หลังปิดการใช้งานมานานกว่า 2 ปี เพื่อก่อสร้างรถไฟทางคู่ สถานีรถไฟขอนแก่นเตรียมเปิดใช้อย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้า รองรับการพัฒนาระบบรางของประเทศ
วันนี้นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เดินทางไปตรวจการจัดเตรียมพื้นที่และการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์โดยรอบสถานีรถไฟขอนแก่น ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 13 มีนาคมที่จะถึงนี้ หลังจากที่สถานีแห่งนี้ได้ปิดให้บริการเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2560 เพื่อก่อสร้างสถานีรถไฟแห่งใหม่ รองรับโครงการรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงในอนาคต โดยได้ย้ายไปใช้สถานีชั่วคราว ที่บริเวณชุมชนบ้านเหล่านาดี 12 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองขอนแก่น ห่างจากสถานีรถไฟขอนแก่นหลังเก่า ประมาณ 3 กิโลเมตร
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทยระยะเร่งด่วน พ. ศ. 2553 – 2558 รวมถึงการพัฒนารถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 873 กิโลเมตรใน 6 เส้นทางสำคัญ ซึ่ง 1 ใน 6 เส้นทางนั้นคือ ชุมทางจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตร ขณะนี้ได้ก่อสร้างเสร็จแล้ว ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่าหกหมื่นล้านบาท โครงการรถไฟทางคู่ได้มีการปรับปรุงระบบการเดินรถและการจัดวางตำแหน่งของรางใหม่ พร้อมกำหนดตำแหน่งที่ตั้งและการออกแบบอาคารสถานีรถไฟใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับระบบการเดินรถดังกล่าว โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ มีความสวยงาม การจัดพื้นที่ใช้สอย และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบน้อยที่สุด
โดยมีแนวคิดในการออกแบบสถานีรถไฟ คือ
• สถาปัตยกรรมโดดเด่นสื่อความเป็นอีสาน
• ออกแบบจัดวางพื้นที่ใช้สอยของสถานีทุกแห่งให้มีรูปแบบเดียวกันเพื่อให้ง่ายแก่การจดจำ
• มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
• อาคารแบบโถงสูงช่วยระบายอากาศให้ลมพัดผ่านถ่ายเท
• ตกแต่งภูมิทัศน์โดยเลือกปลูกพันธุ์พืชที่ดูดซับมลพิษและฝุ่นละอองได้ดี
โดยมีทางยกระดับรถไฟที่มีความยาวกว่า 5 กิโลเมตร หรือรถไฟลอยฟ้า 2 สถานี คือที่สถานีรถไฟบ้านไผ่ และสถานีรถไฟขอนแก่น และมีการทดลองให้รถไฟโดยสารและรถไฟบรรทุกสินค้าวิ่งผ่านแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า รถไฟลอยฟ้า นับเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของสถานีรถไฟขอนแก่น
สำหรับการก่อสร้างสถานีรถไฟขอนแก่น เป็นสถานีที่ยกระดับสูงจากพื้นประมาณ 14 เมตร มีชานชาลาผู้โดยสาร 4 ชานชาลา พร้อมทั้งมีสถานีในการกระจายสินค้า ตัวสถานีมี 2 ชั้น ชั้นล่างประกอบด้วย ห้องจำหน่ายตั๋ว พื้นที่เชิงพาณิชย์ และห้องควบคุมการเดินรถที่มีระบบที่ทันสมัย สามารถสั่งการและติดตาม คำนวณการเดินรถในเส้นทาง ส่วนชั้นที่ 2 จะเป็นชานชาลาสำหรับผู้โดยสาร นอกจากจะใช้งานในรูปแบบเป็นรถไฟทางคู่แล้ว โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางจิระ-ขอนแก่น ได้เตรียมพื้นที่เพื่อรองรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในอนาคตอีกด้วย ซึ่งหากโครงการนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น จาก 3 ชั่วโมง เหลือ 1 ชั่วโมง 20 นาที ช่วยลดเวลาการขนส่งสินค้าจากเดิม 6 ชั่วโมง เหลือเพียง 2 ชั่วโมง 30 นาที สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านคนต่อปี เป็น 10 ล้านคนต่อปี.
ด้าน ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้การก่อสร้างสถานีรถไฟยกระดับของ จ.ขอนแก่น เกือบจะเสร็จสมบูรณ์ 100% ในเส้นทางรถไฟทางคู่ 187 กม. มีจำนวนสถานีรวมทั้งสิ้น 19 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นสถานีลอยฟ้า 2 แห่งคือที่สถานีบ้านไผ่ ซึ่งได้เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา และสถานีรถไฟขอนแก่น ซึ่งจะมีพิธีเปิดสถานีในเร็วๆ นี้ ซึ่งการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งนี้ เพราะการคมนาคมขนส่งทางรางเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีบทบาทสำคัญ ในการยกระดับด้านโลจิสติกส์ของประเทศ การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางรางโดยเชื่อมโยงโครงข่ายและการบริหารจัดการการขนส่งผู้โดยสาร สินค้า และบริการ ที่สะดวก ปลอดภัยทั้งในพื้นที่ชนบทพื้นที่เมืองและระหว่างประเทศ ระบบรถไฟทางคู่จึงเป็นการเพิ่มศักยภาพระบบโลจิสติกส์ของภาคอีสานและส่งเสริมระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ข้อมูล : สนง.ปชส.จ.ขอนแก่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: