นายอำเภอปราณบุรีสนธิกำลังทุกภาคส่วนลงตรวจสอบน้ำเสียถูกปล่อยทิ้งลงทะเลปากน้ำปราณแล้ว พร้อมเก็บตัวอย่างน้ำส่งตรวจคุณภาพ หลังจากกลุ่มฅนรักทะเลและชายหาดปากน้ำปราณ ได้โพสต์ ภาพถ่ายมุมสูงบริเวณริมคลองปากน้ำปราณ ภาพน้ำทะเลสีดำ เบื้องต้นวันนี้หน่วยงานรัฐยืนยันเป็นน้ำเสียจากครัวเรือนไม่ใช่น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม
ข่าวน่าสนใจ:
- พะเยา จับหนุ่มใหญ่ ซุกปืนเถื่อนสั้นยาวพร้อมกระสุนเพียบ ในบ้าน
- นนทบุรี ศพชายปริศนาลอยอืดกลางคลองย่านไทรน้อย จนท.พบลักษณะคล้ายบาดแผลฉีกขาดที่แขนและใบหูขาด
- ฝ่ายปกครอง อ.ปลาปากสนธิกำลังตร .บุกรวบหนุ่ม 20 ขาใหญ่ จำหน่ายยาบ้า โดดหลังบ้าน คว้ามีดพร้าเปิดทาง หลบหนีไปไม่รอด
- ขอเชิญมาร่วมสัมผัส “ลมหนาว ริมฝั่งโขง ชมอุโมงไฟ ยาวที่สุด” ที่นครพนม
วันที่ 11 มกราคม 2562 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา กรณีผู้ใช้เฟสบุ๊คชื่อ “เอ ฅนรักเลปราณ” ของนายพิษณุพงษ์ เหล่าลาภผล ประธานกลุ่มฅนรักทะเลและชายหาดปากน้ำปราณ ได้โพสต์ภาพถ่ายมุมสูงบริเวณริมคลองปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์(เทื่อวันที่ 10 มกราคม 2562) เป็นภาพน้ำทะเลที่มีน้ำสีดำคล้ายน้ำเสียไหลปะปนลงสู่ทะเลปากน้ำปราณ พร้อมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันตรวจสอบเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากสาเหตุใดนั้น
โดยในวันนี้ นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล นายอำเภอปราณบุรี ได้เรียกหน่วยงานต่างๆเข้าร่วมประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยมี นายสมเจตร์ เจริญทรง ปลัดอำเภอปราณบุรี , นายธงชัย สุณาพันธ์ ปลัดเทศบาลตำบลปากน้ำปราณ รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีตำบลปากน้ำปราณ , นางสาวดวงใจ ขันธ์เครือ ผู้จัดการสำนักงานจัดการน้ำเสียสาขาประจวบคีรีขันธ์ , นางนริสา หนูสอน เจ้าพนักงานประมงชำนาญงานสำนักงานประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ทหารรักษาความสงบ ศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ , ทหาร กอ.รมน.ปราณบุรี , ตำรวจ สภ.ปากน้ำปราณ ฯลฯ เข้าร่วมประชุม
จากนั้นลงพื้นที่บริเวณริมคลองปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นจุดที่พบปัญหาน้ำเสียไหลลงไปปะปนกับน้ำทะเล โดยบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ปลายท่อระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อสูบน้ำกลับไปบำบัดยังศูนย์บริหารจัดการคุณภาพน้ำ เมื่อบำบัดน้ำเสียจนผ่านมาตรฐานแล้วจึงปล่อยลงสู่ทะเล โดยมีองค์การจัดการน้ำเสียและเทศบาลตำบลปากน้ำปราณ เป็นผู้ควบคุมดูแล
ทั้งนี้ได้มีนักวิชาการจากศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศ ป่าชายเลน สิรินาถราชินี ได้นำเครื่องมือมาจัดเก็บน้ำเสียบริเวณดังกล่าวพร้อมตรวจวัดอุณหภูมิน้ำบริเวณดังกล่าวด้วย โดยจะต้องนำไปตรวจสอบคุณภาพน้ำอย่างละเอียดอีกครั้งในห้องปฏิบัติการโดยคาดว่าจะทราบผลการตรวจสอบจะทราบผลอีกประมาณ 3-4 วัน
โดยระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จ มีชาวบ้านผู้ประกอบการประมงทะเลด้านการผลิตอาหารจำพวกหมึกหลายรายได้มารอรับฟังข้อมูลจากนายอำเภอปราณบุรี ซึ่งต่างแสดงความกังวลใจว่า น้ำสีดำดังกล่าวไม่ใช่น้ำจากการล้างหมึกเพียงอย่างเดียวแต่มีน้ำเสียจากครัวเรือนรวมอยู่ด้วย
นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล นายอำเภอปราณบุรี กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จแล้วว่า ก่อนหน้านี้พื้นที่ ต.ปากน้ำปราณ ไม่มีระบบจัดการน้ำเสีย แต่เพิ่งได้รับงบประมาณในการสร้างศูนย์บริหารจัดการคุณภาพน้ำ และเริ่มดำเนินการมาได้ยังไม่ถึงปี โดยความสามารถในการจัดการน้ำเสียได้ 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่พบว่าปริมาณน้ำเสียในครัวเรือนของชาวบ้านปากน้ำปราณ ล่าสุดตรวจสอบได้ประมาณ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทำให้มีน้ำเสียส่วนเกินที่ไม่สามารถบำบัดได้อยู่ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีกรณีเรื่องของน้ำทะเลหนุนสูงในระยะนี้ เมื่อมีระบบท่อระบายน้ำชัดเจนทำให้น้ำเสียทั้งหมดไหลมารวมกันส่วนเกินจึงไหลออกมาจนเห็นเป็นภาพดังกล่าว
สำหรับการแก้ไขเบื้องต้นนั้น ตนได้ขอให้ทางเทศบาลตำบลปากน้ำปราณ ดำเนินการล้างท่อระบายน้ำทั้งหมดเพื่อล้างตะกอนและของเสียที่ทับถมในท่อออกก่อน พร้อมขอความร่วมมือจากบ้านเรือนประชาชนที่ประกอบอาชีพผลิตอาหารทะเล โดยเฉพาะจุดที่มีการล้างหมึกนั้นก่อนที่จะปล่อยน้ำเสียลงระบบระบายน้ำให้ทำให้เจือจางเสียก่อน ส่วนครัวเรือนต่างๆนั้นมี พรบ.ควบคุม ที่ต้องบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ระบบการระบายน้ำ โดยในอนาคตจะต้องเพิ่มศักยภาพของบ่อบำบัดน้ำเสียให้มีกำลังการบำบัดน้ำได้ตามปริมาณน้ำเสียจริงของครัวเรือนในปัจจุบัน
ทั้งนี้ขอประชาชนไม่ต้องกังวลกับปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากไม่ใช่น้ำจากโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นพิษ แต่เป็นน้ำล้างอาหารทะเลและน้ำจากครัวเรือน เชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำในทะเลค่อนข้างน้อย แต่ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่จะเร่งแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด
ภาพ “เอ ฅนรักเลปราณ” และ พิมพร อยู่รุ่ง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: