กาฬสินธุ์-ทุกข์ซ้ำชาวนาเมืองน้ำดำได้รับแจกจ่ายพันธุ์ปลาดุกขนาดเล็ก ไม่กินอาหารเลี้ยงไม่โตตายเกลี้ยง โอดไม่คุ้มเงินช่วยเหลือ 5 พันบาท วอนภาครัฐเยียวยา และ ร้องปปท. สตง.ร่วมตรวจสอบกับคณะกรรมการระดับจังหวัด
จากกรณีชาวบ้านพบความผิดปกติ การซื้อปัจจัยการผลิตโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดในหลายพื้นที่ของ จ.กาฬสินธุ์ ราคาสูงกว่าท้องตลาด โดยเฉพาะ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด อ.นาคู อ.กุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง อ.เขาวง และ อ.สมเด็จ เนื่องจากมีการจัดซื้อปัจจัยการผลิตราคาแพงกว่าท้องตลาด จนชาวบ้านต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าร้องทุกข์กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรมเรียกร้องให้ตรวจสอบ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มกราคม 61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านใน ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก หลังจากนาข้าวประสบภัยน้ำท่วมได้รับความเสียหาย และปัจจุบันได้รับการแจกจ่ายพันธุ์ปลาดุก ภายใต้โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด
ปลาดุกที่เลี้ยงไว้ในกระชังกำลังทยอยตายลงเรื่อยๆ เนื่องจากพันธุ์ปลาที่ได้รับแจกนั้นมีขนาดเล็กเพียง 3-4 ซม. เป็นปลาอนุบาล และผสม ไม่กินอาหาร อีกทั้งหัวอาหารที่ได้รับแจกคนละ 2 กระสอบ ก็เป็นหัวอาหารเม็ดใหญ่สำหรับปลาโต ซึ่งเป็นหัวอาหารผิดประเภท ไม่เหมะสมกับเงินช่วยเหลือของรัฐบาลรายละ 5,000 บาท จึงทำให้ปลาตายเกือบหมดกระชัง
นางเคย ศรีซุบล่วง อายุ 58 ปี ชาวบ้านมะนาว ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาชาวบ้านใน อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ประสบปัญหาน้ำป่าไหลหลากทำให้น้ำท่วมนาข้าวเสียหายได้รับความเดือดร้อนไปตามๆกัน แต่พอหลังน้ำลดทราบว่าจะได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นจากรัฐบาล ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามโครงการ 9101 ฟื้นฟูน้ำท่วม โดยมีกระทรวงเกษตรฯ เป็นหน่วยงานหลัก เพื่อให้มีอาหารและมีรายได้ในครัวเรือน ซึ่งทุกคนต่างดีใจ แม้จะไม่ได้รับเงินสดกับมือ แต่เป็นพันธุ์ปลาดุกก็ตาม
นางเคย กล่าวอีกว่า พอเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการนำพันธ์ปลาดุกและหัวอาหาร พร้อมทั้งกระชังมาให้ เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคม 2560 กลับสร้างความผิดหวัง สร้างความทุกข์และสร้างภาระให้กับชาวบ้านมากกว่าเดิม เนื่องจากพันธุ์ปลาดุกที่นำมาแจกจ่ายช่วยเหลือชาวบ้านทั้ง ต.เหล่าใหญ่นั้น เป็นปลาขนาดเล็ก
เรียกได้ว่าเป็นปลาอนุบาลแรกเกิด เป็นปลาตัวขนาดเพียง 3-4 ซม.ซึ่งได้คนละประมาณ 800 ตัว อีกทั้งหัวอาหารที่ได้รับแจกรายละ 2 กระสอบยังเป็นหัวอาหารผิดประเภท เพราะเป็นเม็ดโตสำหรับปลาตัวใหญ่ จึงทำให้ปลาที่ชาวบ้านนำมาเลี้ยงไว้นานกว่า 1 เดือนแล้วตั้งแต่รับแจกไม่โตและทยอยตายลงเรื่อยๆทุกวัน เฉลี่ยวันละ 20-30 ตัว
จนปัจจุบันปลาที่ได้รับแจกมาคนละประมาณ 800 ตัวแต่ล่ะรายเหลือไม่ถึง 200 ตัว บางคนปลาตายทั้งหมด เหลือเพียงกระชังเปล่า เพราะปลาตัวเล็กไม่ได้ขนาด ไม่กินอาหาร ซึ่งการดำเนินการ ครั้งนี้เท่ากับเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ และสร้างภาระให้กับชาวบ้านที่ประสบภัยมากกว่าเดิม
ด้านนายประจวบ นาแสวง อายุ 50 ปี หนึ่งในเกษตรกรที่ได้รับพันธุ์ปลาใน ต.เหล่าใหญ่ กล่าวว่า ปัญหาปลาที่ได้รับแจก ไม่เพียงบ้านมะนาวเท่านั้นที่เป็นปลาตัวเล็กและหัวอาหารจำนวนน้อย แต่ปัญหานี้ เท่าที่ทราบเป็นทั้งตำบล ปลาที่เลี้ยงไว้ทยอยตายจนเกือบหมดกระชังแล้ว เพราะปลาตัวเล็กมาก
แม้ชาวบ้านเลี้ยงไว้ อย่างทะนุถนอมมานานกว่า 1 เดือนแล้วก็ไม่โตสักทีแถมยังตายลงทุกวันใกล้จะหมดกระชังแล้ว จึงอยากขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เข้ามาเยียวยาช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมที่ได้รับการแจกจ่ายพันธุ์ปลาในครั้งนี้ด้วย
รวมทั้งเข้ามาตรวจสอบการแจกจ่ายพันธุ์ปลาว่า ทำไมไม่ได้มาตรฐานเพราะจากการคำนวณ ราคาปลาดุก อาหารและกระชังแล้วไม่น่าเกิน 2800 บาท แต่เงินช่วยเหลือชาวบ้านนั้นมีจำนวน 5,000 บาท ซึ่งไม่เหมาะสมเลย ชาวบ้านจึงเรียกร้องให้หน่วยงานด้านการตรวจสอบทั้ง ปปท.และ สตง.เข้ามาตรวจสอบร่วมกับคณะกรรมการของจังหวัด เพื่อที่จะ ช่วยกันทำให้โครงการนี้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: