นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชี้กรมศิลปากรขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน ก่อนเข้ามาบูรณะกำแพงเมืองเก่าฉะเชิงเทรา ส่วนการบูรณะนั้นเป็นไปตามหลักวิชาการ ขณะซากโบราณบางส่วนที่ถูกลอกออกไปนั้นก็เพื่อความคงทนถาวร เผยเป็นกำแพงเมืองทางยุทธศาสตร์ในสมัย ร.3 เพื่อทำการยุทธกับญวน
วันที่ 24 พ.ย.60 นายอัฐพงษ์ บุญสร้าง อายุ 32 ปี นักประวัติศาสตร์และนักอนุรักษ์เข็มพระราชทานนักอนุรักษ์ดีเด่น ปี พ.ศ.2559 (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) อยู่บ้านเลขที่ 18 ซ.2 ถ.ระเบียบกิจอนุสรณ์ เขตเทศบาลตำบลบางคล้า อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวถึงข้อข้องใจของชาวบ้านในกรณีที่กรมศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ได้ให้ผู้รับเหมาเข้ามาทำการบูรณะกำแพงเมืองฉะเชิงเทราจนมีสภาพที่ดูใหม่เอี่ยมไม่เหลือร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของความเก่าแก่เอาไว้ให้ชนรุ่นหลังดูว่า
ในส่วนของการบูรณะนั้นถือว่าทางกรมศิลป์ได้ทำถูกต้องไปตามหลักวิชาการ ที่พอใช้ได้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน หรือคนรอบข้างในพื้นที่ จึงทำให้เกิดข้อข้องใจดังกล่าวเกิดขึ้น ซึ่งในการบูรณะกำแพงเมืองนั้นมีสิ่งที่ต้องสูญเสียไปบ้าง เช่น เศษซากของเนื้อปูนเก่าที่ต้องถูกลอกแกะออกไป และเสริมเนื้อปูนใหม่ซึ่งเป็นปูนหมักปูนตำ โดยเป็นปูนชนิดเดียวกันกับที่ใช้ในการก่อสร้างกำแพงเมืองในสมัยอดีตเข้ามาแทน ก็เพื่อความแข็งแรงคงทนของซากกำแพงปูนที่ยังคงหลงเหลืออยู่
โดยในช่วงแรกๆ นั้น ก็อาจจะดูเหมือนกับว่ากำแพงเมืองนั้นใหม่จนเกินไป แต่หากปูนชนิดนี้ถูกแดดฝนสักช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วก็จะมีตะไคร่ขึ้นดำกลับมาครั้งหนึ่ง โดยรวมจึงว่าการบูรณะนั้นพอใช้ได้ แต่ยังขาดการประสานงานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและชุมชนอย่างแท้จริง เพราะหากมีการประสานงานกันจริงๆ แล้ว กรณีข้อสงสัยต่างๆ นั้นก็คงจะไม่เกิดขึ้น
สำหรับองค์ประกอบทางด้านโบราณคดีที่ต้องสูญเสียหรือหายไปบ้างนั้น ก็น่าจะเป็นจำพวกของเศษซากปูนเก่าๆ ที่จำเป็นจะต้องเอาออกไปและเอาปูนใหม่ คือ ปูนหมักปูนตำมาเสริมทดแทนเพิ่มเติม แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ กลุ่มของพวกฐานของปืนใหญ่ที่มีสภาพทรุดโทรมไปมาก จึงอยากจะให้ช่วยสร้างกลับคืนมาทดแทนให้เหมือนของเดิม
ขณะที่กำแพงเมืองฉะเชิงเทราที่เราได้เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนั้น เดิมตามหลักฐานจดหมายเหตุโหรที่เราได้ไปทำการสืบค้นมาใหม่ นั้น จะปรากฏว่าเริ่มมีการก่อสร้างขึ้นในปี 2380 โดยการย้ายเมืองฉะเชิงเทรามาจากทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำบางปะกง คือ เดิมตั้งอยู่ที่บางคล้า หรือที่ว่าการอำเภอบางคล้าในปัจจุบัน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวตลาดน้ำในขณะนี้
และในช่วงหลังศึกเจ้าอนุวงศ์ในปี พ.ศ.2369 ก็จะมีศึกอานามสยามยุทธ ที่เกิดเหตุพิพาทระหว่างสยามกับญวน (เวียดนาม) ทางเมืองหลวงหรือกรุงเทพฯ นั้น จึงต้องการที่จะย้ายเมืองฉะเชิงเทราจากเดิมอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำบางปะกงให้มาอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำบางปะกง เพื่อร่นลงมาให้อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ มากขึ้น โดยการขุดคลองแสนแสบเป็นเส้นทางในการสัญจรทางเรือ เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง และมีการขุดคลองลัด (หรือคลองนครเนื่องเขตในปัจจุบัน) เชื่อมต่อกัน
ฉะนั้นป้อมกำแพงเมืองฉะเชิงเทราแห่งนี้ วัตถุประสงค์ในการก่อสร้างขึ้นมาก็เป็นการสร้างเพื่อยุทธศาสตร์ของกองทัพในช่วงสมัยรัชการที่ 3 นายอัฐพงษ์ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: