2 สหกรณ์การเกษตรวังเจริญ จำกัด ตำบลคลองชี อำเภอวังวิเศษ จุดที่ 3 สหกรณ์การเกษตรวังวิเศษ จำกัด ตำบลเขาพระวิเศษ อำเภอวังวิเศษ จุดที่ 4 สหกรณ์กองทุนสวนยางหนองบัว จำกัด ตำบลหนองบัว อำเภอรัษฎา จุดที่ 5 สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก จำกัด ตำบลหนองปรือ อำเภอรัษฎา จุดที่ 6 สหกรณ์การเกษตรบ้านป่ากอ ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จุดที่ 7 สหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว จำกัด สาขาทุ่งค่าย ตำบลทุ่งค่ายอำเภอย่านตาขาว จุดที่ 8 สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทุ่งต่อ จำกัด ตำบลทุ่งต่อ อำเภอห้วยยอด จุดที่ 9 วิสาหกิจชุมชนโดย นางสายหยุด จันทร์สว่าง ตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จุดที่ 10วิสาหกิจชุมชน โดยนายบุญมา มิ่งมิตร ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด และจุดที่ 11 วิสาหกิจชุมชน โดย นางพะยอม วารินสะอาด ตำบลหนองช้างแล่น อำเภอห้วยยอด

โดยมีเงื่อนไข 1.กำหนดราคารับซื้อขึ้นลงตามสภาวะท้องตลาด และมีการรับซื้ออย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันรับซื้อ ผลสดแบบคละราคา กก.ละ 8 บาท ไม่คัดขนาดผล, เมล็ดสด กก.ละ 40 บาท ส่วนเมล็ดแห้งรับซื้อกก.ละ 150 -200 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเมล็ด สามารถช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกร รวมทั้งสร้างขบวนการกลุ่มในการรวบรวมผลผลิตแก่เกษตรกรอย่างเป็นระบบ ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2567 สามารถรับซื้อในจ.ตรังได้แล้วกว่า 10 ตัน

นางจุติมา เจือกโว้น ตัวแทนเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน บอกว่า เหตุผลที่เกษตรกรปลูกโกโก้ เพราะเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำมากอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.50 บาท จึงคิดว่าโกโก้น่าจะเป็นพืชทางเลือก แต่ที่ผ่านมาไม่มีตลาดรองรับ ตอนนี้โกโก้อายุ 4 ปีแล้ว มีบริษัท ชินกวางฯ เข้ามารับซื้อกก.ละ 8 บาท ถือเป็นราคาที่น่าพอใจ และเกษตรกรดีใจได้มีที่ขาย เชื่อในอนาคตจะเป็นที่สร้างรายได้และคุ้มทุน เกษตรกรจะให้ความสนใจและหันมาปลูกโกโก้เพิ่มขึ้นเพราะมีตลาดรองรับและมีจุดรับซื้อในพื้นที่ ซึ่งเรามั่นใจว่าอนาคตเป็นไปได้

ด้านนายพรชัย ลิขิตสมบัติ กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท ชิโน ไทย ซิงกวาง โกโก้ โปรดัก จำกัด บอกว่า ทางบริษัทต้องการรับซื้อผลผลิตทั้งหมด เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นผงโกโก้โกโก้บัตเตอร์ โกโก้แมส ทำเป็นช็อกโกแลตได้ ตอนนี้โกโก้ในประเทศหลังทำเมล็ดแห้งแล้วได้ประมาณ 1,200 ตันต่อปีเท่านั้น จากผลสดประมาณ 2-3 ล้านกิโลกรัม แต่โรงงานต้องการ 10,000 ตันต่อปี เพื่อประกาศให้การรับรองว่าเกษตรกรที่ปลูกไปแล้วทางโรงงานรับซื้อจริงเงินจะไหลเข้าสู่เกษตรกรจริงๆ โดยไม่มีการขายต้นพันธุ์ และไม่มีการขายปุ๋ยใดๆ โกโก้จึงเป็นพืชที่มีอนาคตมาก เพราะว่าทุกประเทศในโลกใบนี้ ทุกที่รับประทานโกโก้กัน โกโก้มีส่วนช่วยให้กับทางด้านผู้ดื่มช่วยในเรื่องอัลไซเมอร์ได้ทำให้ความจำดีและดีต่อสุขภาพไม่ได้มีการกดประสาทใดๆซึ่งคาเฟอีนในโกโก้มีส่วนน้อยมาก

นายพรชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ โกโก้ยังสามารถไปประดิษฐ์เป็นเครื่องสำอาง ครีมทาผิวต่างๆ ซึ่งเป็นพืชที่ดีมาก สำหรับในประเทศเรามีการนำเข้าโกโก้เข้ามาทั้งหมด 50,000 ตันต่อปี แต่เรามีการส่งออกไปแค่ 50 ตันเท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก แต่เมื่อโรงงานเข้ามาแล้วทางโรงงานเรามีลูกค้าอยู่ในต่างประเทศมีตลาดที่สามารถขายออกไปได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ยุโรป ประเทศเอสโตเนีย รัสเซีย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น และหลายประเทศ โดยในประเทศเชื่อว่าต้องการใช้ปีละมากกว่า 50,000 ตัน เพราะมีการนำเข้าตามจำนวนนี้ และเชื่อว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นร้านโกโก้คร๊าฟ ซึ่งโกโก้เป็นพืชอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมสามารถคอนซูมได้ 90-95% ของโลกใบนี้ และเป้าหมายของเราเมื่อทำการแปรรูปแล้ว เราจะขายผลโกโก้อยู่ในประเทศ 3,000- 5,000 ตัน ซึ่งใช้เมล็ดแห้งโกโก้อยู่ที่ 2,000-2,200 ตัน ราคารับซื้อผลสดกก.ละ 8-10 บาท แต่เมล็ดแห้ง กก.ละ 200 บาท

ด้านนายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการ จ.ตรัง บอกว่า ปัญหาของเกษตรกรส่วนใหญ่ที่พบคือปลูกพืชแบบไม่รู้ทิศทางของตลาด ทำให้ผลผลิตล้นตลาด บางปีก็ผลผลิตขาดตลาด บางทีก็ไม่มีตลาด วันนี้ถือเป็นโอกาสของชาวจังหวัดตรังที่โรงงานมาหาถึงที่ จนอยากเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรหันมาปลูกโกโก้ โกโก้ปลูกไม่ยากซึ่งทางบริษัทรับปากว่าจะส่งนักวิชาการเกษตรมาช่วยให้คำแนะนำและให้ความรู้กับข้าราชการสังกัดกระทรวงเกษตรซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำเกษตรกรอยู่แล้ว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีเพียงพอในการป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม ด้วยวันนี้ได้ทำ MOU กับตัวแทนเกษตรกรสภาเกษตรกร หรือว่าเป็นสัญญาณที่ดีว่าการปลูกโกโก้ของเกษตรกรมีตลาดรองรับ เป็นพืชอีกทางเลือกหนึ่งนอกเหนือจากการปลูกปาล์มน้ำมันหรือยางพาราที่มีปัญหาราคาผันผวนตกต่ำทุกปี และในเฟสต่อไปทางบริษัทจะมาตั้งจุดรับซื้อผลผลิต ตรงนี้ไม่มีพ่อค้าคนกลางมาตัดราคาเกษตรกร

นายทรงกลด กล่าวว่า หลังจากนี้งานทางด้านนโยบายเพื่อขยายผล ซึ่งก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่เกษตรและสหกรณ์บางรายได้ปลูกโกโก้เช่นเดียวกัน ซึ่งกำลังจะพูดถึงแล้ว และล่าสุดเมื่อ 1-2 วันก่อนเขาสามารถขายผลผลิตโกโก้ได้ในราคากิโลกรัมละ 8 บาท เพิ่งถือว่าเป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกร ซึ่งเป็นไปตามพระราโชบายของนายหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าด้วยเราไม่ควรปลูกพืชเชิงเดี่ยว ในขณะที่พืชชนิดหนึ่งราคาตกต่ำเราก็มีพืชอีกชนิดที่ราคาดีทำให้มีรายได้สามารถประคองเศรษฐกิจในครอบครัวไปได้ เบื้องต้นบริษัทสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกร 1 บริษัทได้มาพบผู้บริหารระดับจังหวัด 2 วันนี้เขาได้มาทำ MOU กับกลุ่มเกษตรกรและเครือข่ายเกษตรกร 3 ตนได้มอบหมายให้เกษตรและสหกรณ์ไปศึกษาเรื่อง contact farming ตลาดซื้อขายล่วงหน้า ว่าสามารถนำมาปรับใช้กับโกโก้ได้หรือไม่ 4 หากผลผลิตในจังหวัดตรังมีจำนวนมากพอทางบริษัทจะมาตั้งจุดรับซื้อที่นี่ คุยตอนนี้ให้สหกรณ์ในแต่ละชุมชนเปิดจุดรับซื้อไปก่อน ซึ่งล่าสุดได้ขยายจุดรับซื้อมาที่จังหวัดสุราษฎร์และจังหวัดชุมพรแล้ว ในส่วนของพฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันนี้นิยมรับประทานโกโก้หรือช็อคโกแลตกันมากขึ้น และบริโภคในปริมาณที่เยอะกว่าในอดีต

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน