พระนครศรีอยุธยา – เมื่อร้อยปีก่อนพบหลักศิลาจารึกที่อำเภอนครหลวง วันนี้พ่อเมืองพร้อมข้าราชการร่วมรำลึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช วอนให้เด็กรุ่นหลังรักษาภาษาไทย
วันที่ 17 มกราคม ที่หอประชุมเล็ก มทร.สุวรรณภูมิ ศูนย์พระนครศรีอยุธย หันตรา นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เหล่ากาชาดจังหวัด ข้าราชการพลเรือน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วน ร่วมพิธีวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณโดยผู้ร่วมงานได้ร่วมกันวางพานพุ่มดอกไม้สดถวายราชสักการะต่อหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
หลังจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้นำผู้ร่วมงานร่วมกล่าวราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเน้นย้ำให้ทุกคนรักและหวงแหนภาษาไทย
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม2553 ให้วันที่ 17มกราคมของทุกปี เป็นวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และเป็นวันรัฐพิธี และไม่ถือเป็นวันหยุด เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่ทรงเป็นนักการทหาร นักปกครอง นักการฑูต และนักปราชญ์ที่กล้าหาญ
เห็นได้จากการกระทำยุทธหัตถีกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดและทรงมีพระเมตตา เอาพระทัยใส่ในทุกข์สุขของประชาชนให้ประชาชนได้ประกอบอาชีพอย่างเสรีทรงยกเลิกจังกอบ ให้กรรมสิทธิ์ที่ดินทำกินแก่ประชาชน ทรงกระชับมิตรกับดินแดนต่างๆ ทั้งที่ใกล้เคียงและห่างไกล ทรงให้ความสำคัญทางพระพุทธศาสนาสนับสนุนการเผยแพร่หลักธรรมและสร้างศาสนวัตถุ
และที่สำคัญได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยหรือลายสือไทย ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงความเป็นอารยะชนของอาณาจักรสุโขทัย ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงค้นพบศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2376 ในรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2450 พระยาโบราณราชธานินทร (พร เดชะคุปต์) ได้พบศิลาจารึก (หลักที่ 5 ) ที่วัดใหม่ (ปราสาททอง) อำเภอนครหลวง แขวงจังหวัดอยุธยา หลักหนึ่ง แต่มีรอยถูกลบ มีจนตัวอักษรลบเลือนโดยมาก แต่ยังมีเหลือพอทราบได้ว่าเป็นจารึกกรุงสุโขทัย
สืบถามว่า ใครได้มาแต่เมื่อใด ก็หาได้ความไม่ พระยาโบราณฯจึงได้ย้ายมารักษาไว้ในอยุธยาพิพิธภัณฑ์สถาน กรมพระยาดำรงราชนุภาพ เสด็จขึ้นไปทอดพระเนตรทรงพยายามอ่านหนังสือที่ยังเหลืออยู่ ได้ความว่าเป็นศิลาจารึก ของพระธรรมราชาลิไทยคู่กับหลักภาษาเขมร ซึ่งอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
คือจารึกความอย่างเดียวกัน เป็นภาษาเขมรหนึ่งหลัก ภาษาไทยหนึ่งหลักเดิมคงตั้งคู่กันไว้ จึงรับสั่งให้ส่งหลักศิลาจารึกนั้นลงไปไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วยกันกับหลักภาษาเขมร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้มาจากเมืองสุโขทัยศิลาจารึก ทั้ง 3 หลักนั้นอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนย้ายมายังหอพระสมุด เมื่อ พ.ศ. 2467
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: