ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประกาศมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าของธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ปาบึก” เพิ่มเติมด้วย “มาตรการพิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fastrack)”
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเพิ่มเติมให้กับลูกค้าของธนาคารในพื้นที่ภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ปาบึก” ซึ่งอาจส่งผลให้ที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย ธนาคารจึงได้จัดทำ “มาตรการพิจารณาสินไหมเร่งด่วน(Fastrack)” สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ รวมถึงกรณีน้ำท่วม หรือ ลมพายุ โดยประสานงานให้กลุ่มพันธมิตรประกันภัยของธนาคารพิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัยทุกรายอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษจำนวน 15,000 บาท เพียงกรอกแบบฟอร์ม พร้อมแสดงภาพถ่ายความเสียหายของที่อยู่อาศัยที่ชัดเจน และหลักฐานอื่น ๆ ที่ธนาคารกำหนด
และหากกลุ่มพันธมิตรประกันภัยของธนาคารประเมินความเสียหายของที่อยู่อาศัยแล้วพบว่าสูงกว่า 15,000 บาท หรือมีน้ำท่วมตัวที่อยู่อาศัยตั้งแต่ 100 เซนติเมตรขึ้นไป ลูกค้ามีสิทธิ์ได้รับค่าสินไหมตามจริงแต่ไม่เกิน 20,000 บาท ทั้งนี้ สามารถติดต่อเพื่อขอรับการพิจารณาสินไหมเร่งด่วนได้ที่สาขาของธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกแห่งตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2562 เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส.ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562 ธอส. ได้ประกาศจัดทำ “โครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2562” ภายใต้กรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อเป็นมาตรการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้าประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงมาตรการฟื้นฟูภายหลังน้ำลดระดับลง โดยธนาคารจะพิจารณาตามระดับความเสียหาย ซึ่งมีรายละเอียดประกอบด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือ คู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัยสามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระ เดือนที่ 1-4 อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.50% ต่อปี เดือนที่ 17-24 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.00% ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี กรณีกู้เพื่อชำระหนี้หรือซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. อยู่ที่ 6.75% ต่อปี)
มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00% ต่อปี นาน 3 ปี หลังจากนั้น กรณีลูกค้าสวัสดิการ คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี ส่วนลูกค้ารายย่อย คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-0.50% ต่อปี
สำหรับลูกค้าผู้ที่ต้องการยื่นกู้ตามมาตรการที่ 2 ธนาคารกำหนดวงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกัน และยังยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ค่าตรวจสอบหลักประกัน ค่าประเมินราคาหลักประกัน ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้
มาตรการที่ 3 ลูกหนี้ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย และกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ให้ลูกหนี้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน คิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรกโดยไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้
มาตรการที่ 4 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้
มาตรการที่ 5 ลูกหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือตามสัญญากู้
มาตรการที่ 6 กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น ทั้งนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการของ “โครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2562” สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถึงภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2562 หรือภายใต้กรอบวงเงินที่ธนาคารกำหนด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: