X

ตลาดเด่นชัย เตรียมฉลองศาลเจ้าอายุ 111 ปี สรุปบทเรียนเศรษฐกิจในอดีตรอรับความเจริญเมื่อประตูตูอาเซี่ยนเปิด


เด่นชัย ถือเป็นเมืองสำคัญในอดีต ที่มีความพร้อมทางด้านการคมนาคมที่ดีที่สุดของภาคเหนือด้านตะวันออก ทำให้เด่นชัยกลายเป็นเมืองค้าขายมีเศรษฐกิจดีและรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วกว่าเมืองอื่นๆ ในแถบนี้ เดิมทีนั้น ถือเป็นแหล่งอัญมณีสำคัญในปี พ.ศ. 2445 ชาวเงี้ยวได้เข้ามาทำมาหากินด้วยการขุดพลอยไพลินเป็นอาชีพที่ดอยปกกะโล่ง ปัจจุบันคือบริเวณหมู่ 4 บ้านบ่อแก้ว ต.ไทรย้อย อ.เด่นชัย

ซึ่งภายหลังกลุ่มเงี้ยวได้ทำการปล้นเมืองแพร่ ทำให้พระยาสุรศักดิ์มนตรี ยกทัพหลวงมาปราบโดยตั้งค่ายอยู่ที่บ้านเด่นทัพชัย ซึ่งต่อมาบริเวณดังกล่าวคือที่ตั้งของตำบลเด่นชัย และเด่นชัย ได้ยกฐานะเป็นอำเภอในปี พ.ศ. 2506 ซึ่งเด่นชัยนั้นมีทางรถไฟผ่านมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ราวปี พ.ศ. 2430 มีการสำรวจก่อสร้างทางรถไฟจาก กทม. – เชียงใหม่ พ.ศ. 2454 รถไฟสร้างถึงบ้านแม่พวก

จนต่อมาไม่นานทางรถไฟสายเหนือก็สามารถเชื่อมเมืองหลวงกับเมืองสำคัญของภาคเหนือได้ และนี่เป็นที่มาของชุมชนเด่นชัยที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจมากกว่าเมืองอื่นๆ ในอดีตตลาดเด่นชัย หรือ เดิมนั้นชื่อว่าตลาดเด่นฤดี สร้างขึ้นด้วยความเจริญ มาพร้อมกับชาวจีนที่เข้ามาทำการค้าปักหลักถิ่นฐานถาวร ตั้งศาลเจ้าปึงเถ่ากงม่า และสร้างตลาดพร้อมๆ กัน ซึ่งปัจจุบัน ชาวจีนที่เด่นชัยกำลังมีการเตรียมการฉลองศาลเจ้าที่มีอายุถึง 111 ปีในนี้ ตลาดเด่นชัยก็มีอายุที่ไม่แตกต่างกันมากนักเพราะสร้างในยุคเดียวกัน

ในช่วงเติบโดของเศรษฐกิจเด่นชัย เกิดขึ้นจากการค้าขายผ่านการขนส่งระบบรางคู่คือรถไฟปัจจุบันสาย กทม. เด่นชัย เชียงใหม่ ทำให้มีการขนถ่ายสินค้าและการเดินทางของประชาชนเกิดขึ้นทุกวัน การเติบโตแบบก้าวกระโดดเด่นชัยมีโรงแรมเกิดขึ้นถึง 3 แห่ง ธนาคาร 6 แห่ง เข้ามาตั้งในอำเภอเด่นชัย สภาวะทางการเงินเศรษฐกิจในเด่นชัยดีมาก มีตลาดกลางการค้าอัญมณี มีโรงงานแปรรูปของป่า

เช่น โรงงานลูกชิด เป็นต้นแม้ในขณะนั้นพืชไร่ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทเช่น ข้าว ข้าวโพด ยาสูบ และปศุสัตว์ ราวปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา ทางหลวงหมายเลข 101 และทางหลวงหมายเลข 11 ตัดผ่านอำเภอเด่นชัย จากกทม.เดินทางโดยรถยนต์ไปน่านถึงชายแดนห้วยโก๋น ไปเชียงราย พระเยา สะดวกมาก หมายเลข 11 จากภาคกลางมาอุตรดิตถ์ เด่นชัย ไปลำปาง ไปลำพูนเชียงใหม่ สะดวกมาก ในช่วงปี 2555

ถนนเหล่านี้ถูกพัฒนาเป็นสี่ช่องทางจราจร ยิ่งสะดวกเพิ่มขึ้น แต่น่าเสียดายที่ไม่ผ่านย่านเศรษฐกิจของเด่นชัย ที่ติดอยู่กับสถานีรถไฟ ดังนั้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาย่านเศรษฐกิจของอำเภอเด่นชัย จึงซบเซาลง ธนาคารหลายแห่งปิดสาขาเด่นชัย ปัจจุบันเหลือเพียงธนาคารของรัฐและธนาคาร กรุงเทพฯ เท่านั้นที่ยังคงตั้งให้บริการอยู่

เนื่องจากเด่นชัย เป็นชุมชนโบราณและมีหลากหลายชาติพันธุ์ คนพื้นเมือง คือคนพื้นราบชาวล้านนาพูดภาษาเหนือ ชาวอาข่า ชาวไต (ไทยใหญ่หรือเงี้ยว) คนไทยภาคกลาง ยังมีชาวลั๊วะ ขมุ ลื้อ และชาวจีนที่เดินทางมาทั้งจีนตอนเหนือจีนตอนใต้ และโพ้นทะเล มาผสมผสานกันอย่างแยกไม่ออก เป็นเพราะทำเลภูมิศาสตร์ ทำเลความเจริญทางการคมนาคมระบบทางรถไฟในอดีตนั่นเอง


นายธีรเดช ดำรงค์พลาสิทธิ์ ทาญาติเจ้าของตลาดเด่นฤดี ตลาดเก่าของอำเภอเด่นชัยกล่าวว่า เด่นชัยมีความเจริญแบบผสมผสานหลากหลายชาติพันธุ์ คนจีนถือเป็นชุมชนใหญ่ที่ตั้งรกรากในเด่นชัย สร้างศาลเจ้าปึงเถ่ากงม่า มีเทศกาลของชาวจีนที่คนหลากหลายชาติพันธุ์เข้ามาร่วมงานทุกปีในเทศกาลกินเจ ชมการแสดงงิ้วที่มาจากเมืองจีน แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจช่วง 20 ปีนี้จะชะลอตัวทั้งย่านชุมชนเด่นชัย

เนื่องจากการเดินทางค้าขาย และการขนส่งสินค้า ภาคธุรกิจและขนส่งมวลชนหันไปใช้ทางรถยนต์โดยไม่จำเป็นต้องแวะที่ตลาดเด่นชัย นั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด่นชัยชะลอตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2562 นี้ชาวเด่นชัยกำลังรอความหวังของการพัฒนา ที่จะกลับมาคึกคักอีกครั้งเมื่อโครงการใหญ่ๆ ในการขนส่งสินค้าและมวลชนด้วยระบบราง จะเข้ามามีความสำคัญอีกครั้ง

และครั้งนี้เป็นระบบการขนส่งทางรางแบบข้ามชาติ เชื่อมอาเซี่ยนและจีน มีแนวโน้มเชื่อมทั้งโลกตามแผนพัฒนา THAILAND 4.0 ไทยจะเป็นศูนย์กลางการเดินทาง การสร้างรางรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ เพียงกระแสว่ากระทรวงคมนาคมอนุมัติ แรงของการพัฒนาก็กระพือขึ้นแล้ว เศรษฐกิจของเมืองเด่นชัยเริ่มเห็นโอกาสที่จะกลับมาคึกคักอีกครั้งในห้วงเวลาอันใกล้นี้

นายธีรเดช กล่าวต่อว่า ตลาดเด่นฤดีหรือตลาดเก่าเด่นชัย มีความร่วมมือกับภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เป็นศูนย์กลางการค้า รวบรวมการผลิตของชุมชนกลุ่มต่างๆ มาสู่ตลาด แม้อยู่ในสภาวะที่ซบเซาตลาดเปิดตั้งแต่เวลา 02.00 น.ของทุกวัน เป็นตลาดค้าส่งอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารท้องถิ่นที่มีแม่ค้าพ่อค้าในอำเภอเด่นชัยและจังหวัดใกล้เคียงเดินทางมาซื้อของไปจำหน่าย ดังนั้นถ้าเด่นชัยจะกลับมามีบทบาททางการคมนาคมที่สำคัญอีก

เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของเด่นชัยก็จะเฟื่องฟู ขึ้นมาอย่างแน่นอนด้วยความพร้อมที่มีอยู่ ราวเดือนมีนาคมปีนี้ ชาวจีนเด่นชัย จะฉลองศาลเจ้าปึงเถ่ากงม่า มีอายุครบ 111 ปี น่าจะถือเป็นโอกาสดีที่ตลาดเด่นชัยจะเตรียมรับความเจริญอีกทศวรรษในอนาคต ซึ่งจะเป็นไปได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับโครงการขนาดใหญ่การขยายโครงการรถไฟทางคู่เด่นชัย – เชียงของ ที่ควรผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็วหรือเป็นไปตามห้วงเวลา

แต่ปัจจัยเสี่ยงของการพัฒนาที่อาจล่มสลายหรือดับฝันชาวเมืองเด่นชัยน่าจะมาจากปัญหาการเมือง จึงขอเรียกร้องให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเปิดประเทศไปสู่โลกประชาธิปไตย เพื่อได้นักการเมืองที่ดีมาบริหารประเทศจะทำให้การพัฒนาเป็นไปตามคาดหวังของชาวเด่นชัย และเป็นศูนย์กลางการเดินทางของชาวอาเซี่ยนต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน