คณะกรรมการตรวจสอบโครงการ 9101 เดินหน้าตรวจสอบความผิดปกติการจัดซื้อปัจจัยการผลิตโครงการ9101 ฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ หลังชาวบ้านร้องการแจกจ่ายปัจจัยการผลิตไม่คุ้มเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาท พบบริษัทรับเหมาเจ้าเดียวกวาดเรียบ 23 ล้านบาท
จากกรณีชาวบ้านพบความผิดปกติการซื้อปัจจัยการผลิตโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดในหลายพื้นที่ของ จ.กาฬสินธุ์ราคาสูงกว่าท้องตลาด โดยเฉพาะ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด และ อ.นาคู อ.กุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง เขาวง และ อ.สมเด็จ เนื่องจากมีการจัดซื้อพันธุ์ปลาดุกขนาดเล็กไม่เหมาะสมกับราคา อีกทั้งยังมีหัวอาหารปลาดุก และปุ๋ยชีวภาพมีราคาแพงกว่าท้องตลาด จนชาวบ้านต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าร้องทุกข์กับพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรมเรียกร้องให้ตรวจสอบ
ล่าสุด พ.อ.มานพ ไขขุนทด รองผอ.รมน.กาฬสินธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม จ.กาฬสินธุ์ เข้าตรวจสอบเอกสารการจัดซื้อปัจจัยการผลิตโครงการ 9101 ในพื้นที่ อ.กุฉินารายณ์ กับนายบุญเยี่ยม พรหมทองแก้ว เกษตรอำเภอกุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ หลังจากก่อนหน้านี้มีชาวบ้านร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมอำเภอกุฉินารายณ์ เพื่อให้ตรวจสอบ เนื่องจากชาวบ้านระบุว่าการจัดส่งปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะพันธุ์ปลาดุก ปลานิล ปลาตะเพียนให้กับชาวบ้านนั้นมีขนาดตัวเล็ก ไม่เหมาะสมกับราคา ส่วนหัวอาหาร พันธุ์ข้าว และปุ๋ย ก็มีราคาแพงกว่าท้องตลาด
พ.อ.มานพ ไขขุนทด รองผอ.รมน.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีการดำเนินโครงการดังกล่าวในพื้นที่อำเภอกุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ มีทั้งหมด 39 โครงการ 18 ชุมชน งบประมาณ 23,135,000 บาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นโครงการเลี้ยงปลาดุกและปลานิลมากถึง 21 โครงการ รองลงมาคือปลูกพืชแต่ที่น่าผิดสังเกตพบว่าคู่สัญญาที่เป็นบริษัทรับเหมาที่ทำสัญญาซื้อขายจัดส่งปัจจัยการผลิตให้กับชาวบ้านทั้งหมด 39 โครงการนั้น กลับเป็นบริษัทรับเหมารายเดียว และมีบริษัทรับเหมาที่ส่งเอกสารราคามาประกบก็เป็นรายเดียวทั้ง 39 โครงการ เจ้าหน้าที่จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุใดจึงมีบริษัทรายเดียวรับงานจัดส่งปัจจัยทั้งหมด และมีบริษัทส่งราคามาแข่งขัน เหมือนกับการยื่นซองประกบ เพื่อให้เอกสารถูกต้องเพียงรายเดียว
พ.อ.มานพ กล่าวอีกว่า เรื่องดังกล่าวคณะกรรมการและชาวบ้านจึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นการล็อกสเปคบริษัทรับเหมา เพื่อมาส่งปัจจัยการผลิต และอาจจะเป็นการทำให้ไม่มีการแข่งขันราคากันจนเป็นสาเหตุทำให้ราคาปัจจัยการผลิตสูงกว่าท้องตลาดหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการจะเข้าตรวจสอบราคาตามท้องตลาดอย่างละเอียด เพื่อเปรียบเทียบกับราคาปัจจัยการผลิตที่นำมาส่งว่าสาเหตุใดที่ราคาราแพง และชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมนั้นได้รับแจกปัจจัยการผลิตคุ้มค่ากับเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทหรือไม่ โดยเฉพาะพันธุ์ปลาดุก ปลานิล ปลาตะเพียนที่มีการแจกจ่ายมากกว่า 7 ล้านตัว ในราคาตัวละ 2 บาท เพราะชาวบ้านระบุว่าเป็นปลาตัวเล็กไม่เหมาะสมกับราคา เนื่องจากมีการกำหนดสเปกปลาดุกไว้ขนาด 5-7ซม.ราคาตัวละ 2 บาท แต่เท่าที่ทราบจากราคาตามท้องตลาดหรือฟาร์มปลานั้นปลาดุกขนาด 5-7 ซม.ราคาอยู่ที่ตัวละเฉลี่ยประมาณ 70 สตางค์และไม่เกิน 1 บาท อีกทั้งหากเปรียบเทียบกับพื้นที่อำเภออื่นๆที่มีการแจกจ่ายพันธุ์ปลาดุกเช่นกัน ซึ่งมีการจัดส่งในราคาตัวละ 2 บาทเท่ากัน แต่ทำไมได้ปลาขนาดตัวโตถึง 7-10 ซม.รวมทั้งราคาของหัวอาหารปลาดุกในพื้นที่ อ.กุฉินารายณ์ที่เบื้องต้นทราบว่ามีการจัดส่งในราคากระสอบละ 600 บาทอีกด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: