สงขลา- สะเดา เกษตรกรในอำเภอสะเดาสุดเศร้า หลังพบกล้วยที่ปลูกมากว่า 3 ปี ในเนื้อที่ 25 ไร่ติดโรคกล้วยเหี่ยวเฉาตายเกือบหมดทั้งแปลง พบระบาดหนักในหลาายหมู่บ้าน เจ้าของสวนต้องใช้รถไถ ไถทิ้งทำลายทั้งหมด เหตุยังไม่มีทางรักษา
2 ก.พ. 62 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า กล้วยที่ชาวสวนปลูกไว้ทั้งในแปลงปกติ และที่ปลูกแซมตามร่องในสวนยางพารา ได้เกิดเป็นโรคเหี่ยวเฉาตามเป็นจำนวนมาก และได้ลุกลามไปตามหมู่บ้านต่างๆ และตำบลใกล้เคียง ใน อ.สะเดา ได้รับความเสียหาย และทำให้ขาดรายได้เสริม ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักและโรคนี้ไม่สามารถรักษา หรือป้องกันได้นางสุจาริน รัตนพันธุ์ อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 40 /1 บ้านควนสระ ม.6 ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา เป็นเกษตรกรรายหนึ่งที่ประสบปัญหา เนื่องจากกล้วยที่ปลูกทุกชนิด เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยหอมทอง และกล้วยหิน ที่ปลูกไว้กว่า 50 ไร่ เกิดเป็นโรคเหี่ยวเฉาตาย แล้วประมาณ 25 ไร่ ซึ่งเป็นกล้วยที่มีอายุประมาณ 3 ปี กำลังอยู่ในช่วงที่ให้ผลผลิตนางสุจารินฯ บอกว่าช่วงแรกๆสังเกตเห็นใบกล้วย เริ่มมีขอบแห้งสีดำ และเหลือง จนยืนต้นเหี่ยวแห้งตายในที่สุด ซึ่งตนคิดว่ากล้วยคงเป็นโรคธรรมดาที่ชาวใต้เรียกว่า “กล้วยตายพราย ” แต่ไปๆมาๆกล้วยทั้งหมดได้มีอาการดังกล่าวเหมือนกันทั้งแปลง โดยเมื่ออาการหนักเต็มที่ใบก็จะแห้งทั้งหมด ในส่วนของต้นที่กำลังออกเครือ ออกผลๆก็จะแห้งดำ และจะหักพับ ส่วนลำต้นหากตัดออกดูจะพบว่าที่ด้านในตรงกลางจะเป็นเส้นสีดำ และมีกลิ่นเหม็นหลังจากที่กล้วยติดโรคระบาด ก็ได้ติดต่อไปทางเกษตรอำเภอ เพื่อขอคำปรึกษาแนะนำ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้มาตรวจดูที่สวน เบื้องต้นทราบเพียงว่าโรคดังกล่าวเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่ยังไม่มีการรักษาไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ หรือแม้แต่วิธีในการป้องกัน ตนเองเกรงว่าเชื้อโรคจะลุกลาม ไปยังกล้วยที่ปลูกไว้อีกแปลง จึงตัดสินใจว่าจ้างรถไถ ทำการไถ ล้มต้นกล้วยที่กำลังออกปลี ออกลูก แต่ติดโรค เพื่อทำลายทิ้งทั้งหมดซึ่งหลังจากที่ราคายางพาราตกต่ำ ก็หาปลูกพืชอื่นๆเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะกล้วย ที่ให้ผลตอบแทนเป็นอย่างดี การรักษาดูแลก็ไม่ยาก แต่ในวันนี้กล้วยก็กลับมาติดโรคระบาด เสียหาย รายได้ที่เคยมีก็กระทบไปด้วย ถึงตอนนี้แม้ว่าโรคดังกล่าวมันรักษาไม่ได้ แต่คิดว่าน่าจะพอมีวิธีป้องกันได้บ้าง ส่วนตัวเอง ที่ผ่านมามีเพื่อนๆเกษตรกร มาขอซื้อหน่อกล้วยเพื่อที่จะนำไปปลูก แต่ตนไม่ขายให้เนื่องจากเกรงว่าเชื้อจะไปแพร่กระจายที่สวนอื่นๆอีก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: