อุบลราชธานี – นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ลงพื้นที่ชุมชน จัดกิจกรรมจำลองการเลือกตั้ง 2562 ให้กับเยาวชนโรงเรียนบ้านโนนแดง ต.โพธิ์ใหญ่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ผ่านกิจกรรมสร้างความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและเข้าใจถึงการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
โดยมีการแสดงบทบาทเป็นนักการเมืองที่เสนอนโยบายแข่งขันกัน คณะกรรมการการเลือกตั้งทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้เสรี โปร่งใสและยุติธรรม และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 จำนวน 105 คน เข้าร่วมกิจกรรม เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562
นางสาวกาญจนา บุญปก นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวถึงที่มาว่า กิจกรรมจำลองการเลือกตั้ง 2562 ดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนและส่งเสริมการเรียนรู้โรงเรียนในท้องถิ่น ที่ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนผ่านกลุ่มนักศึกษา ซึ่งพวกเราริเริ่มขึ้นจากการหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษา ในรายวิชาสัมมนารัฐประศาสนศาสตร์ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต ซึ่งมี ผศ.ดร.อรุณี สัณฐิติวณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบรายวิชาและเป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการ เมื่อนำโครงการไปเสนอต่อ นางสุดาวรรณ ไขแสง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโนนแดง จึงอยากให้เกิดกิจกรรมจริง กลุ่มนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ จึงมีโอกาสลงพื้นที่จัดกิจกรรมจำลองการเลือกตั้ง ซึ่งนอกจากจะให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองในระบบประชาธิปไตย ความสำคัญของการเลือกตั้ง ยังมีกิจกรรมที่ให้นักเรียนมีส่วนร่วม ผ่านการแสดงบทบาทเป็นนักการเมืองที่เสนอนโยบายแข่งขันกัน คณะกรรมการการเลือกตั้งทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้เสรี โปร่งใสและยุติธรรม และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งนักเรียนทุกคนต่างตื่นเต้นและให้ความสนใจกับกิจกรรมในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง
ด้าน นางสาวปรางค์ทิพย์ เสาศิริ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ผู้ร่วมรับผิดชอบโครงการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการเลือกหัวข้อกิจกรรม พวกเราก็คิดว่าควรเลือกเรื่องที่เยาวชนสนใจ ซึ่งการเลือกตั้งกำลังเป็นกระแสในช่วงนี้และเป็นเรื่องใกล้ตัวพวกเราทุกคน จึงใช้กิจกรรมจำลองการเลือกตั้งเป็นวิธีการในการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตย หลังกิจกรรมเยาวชนก็สามารถเอาความรู้ที่ได้รับ ไปเล่าต่อให้พ่อแม่หรือญาติพี่น้องได้ ทำให้สามารถขยายความรู้ไปนอกห้องเรียนได้มากขึ้นอีกด้วย
นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในการให้บริการวิชาการแก่ชุมชน ที่เกิดจากความคิดของนักศึกษาที่เล็งเห็นความสำคัญของเด็กและเยาวชนในการปลูกฝังจิตสำนึกให้นักเรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิและเข้าใจถึงระบอบการปกครองไทยแบบประชาธิปไตย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไปในอนาคต
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: