วันที่ 17 ม.ค.61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 10.00 น. นายวรวิทย์ พิมพนิตย์ นายอำเภอบ้านแพง จ.นครพนม พ.อ.สถาพร บุญชู พ.อ.อภิชาต รานอก เสนาธิการ มณฑลทหารบกที่ 210(มทบ.210) นายพนม สมอุดม เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอบ้านแพง พ.ต.ท.วศิน พิมพะวงษ์ รอง ผกก.ป.สภ.บ้านแพง นายพรชัย ไชยนาน นายก อบต.หนองแวง และ นายไชยวุฒิ วัชเนทร์สุนทร เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมฯ ร่วมประชุมชี้แจงราษฎร เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ในพื้นที่ทุ่งหนองทับหลวง ณ ห้องประชุม อบต.หนองแวง มีชาวบ้านจาก 4 ตำบล ที่บุกรุกพื้นที่ 45 ราย เข้าลงชื่อร่วมรับฟังการชี้แจง 34 ราย ขณะเริ่มเปิดการประชุมมีราษฎรรายงานตัวเป็นผู้บุกรุกเพิ่มอีก 5 ราย รวมเป็น 50 ราย
นายวรวิทย์ฯกล่าวว่า ทุ่งหนองทับหลวงเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตั้งแต่ปี 2519 เดิมเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ใช้ประโยชน์ร่วมกัน มีเนื้อที่ประมาณ 4,479 ไร่ จากข้อมูลสำรวจเบื้องต้นพบว่าถูกราษฎรแผ้วถางบุกรุกประมาณ 500 ไร่ โดยใช้ประกอบการเกษตร เช่น ทำนา สวนยางพารา และเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ
ช่วงวันที่ 21 ส.ค. 2557 นายเชวงศักดิ์ พลเยี่ยม เป็นนายอำเภอฯ ตรวจพบการบุกรุกเพิ่ม จนมีปัญหาระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับราษฎร ทาง อบต.หนองแวง จึงยื่นขอสอบเขต เพื่อลดปัญหาการขัดแย้ง ปรากฏว่ามีผู้บุกรุกจำนวนทั้งสิ้น 45 ราย แบ่งออกเป็น ต.หนองแวง 31 ราย,ต.สามผง 9 ราย,ต.หาดแพง อ.ศรีสงคราม 4 ราย,และ ต.บ้านเอื้อง อ.ศรีสงคราม 1 ราย ซึ่งชาวบ้านยอมรับว่าบุกรุกที่ดินดังกล่าวจริง พร้อมลงบันทึกข้อตกลงยินยอมออกจากพื้นที่ ภายใน 120 วัน โดยสัญญาว่าจะออกหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ จนเวลาล่วงเลยมาถึง วันที่ 23 พ.ย.60 ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ ที่ดิน ได้ออกเดินตรวจสอบพบชาวบ้านยังคงอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว มีร่องรอยการทำมาหากินกระจายเป็นวงกว้าง จึงสอบถามและชี้แจงรายละเอียด พร้อมจะมีหนังสือนัดมาประชุมร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายหลังยืดเยื้อมานานแรมปี
นายวรวิทย์ฯกล่าวต่อว่า การเชิญเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมครั้งนี้ เพื่อทำความเข้าใจระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ เพราะไม่ต้องการดำเนินคดีกับราษฎร จึงต้องเชิญมาพูดคุยกัน
นายพนม สมอุดม เจ้าพนักงานที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2557 มีราษฎรในพื้นที่คนหนึ่งยื่นฟ้องต่อศาล โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ราษฎร จึงมีการเรียกขอหลักฐานการครอบครองสิทธิ์ ปรากฎว่าไม่มีชาวบ้านผู้ใดมีหลักฐานแม้แต่คนเดียว จึงถอนฟ้องในเวลาต่อมา ทางด้าน พ.อ.สถาพร บุญชู เสธ.ฯ เปิดเผยว่าบริเวณที่บุกรุกนั้น สำรวจแล้วพบเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ หากไม่อนุรักษ์อนาคตลูกหลานเราจะอยู่กันอย่างไร ผู้ที่เดือดร้อนคงหนีไปพ้นราษฎรในพื้นที่ที่ต้องขาดแคลนน้ำ เนื่องจากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล จึงต้องสงวนพื้นที่ชุ่มน้ำนี้ไว้ให้มีน้ำใช้ในหน้าแล้ง
นายปรีชา ไชยนาน ในฐานะตัวแทนชาวบ้าน ยอมรับว่าบุกรุกกันมาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่ แต่หากต้องให้ย้ายออกทันทีคงมีปัญหาเพราะแต่ละครอบครัว ล้วนมีฐานะยากจน นายวรวิทย์ฯจึงให้ทุกคนยกมือแสดงตน เพื่อนำรายชื่อของแต่ละคนไปตรวจสอบกับข้อมูลความจำเป็นขั้นพื้นฐาน(จปฐ.) หากพบว่ายากจนจริงก็จะหามาตรการช่วยเหลือเยียวยาตามขั้นตอน
ผลการประชุมในเบื้องต้น เจ้าหน้าที่เห็นเป็นแนวทางเดียวกัน คืออันดับแรกให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ห้ามทำนา หรือคอกปศุสัตว์ต่างๆ ส่วนกรณีสวนยางพารา ให้ผู้นำชุมชน หมู่บ้าน เปิดประชาคมในแต่ละตำบลว่าจะเสนอแนวทางอย่างไร แล้วรายงานผลให้ทราบโดยด่วน หลังตกลงกันเรียบร้อยเจ้าหน้าที่และชาวบ้านถ่ายภาพร่วมกัน ก่อนจะแยกย้ายกันกลับ ซึ่งถือว่าการทวงคืนพื้นป่าที่ถูกราษฎรบุกรุกนานกว่า 40 ปีจบลงด้วยดีทั้งสองฝ่าย
ข่าวน่าสนใจ:
- นครพนม ทหารพรานสนธิกำลังยึดยาบ้าเกือบ 2 แสนเม็ด! ตรวจพบฝิ่นดิบกว่า 3 กิโลกรัม ริมแม่น้ำโขง
- ชาวนาเผยต้นทุนการทำนาสูงแถมข้าวยังคงราคาตกต่ำอยากให้ทางรัฐบาลช่วยเหลือ
- ปิดตำนานนักเขียน "ตรี อภิรุม" ศิลปินแห่งชาติฯ เจ้าของผลงาน "นาคี"
- ขอนแก่นจัดงานแถลงข่าว เทศกาลสุดออนซอนแห่งปี! “PlaraMorlum” Isan to the World ระหว่างวันที่ 26-29 ธันวาคม 2567 ณ ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: