X

ศธ.นำประชากรวัยเรียนนอกระบบกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา 

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หารือกับ 5 กระทรวงหลัก และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนนำประชากรวัยเรียนที่ไม่ได้รับการศึกษาและกลุ่มออกกลางคัน ให้เข้ากลับมาเรียนในสถานศึกษาทุกสังกัด ทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน เป็นการย้ำถึงนโยบายการศึกษาของรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ให้การศึกษาเป็นส่วนสำคัญนำพาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งอย่างยั่งยืน

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษากลุ่มประชากรวัยเรียน อายุ 3-18 ปี ที่ไม่เคยได้รับการศึกษา กลุ่มออกกลางคัน ทั้งเด็กปกติและมีปัญหาความบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา จึงได้เริ่มวางแผนดำเนินการแก้ปัญหา โดยเริ่มต้นในพื้นที่พิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 ซึ่งใช้กลไกการบูรณาการและทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา หน่วยงานทางการศึกษา และสถานศึกษาทุกสังกัด เพื่อตรวจสอบจำนวนผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษา จัดทำข้อมูลรายบุคคล พร้อมลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน พร้อมวางแผนให้การช่วยเหลือไปจนถึงการส่งต่อเข้าเรียนในสถานศึกษาทุกสังกัด ทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน

“เคาะประตูบ้าน” ดึงกลับเข้าระบบการศึกษา 85% พร้อมขยายผลทั่วประเทศ

ผลการดำเนินงานในห้วง 1 ปีที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก สามารถช่วยเหลือให้ประชากรวัยเรียนในพื้นที่ จชต.กลับมาเรียนจำนวน 38,501 คน คิดเป็นร้อยละ 85.01 ซึ่งคาดว่าในเวลา 2-3 เดือนก่อนเปิดเรียนปีการศึกษา 2562 นี้ จะขยายผลช่วยเหลือให้กลุ่มเป้าหมายกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ทั้งหมด

ต่อมา ศธ.ได้ขยายความช่วยเหลือเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาของประชากรวัยเรียน ในพื้นที่อื่นทั่วประเทศ โดยในปี 2561 ได้ทำการสำรวจประชากรวัยเรียน อายุ 3-18 ปีที่ไม่ได้รับการศึกษา พบว่ามีจำนวน 470,591 คน และสามารถช่วยเหลือให้ได้รับการศึกษาแล้ว 49,434 คน คิดเป็นร้อยละ 9.62 (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2562) ยังคงเหลืออีกจำนวน 464,385 คน ซึ่งอยู่ระหว่างช่วยเหลือให้ได้รับการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ ให้มากที่สุด

ทำงานเชิงบูรณาการ ตั้ง คกก.ส่วนกลางและระดับพื้นที่

สำหรับการประชุมครั้งนี้ ได้เชิญผู้บริหารองค์กรหลัก ศธ. มาร่วมหารือกับผู้แทนจาก 5 กระทรวง เพื่อสร้างความร่วมมือและบูรณาการข้อมูลร่วมกัน ในรูปแบบของคณะกรรมการ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ จนถึงตำบล โดยมีองค์ประกอบของผู้แทนหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ตลอดจนผู้นำศาสนาในแต่ละระดับทั้ง 5 กระทรวง ร่วมขับเคลื่อนรณรงค์ส่งเสริม ตลอดจนเพิ่มโอกาสให้ประชากรวัยเรียน (3 ขวบ-18 ปี) ที่อยู่นอกระบบการศึกษาได้กลับเข้ามาเรียนมากขึ้น

ย้ำความสำคัญข้อมูลประชากรวัยเรียน ต้องประสานแลกเปลี่ยนกัน

ข้อมูลประชากรวัยเรียนและการเข้าถึงการศึกษาที่แต่ละกระทรวงมีอยู่ เช่น ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ของกระทรวงมหาดไทย ในส่วนของข้อมูลระดับครัวเรือนในด้านการศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำสะท้อนคุณภาพชีวิต
การตรวจสอบ ติดตามและยืนยันตัวตนของประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา โดยสำนักงาน กศน. ส่งมอบข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้ให้การช่วยเหลือเพื่อเข้าถึงการศึกษาต่อไป

กรอบแนวทางและการพัฒนาโปรแกรมการจัดเก็บข้อมูล และการติดตามการดำเนินงาน การจัดเก็บและตรวจสอบข้อมูลนักเรียนสามัญศึกษา ของการศึกษาเอกชนที่อยู่นอกระบบ การจัดทำโปรแกรมข้อมูลกลุ่มเป้าหมายประชากรวัยเรียน จำแนกเป็นรายบุคคล หมู่บ้าน และอำเภอ โดยการประสานงานร่วมกันระหว่างเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา กับส่วนกลาง
นำข้อมูลถ่ายทอดเชื่อมโยงกับ คกก.ทุกระดับในการขับเคลื่อน

จากนั้นนำข้อมูลจากทุกกระทรวงที่ได้มา เพื่อเชื่อมโยงและถ่ายทอดสู่คณะกรรมการทุกระดับ โดยคณะกรรมการระดับจังหวัด มี ผวจ.เป็นประธาน, คณะกรรมการระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นประธาน, คณะกรรมการระดับตำบล มีปลัดอำเภอเป็นประธาน เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายเห็นความสำคัญของการศึกษา และพร้อมที่จะกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

ประชาชนมีการศึกษา ส่งผลถึงคุณภาพชีวิต มีอาชีพ

พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า แนวทางการบูรณาการความร่วมมือ การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาของประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) ของรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานทำงานเชิงบูรณาการร่วมกันอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคม เพื่อให้ประชากรที่ได้รับการศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกิดการเรียนรู้ และสามารถประกอบอาชีพได้

นำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา งานโดดเด่นในเวทีอาเซียน 2562

ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 การนำผู้เรียนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาจึงเป็นงานสำคัญของ ศธ.ที่จะสร้างความโดดเด่นในเวทีอาเซียน ดังเช่นที่นายอิชิโร มิยาซาวา ผู้แทน UNESCO ได้แสดงความชื่นชมว่าประเทศไทยเป็นผู้นำภูมิภาคอาเซียนในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เริ่มจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้พร้อมขยายผลดึงเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาทั่วประเทศให้กลับเข้าสู่ระบบได้มากที่สุด ภายใต้หลักการ “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน