พิษณุโลก ชาวบ้านต.หัวรอและต.ปากโทกที่อยู่ใกล้เคียงบ่อขยะเปิดใหม่ของเอกชนในม.11 ต.หัวรอ อ.เมืองพิษณุโลก ขอนายกทต.หัวรอปิดบ่อขยะชั่วคราว ทำประชาคมรับฟังความเห็นจากชาวบ้านใหม่ เริ่มส่งกลิ่น หวั่นผลกระทบระยะยาว มาประชุมร่วมกันหลายฝ่าย ได้ข้อสรุปชงผู้ว่าฯตั้งคณะกรรมการร่วมเข้าตรวจสอบ
เวลา 10.00 น. วันที่ 27 มกราคม 2562 ที่เทศบาลตำบลหัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก มีการนัดประชุมร่วมกันระหว่างชาวบ้านในต.ปากโทก และต.หัวรอ ที่ไม่เห็นด้วยกับการที่เทศบาลตำบลหัวรอ อนุญาตให้เอกชนมาเปิดบ่อทิ้งขยะแบบฝังกลบในพื้นที่ม. 11 ต.หัวรอ อ.เมืองพิษณุโลก กับนายกเทศมนตรีตำบลหัวรอ หัวข้อหลักในการประชุมวันนี้ ชาวบ้านที่อยู่ในรัศมีโดยรอบของบ่อขยะ ขอเรียกร้องให้มีการปิดการใช้บ่อขยะดังกล่าวเป็นการชั่วคราวไปก่อน และ ให้ดำเนินการจัดการประชาคมรับฟังความเห็นจากชาวบ้านอีกครั้ง ฝ่ายชาวบ้านมีประชาชนจาก ม.2 ม.7 ต.ปากโทก และ ม.11 ต.หัวรอ จำวประมาณ 100 คนนำโดยนายณัฏฐพล พงษ์วิทยานุกฤต ชาวบ้านในหมู่บ้านวีพีการ์เด้นโฮม ม.11 ต.หัวรอ ที่เป็นแกนนำในการคัดค้านการเปิดบ่อขยะในตำบลหัวรอมาตั้งแต่ปี 2561 ขณะที่ภาครัฐ
ขณะที่ภาครัฐ มีนายเจษฎา ลิ้มศรีตระกูล นายอำเภอเมืองพิษณุโลก พ.อ.นพดล รอดกลาง รองผบ.มณฑลทหารบกที่ 39 พิษณุโลก นายนพคุณ แถมพยัคฆ์ นายกเทศมนตรีหัวรอ และยังมีจนท.จากศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพิษณุโลก ท้องถิ่นจังหวัดพิษณุโลก สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิษณุโลก รวมถึงตัวแทนบริษัท ไทมีดี จำกัด ที่ได้รับอนุญาตจากทต.หัวรอ มาเปิดบ่อขยะแบบฝังกลบในเขต ม. 11 ต.หัวรอ การประชุมร่วมกันวันนี้ มีนายบรรจง ดีเหลือ เลขาธิการกกร. ( คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนจังหวัดพิษณุโลก ) มาในฐานะผู้สังเกตการณ์ และเป็นผู้ดำเนินการประชุม มีให้โอกาสทั้งภาคประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดบ่อขยะได้พูดถึงเหตุผล ที่ได้รับผลกระทบแล้วจากกลิ่นขยะที่เริ่มโชยเข้ามาในหมู่บ้านในช่วงช้าและช่วงค่ำ รวมถึงวิตกถึงผลกระทบระยะยาว ทั้งการเกิดไฟไหม้บ่อขยะ การปนเปื้อนน้ำในดิน และต่างสอบถามถึงใบอนุญาตที่ให้ดำเนินการออกมาถูกต้องหรือไม่ โดยตัวแทนภาครัฐ นายนพคุณ แถมพยัฒค์ นายกทต.หัวรอ จะเป็นผู้ชี้แจงหลัก ขณะที่ตัวแทนบรัษัท ไทมีดี จำกัด ก็ยืนยันว่าขั้นตอนการขออนุญาตเปิดบ่อขยะถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงมีการดูแลโดยสิ่งแวดล้อมภาค
สำหรับข้อเรียกร้องของภาคประชาชนที่ขอให้ปิดบ่อขยะแห่งนี้ไปชั่วคราวก่อนและให้เปิดดำเนินการจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนใหม่ นายนพคุณ แถมพยัคฆ์ นายกทต. หัวรอแจงว่าไม่สามารถทำได้ เพราะบริษัทเอกชนขอมาอย่างถูกต้อง และทต.หัวรอจะเดือดร้อนไม่มีที่ทิ้งขยะ ขณะที่การจัดประชาคม ขอให้รอดูช่วงฤดูฝนที่จะมาถึงก่อน ว่าจะมีผลกระทบรุนแรงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปในที่ประชุมร่วม 2 ชั่วโมงในวันนี้ ทั้งฝ่ายคัดค้าน และทต.หัวรอ ต่างเห็นด้วยในการให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพิษณุโลก ต้นเรื่องที่ประชาชนไปยื่นร้องเรียน นำเรื่องเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันที่ประกอบด้วยภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบ ภาคประชาชนที่คัดค้าน บริษัทเอกชน เพื่อจะร่วมพิจารณาร่วมกันในการลงพื้นที่ตรวจสอบบ่อขยะ ว่ามีมาตรการดำเนินการฝังกลบถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่ หลังจากเสร็จการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด ได้ไปสังเกตการณ์การฝังกลบ ที่บ่อฝังกลบขยะที่ม.11 ต.หัวรอร่วมกัน
นายณัฏฐพล พงษ์วิทยานุกฤต แกนนำชาวบ้านที่คัดค้านการเปิดบ่อขยะในพื้นที่ม.11 ต.หัวรอ เปิดเผยว่า พวกตนได้เริ่มรับรู้ว่าจะมีการมาใช้พื้นที่บริเวณใกล้บ่อดินในต.หัวรอตั้งแต่ปี 2561 แต่ไม่ทราบแน่ชัด กระทั่งวันที่ 18 สิงหาคม 2561 มีบริษัทวงษ์พาณิชย์ มาเปิดเวทีประชาคมชาวบ้านที่วัดสระโคล่ ต.หัวรอ ขณะที่ชาวบ้านที่อยู่บริเวณโดยรอบจุดที่ตั้งบ่อขยะ กลับไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร และไม่ได้ร่วมประชาคม กระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม 2561 จึงรวมตัวกันไปยื่นหนังสือคัดค้านการดำเนินการบ่อขยะกับศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพิษณุโลก แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า และตนก็ได้ยื่นร้องเรียนไปอีกหลายหน่วยงาน ทั้งทต.หัวรอ ศูนยดำรงธรรมมทบ. 39 และสำนักนายกรัฐมนตรี ขอให้ปิดบ่อขยะชั่วคราว และมีการทำประชาคมใหม กระทั่งบ่อขยะเปิดใช้วันที่ 7 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ผลกระทบต่าง ๆ ยังไม่เกิดชัดเจน แต่ชาวบ้านโดยรอบเริ่มได้กลิ่นโชยมาในภาคเช้าและภาคค่ำ และหวั่นผลกระทบระยะยาว ถ้าเกิดไฟไหม้บ่อขยะ เหมือนที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดมาแล้ว แม้ว่านายกเทศมนตรีหัวรอ จะอ้างว่าสามารถสั่งปิดได้ทันที แต่ผลกระทบก็ยังอยู่ชาวบ้านที่อยู่ในรัศมีรอบบ่อขยะ ก็ยังคงได้รับผลกระทบ สัปดาห์ที่ผ่านมา พวกตนเข้าไปดูที่บ่อขยะ ปรากฏว่าผ้ายางที่ปูในบ่อ ยังปูแค่เพียงครึ่งเดียวเอง
นายนพคุณ แถมพยัคฆ์ นายกเทศมนตรีหัวรอเปิดเผยว่า ตำบลหัวรอมีประชากรร่วม 27,000 คนมีโรงเรียน 5 แหง มีส่วนราชการและบ้านจัดสรรมากที่สุดในแต่ละวัน มีปริมาณขยะ ประมาณวันละ 37 ตัน ท้องถิ่นจำเป็นต้องจัดการขยะ ในอดีตต้องไปทิ้งในพื้นที่ตำบลท่าโพธิ์ ขณะที่เทศบาลนครพิษณุโลกมีปัญหาการจัดการขยะ ในอดีตเคยทิ้งที่ต.บึงกอก อ.บางระกำ แต่ปัจจุบันทิ้งที่อ.บางระกำไม่ได้ แล้วต้องไปทิ้งที่จังหวัดแพร่ เป็นวิกฤติของจังหวัดพิษณุโลก และก็ไม่สามารถที่จะไปทิ้งตำบลท่าโพธิ์ได้ ทำให้เกิดแนวคิดเทศบาลตำบลหัวรอเองไม่มีที่จัดการขยะอยู่แล้ว และที่อื่นที่ถูกสุขาภิบาลก็ไม่มี โดยเปิดบ่อขยะในตำบลหัวรอมีการเปิดบ่อขยะและเริ่มทิ้งขยะตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2561 การทิ้งก็มีการควบคุมโดยเทศบาลตำบลหัวรอและได้รับความแนะนำจากสิ่งแวดล้อมดูแลเป็นอย่างดี ทิ้งแล้วมีดินมากลบ ฉีดอีเอ็มทุกวัน ยังไม่มีผลกระทบที่ชัดเจน เพราะเราควบคุมอย่างใกล้ชิด แต่อาจจะขัดแย้งกับความกังวลของพี่น้องกับขยะในอนาคต บ่อขยะที่เกิดขึ้นในตำบลหัวรอนี้มีพื้นที่ 17 ไร่การออกแบบโดยวิศวกรสุขาภิบาลสามารถทิ้งได้ไม่เกิน 2 ปีก็จะเต็ม ในอนาคตจังหวัดพิษณุโลกสามารถที่จะกำจัดขยะได้ต้องทำเป็น RDF มีการคัดแยกและส่งขายให้กับโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าโดยบริษัทวงษ์พาณิชย์ ได้มาทำอธิบายให้กับประชาชนได้รับทราบ สำหรับข้อร้องเรียนความต้องการของประชาชนในวันนี้เทศบาลตำบลหัวรอไม่สามารถปิดบ่อขยะชั่วคราวได้ เนื่องจากกระบวนการของการขอใบอนุญาตถูกต้องทั้งหมดและผลกระทบก็ยังไม่เกิดขึ้นชัดเจน ไม่สามารถที่จะปิดชั่วคราวได้ตามคำร้องเรียน ถ้าไม่มีการจัดเก็บวันนี้แค่ 3 วันขยะก็จะล้น เพราะผู้ผลิตขยะในตำบลหัวรอค่อนข้างเยอะ ส่วนการขอให้มีการทำประชาคม ใบอนุญาตที่เทศบาลตำบลหัวรอออกให้บริษัทเอกชนเมื่อ 24 กันยายน 2561 ใบอนุญาตมีอายุ 1 ปีอยากจะขอเวลาพี่น้อง ฤดูฝนแล้วหากมีผลกระทบเกิดขึ้นในช่วงของการต่อใบอนุญาตเรามาทำประชาคมกันและชี้แจงกันถ้ามีเหตุมีผลกระทบจริงก็ไม่สามารถต่อใบอนุญาตได้
…………………………………………………………………..
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: