ตรัง- เกษตรกรร้องโรคปากเท้าเปื่อยระบาดหนักในโค ทำป่วยตายรายวัน บางฝูงอาการร่อแร่รอตายยกฝูง ชาวบ้านแจ้งปศุสัตว์อำเภอเข้าตรวจสอบทำได้แค่ถ่ายภาพ ให้ยาไว้เล็กน้อยแล้วกลับ อ้างปศุสัตว์ไม่มียา ไล่ให้ชาวบ้านไปซื้อวัคซีน ยา ฉีดเอง ไม่มีการประกาศเขตภัยพิบัติ ไม่มีการควบคุมพื้นที่การระบาด ทำการระบาดยิ่งขยายวงกว้างมากขึ้นแม้จะหมดฤดูฝนแล้วก็ตาม แปลกใจทำไมเกิดโรคระบาดขนาดนี้ กรมปศุสัตว์ไม่มียารักษา จำนวนมากไปรับวัคซีนมาฉีดป้องกันแล้ว แต่กลับติดเชื้อ วอนอธิบดีกรมปศุสัตว์เร่งแก้ปัญหา
นายพรชัย สุวรรณอัมพร นายกเทศมนตรีตำบลห้วยนาง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง นำผู้สื่อข่าวลงตรวจสอบพื้นที่ 3 หมู่บ้านของ ต.ห้วยนาง ประกอบด้วย หมู่ 4,5 และหมู่ที่ 8 หลังพบว่าโรคปากเท้าเปื่อยในวัวมีการระบาดหนัก ทำวัวติดเชื้อแล้วหลายร้อยตัว ตายไปแล้วหลายสิบตัว และขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆโดยพบว่าโรคปากเท้าเปื่อยวัว เริ่มพบการระบาดในพื้นที่หมู่ 4 ต.ห้วยนาง เป็นจุดแรก ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา แต่ผ่านมาแล้วเกือบ 4 เดือน ยังควบคุมพื้นที่ไม่ได้ กลับมีการระบาดขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาด แม้ในขณะนี้ฤดูฝนผ่านไปแล้ว แต่การระบาดยังรุนแรง ทั้งนี้ พบว่าวัวบางฝูงมีวัวมากกว่า 100 ตัว ทยอยตายลงทุกวัน ๆ ละ 1- 5 ตัว ส่วนที่เหลือก็นอนรอวันตาย เพราะอาการร่อแร่ติดเชื้อหมดแล้วทุกตัว โดยเฉพาะลูกวัวตัวเล็ก ๆ ร่างกายจะอ่อนแอตายได้ง่ายกว่า
ด้านชาวบ้าน บอกว่า พอวัวติดเชื้อแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เข้ามาดูแล เอายาแก้ไข้ ยาบำรุง ยาฆ่าเชื้อมาให้สักชุด แล้วก็หายไป ซึ่งไม่พอฉีดรักษา และบอกให้ชาวบ้านไปหาซื้อยามารักษากันเอง ซึ่งยาก็แพงซื้อครั้งละ 3 ชนิดดังกล่าว ราคาก็กว่า 1,100 บาท แต่หากได้ให้ยารักษาได้รวดเร็วและทั่วถึง วัวก็รอด แต่หากไม่มีเงินรักษาและวัวจำนวนมาก ดูแลรักษาไม่ทัน ไม่มีเงินซื้อ อาการก็จะรุนแรง ทยอยตาย ขณะที่ชาวบ้านหลายรายแปลกใจไปรับวัคซีนจากปศุสัตว์อำเภอมาฉีดแล้ว แต่ผ่านไปประมาณ 1 เดือน วัวก็กลับมาติดเชื้อ ทั้งๆที่ความเข้าใจหากมีการฉีดวัคซีนป้องกัน จะสามารถช่วยยับยั้งการติดเชื้อได้
ทางด้านนายพรชัย สุวรรณอัมพร นายกเทศมนตรีตำบลห้วยนาง บอกว่า ฟาร์มนี้เลี้ยงวัวฝูงใหญ่มีอยู่ประมาณ 150 กว่า รวมลูกอีกจำนวนมาก ได้ทยอยตายไปและฝังแล้วประมาณ 5-6 ตัว ในวันนี้ก็ตายเพิ่มอีก 2 ตัว เป็นตัวลูก ส่วนที่เหลือติดเชื้อแล้วอาการหนักทั้งหมด น้ำลายยืด เซื่องซึม บางตัวไม่มีแรงลุกเดิน เล็บเท้าเปื่อยหลุด ทั้งหมดนี้น่าจะนอนรอความตาย ตนโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ โทรรายงานนายอำเภอทำให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอลงพื้นที่มาดู มาถ่ายภาพแล้วก็มอบยาให้ 6 ขวด แล้วก็กลับไป ซึ่งยา 6 ขวด จะพอรักษาได้อย่างไร โดยโรคเกิดระบาดตั้งแต่เดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงฝนตกชุกมาถึงเวลานี้เจ้าหน้าที่ยังควบคุมป้องกันการระบาดไม่ได้ และไม่ได้เข้ามาดูแลพื้นที่ มาเฉพาะที่ตนเองโทรไปเท่านั้น มาถึงให้ยาไว้เล็กน้อยแล้วก็หายไป และบอกว่าทางปศุสัตว์ไม่มียา ให้ชาวบ้านไปหาซื้อยามารักษากันเอง และต้องซื้อครบทั้ง 3 ชนิด คือ ยาลดไข้ ยาบำรุง ยาฆ่าเชื้อ ราคาก็แพงขวดละ 300-500 บาท ชาวบ้านทำอาชีพกรีดยางก่อนหน้านี้ฝนตกยางไม่ได้กรีด ไม่มีเงินซื้อ ยิ่งวัวหลายตัวต้องใช้เงินจำนวนมาก และบางคนซื้อมาแล้วก็ฉีดไม่เป็น ไม่มีหน่วยงานราชการฉีดให้ก็ไม่ได้ผล ทั้งตำบลตอนนี้ระบาดอยู่ 3 หมู่บ้านคือ หมู่ 4 ,5 และหมู่ 8 รวมหลายร้อยตัว ตายไปแล้วมากกว่า 20 ตัว บางส่วนชาวบ้านปกปิดข้อมูลอีก เฉพาะหมู่ 8 มีเลี้ยงวัว 20 ครัวเรือน วัวติดเชื้อหมดทุกครัวเรือน ไม่มีการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ไม่มีการควบคุมพื้นที่การระบาด ทำให้ตอนนี้การระบาดขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ ไปถึงวัวของชาวบ้านต.บางขัน อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นรอยต่อกับตำบลห้วยนาง ตนจึงสงสัยว่าเกิดโรคระบาดขนาดนี้ กรมปศุสัตว์ไม่มียารักษา ไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาทำงานควบคุมพื้นที่การระบาด นอกจากนั้นวัคซีนที่ไปรับมาจากสำนักงานปศุสัตว์มาฉีดแล้วจำนวนมาก แต่ทำไมวัวยังติดเชื้อ และวัวของชาวบ้านเลี้ยงไว้มานาน เพื่อเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ และบางรายเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์ลูกวัวสายพันธุ์วัวชนขาย เป็นปีแรกที่มาติดเชื้อและรอวันตายต่อไปคงหมด ชาวบ้านเดือดร้อนหนักวอนอธิบดีกรมปศุสัตว์ช่วยติดตามเรื่องนี้ให้ชาวบ้านด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
- ไร้ปาฏิหาริย์ สิ้น “อ.สุนทรี สังข์อยุทธ์” อดีตหัวหน้าหอจม.เหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ กวีซีไรต์ “จิระนันท์ พิตรปรีชา” โพสต์อาลัย
- ตรัง ชาวบ้านร้องตรวจสอบทน.ตรังทำถนนรวดเดียว 65 สาย วิจารณ์หนักเปลืองงบประมาณ
- ตรัง สปช.วอนช่วยคุณยายนอนข้างถนน 2 เดือนกลางเมืองตรัง ห่วงสุขภาพทรุด
- ตรัง เกษตรกรเกาะลิบง เลี้ยงกุ้งมังกร 7 สี รายเดียวในตรัง สร้างรายได้งาม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: