“สงขลาที่รัก”ประโยคสั้นๆ เรียบง่าย ทว่าให้ความรู้สึกใกล้ชิดเป็นกันเองอบอุ่น จดจำง่ายและมีนัยสำคัญสะท้อนที่มาและมีความสำคัญของแนวคิดนั้นอย่างไร ทำไม และเพราะอะไรจึงต้องมีแนวคิดและพลังเครือข่ายร่วมเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมภายใต้ชื่อ “สงขลา…ที่รัก ของสมาคมชาวสงขลาที่มากกว่างานพบปะสังสรรค์
หลายคนเมื่อเอ่ยถึงสงขลา รู้จักดีในฐานะจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ตอนล่าง เป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับรัฐไทรบุรีและรัฐปะลิสของประเทศมาเลเซีย เมืองท่าและเมืองชายทะเลที่สำคัญของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 950 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 7,393 ตารางกิโลเมตร มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของภาคใต้ รองจากนครศรีธรรมราช และมีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของภาคใต้ รองจากสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช มีจังหวัดที่อยู่ติดกันได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี ยะลา สตูล มีโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมาย
สงขลามีประชากรหลายเชื้อชาติเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นจีน มาเลย์ และไทย จึงทำให้มีขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษาที่หลากหลายและการละเล่นพื้นเมืองที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษตกทอดให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษามากมาย ลักษณะพื้นที่ทางทิศเหนือของจังหวัดสงขลาส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ทางทิศตะวันออกเป็นที่ราบริมทะเล ส่วนทางทิศใต้และทิศตะวันตกเป็นเขตภูเขาและที่ราบสูง โดยมีเทือกเขาสันกาลาคีรีเป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นระหว่างสงขลาและรัฐเคดาห์ สหพันธรัฐมาเลเซีย
“คนต้นเรื่อง”กิจกรรม สร้างสรรค์อย่าง“อาจารย์ ดร.กานต์ บุญศิริ”ประธานจัดงาน “สงขลา…ที่รัก”และในฐานะอุปนายกสมาคมชาวสงขลา มุ่งมั่นตั้งใจขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของชาวสงขลาที่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลมีโอกาสได้พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้และย้อนวันวานเพื่อให้ทุกคนที่จากบ้านเกิดมาได้คะนึงถึงคุณค่าบ้านเกิดเมืองนอนที่งดงาม “เรียนรู้อดีต พัฒนาปัจจุบัน ก้าวให้ทันอนาคตที่งดงามอย่างยั่งยืน จากรุ่นสู่รุ่น”
ด้วยบุคลิกสุขุมพูดน้อย “ทำมากกว่าพูด”ของอาจารย์ดร.กานต์ บุญศิริ นอกจากบทบาทและหน้าที่อาจารย์สอนหนังสือในรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว ดูเหมือนว่าการมีส่วนร่วมเป็นวิทยากรบรรยายให้กับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะการบรรยายให้กับหน่วยงานในท้องถิ่นจากการสั่งสมประสบการณ์ในงานด้านการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ส่งผลให้เขาแตกต่างจากนักวิชาการอื่นด้านเครือข่ายผู้นำท้องถิ่นภายใต้บุคคลิกเงียบสุขุม พูดน้อย แต่เน้นทำโดยทันที และขันอาสาในงานจิตสาธารณอยู่เสมอโดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา งานสังคมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาในชุมชนท้องถิ่นบ้านเกิด เมือง“สงขลา” แม้ปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่บ้านเกิดที่สงขลาแต่ทุกครั้งเมื่อมีโอกาสเขามักร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ทำหน้าที่สำนึกรักบ้านเกิดสงขลาด้วยกิจกรรมในรูปแบบต่างๆอย่างต่อเนื่อง และด้วยบุคลิกอันโดดเด่นสุขุม พูดน้อยทำมากจริงใจ ติดดิน“เรียกง่ายใช้คล้อง อ่อนน้อม”ทำงานด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจกับทุกภารกิจลงมือทำทันที ในวันนี้ อาจจะกล่าวได้ว่า “กานต์”หรืออาจารย์ดร.กานต์ผู้นี้จึงมากด้วยเครือข่ายลูกศิษย์เพื่อนพ้องน้องพี่และผู้ใหญ่จากหลากหลายวงการสนับสนุนกิจกรรมดีๆ อย่างอบอุ่นและเกิดคุณค่าทางสังคมเสมอ
“สงขลา…ที่รัก” เป็นอีกกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่เขามีโอกาสได้เข้ามาสานต่อและขับเคลื่อน นอกจากการพบปะสังสรรค์ของคนสงขลาในกทม.และ ปริมณฑล แล้วเป้าหมายสำคัญคือรวมพลังเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมการพัฒนา ซึ่งจะต้องเกิดจากพลังของเครือข่ายการพัฒนาคน และการที่จะพัฒนาคนได้ ก็จะต้องพัฒนาทางด้านการศึกษา แต่เมื่อกล่าวถึงการพัฒนาทางด้านการศึกษา สิ่งที่มักจะมุ่งเน้นก็คือความเก่ง ความสำเร็จ โดยไม่ได้เน้นที่คุณธรรม และความดี ดังนั้น การพัฒนาอย่างแท้จริง จำเป็นต้องมุ่งเน้นการศึกษาที่ทำให้คนคิดได้ คิดเป็น และรู้จักดำรงชีวิตด้วยความดีงาม อันจะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ และเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ที่สำคัญการเชื่อมโยงเครือข่ายวิถีชีวิตและย้อนถึงอดีตแห่งวันวาน
เรื่องราวของวันวานจากผ่านของดีจากวิถีชุมชนทั้ง 16 อำเภอ ผ่านกิจกรรมประกวดภาพถ่าย ผ่านกิจกรรมมากันทั้งครอบครัว พ่อแม่ลูก เพื่อพบปะร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงฐานรากหรือรากเหง้าที่งดงามให้คงอยู่จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ที่สำคัญ การมีส่วนร่วมของคน 3 วัย เป็นการเรียนรู้ร่วมกันมีคนกล่าวกันไว้ว่าการเรียนรู้นั้นเป็นวัฒนธรรม ดังนั้นการปลูกฝังนิสัยกระหายใคร่รู้ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ผ่านบุคคลต้นแบบทางการศึกษาจึงถูกจัดให้เป็นสิ่งสำคัญ “สงขลา…ที่รัก”จะบอกผ่านและกระตุ้นเตือนให้คนสงขลาได้สนุก มีสาระ สร้างคุณค่าและทุกคนได้ตระหนักและร่วมย้อนรำลึกความงดงามอันทรงคุณค่านี้”
“ผมพร้อมลุยกับ2ภารกิจใหม่เพื่อสังคม นั่นคือบทบาทอุปนายกสมาคมชาวสงขลาและการทำหน้าที่ประธานจัดงานสงขลาสังสรรค์ ต้องขอกำลังสนับสนุนและการมีส่วนร่วมจากทุกๆ คน ผมได้รับแต่งตั้งจากนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะนายกสมาคมชาวสงขลาให้ดำรงตำแหน่งอุปนายกสมาคมชาวสงขลาเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมาเพื่อทำหน้าที่สานต่อโครงการดีๆที่ได้เดินหน้าไปแล้ว โดยเฉพาะ โครงการโรงเรียนคุณธรรม หัวใจสำคัญการทำงานเพื่อการพัฒนาซึ่งมีวาระต่อจากนี้ไปอีก 2 ปีและอีกกิจกรรมงานสงขลาสังสรรค์ประจำปีนี้ สำหรับงานสงขลาสังสรรค์ ถือเป็นงานพบปะสังสรรค์งานใหญ่สุดของชาวสงขลาในกทม.และ ปริมณฑล ซึ่งจัดอย่างต่อเนื่องมา14ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่15 แต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วม500-1,000 คน สำหรับงานสงขลาสังสรรค์ปีนี้จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่25 พฤษภาคม2562 เวลาตั้งแต่11.00น.เป็นต้นไป ณ อาคารสมาคมชาวปักษ์ใต้ถนนกาญจนาอภิเษก ภายใต้ชื่อ “สงขลา…ที่รัก”เป็นการผนึกกำลังที่ทรงพลังของ16อำเภอ”
อาจารย์ดร.กานต์ บุญศิริอุปนายกสมาคมชาวสงขลาและประธานจัดงาน “สงขลา… ที่รัก”บอกเล่าความรู้สึกการทำงานเพื่อสังคมแม้จะเหนื่อยแต่ภูมิใจที่มีทีมที่ปรึกษาและกรรมการจัดงานร่วมสนับสนุนจำนวนมากโดยเฉพาะรุ่นอาวุโสอย่างดร.ประภาส ฤกษ์พิบูลย์จากราชบัณฑิต อัยการขจร จันทรัตน์ อดีตนายกสมาคมชาวสงขลารุ่นกลางอย่าง “จารึก ชุมพุ่ม”เอเย่นต์ใหญ่บริษัทไทยเบฟเวอร์เรจ “สุวิทย์ สรรพวิทยสิริ” จากกระทรวงการคลังและตัวแทนกลุ่มคนรุนใหม่ จากแวดวงสื่อมวลชน และสถาบันการศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษาและมัธยมศึกษาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สะพานเชื่อมจากคนรุ่นก่อนสู่คนรุ่นใหม่ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมดีมีความต่อเนื่องแต่ละฝ่ายให้ความร่วมมือและทำงานร่วมกันด้วยความเสียสละเนื่องจากคณะกรรมการมีความเข้มแข็งมากทำให้งานคืบหน้าอย่างเห็นได้ชัดทั้งเรื่องการเตรียมพร้อมสถานที่และกิจกรรมดีๆในงานกำหนดให้มีการจัดประกวดภาพถ่ายของดีอันเป็นที่รักของชาวสงขลาทั้ง 16อำเภอเพื่อนำมาทำหนังสือที่ระลึกในงาน การเตรียมซุ้มอาหารพื้นเมืองสงขลา16ซุ้ม
“สงขลา…ที่รัก “เน้นการมีส่วนร่วมของคนทุกอำเภอ ทุกกลุ่มคนทั้งกลุ่มผู้อาวุโสที่ร่วมสร้างบ้านสร้างเมืองกลุ่มครอบครัวเข้มแข็งและกำลังสร้างความเข้มแข็งในครอบครัวกับกลุ่มคนหนุ่มสาวหรือจะใช้คำว่า “สามวัยร้อยใจสงขลา” มาแลของดี มากินของหรอย จาก16อำเภอของสงขลา พร้อมกิจกรรมที่จะชวนทุกคนให้นึกถึงวันวาน ภายในงานมีการนำเสนอสิ่งต่างๆอันเป็นที่รักหวงแหนของคนสงขลาในแต่ละอำเภอรวม16อำเภอผ่าน”หนังสือที่ระลึก” เพื่อแจกสำหรับผู้มาร่วมงาน1 เล่มต่อครอบครัว เรื่องอาหารในงาน มีแนวคิดในการออกซุ้มอาหารปักษ์ใต้แท้ๆที่หลากหลายจำนวน16 ซุ้มซึ่งจะมาจากการสนับสนุนของเพื่อนพ้องน้องพี่จาก16 อำเภอของจังหวัดสงขลาเรื่องการแสดงเน้นอนุรักษ์วัฒนธรรมสงขลาในมิติต่างๆ เพื่อสร้างความแปลกใหม่ ทั้งยังมี “การแข่งขันขูดพร้าวด้วยเหล็กขูด” แบบย้อนยุค
“สงขลา” เมืองสองทะเลที่มีทั้งทุนและความความพร้อมของพื้นที่ซึ่งเป็นจุดแข็งด้วยศักยภาพยุทธศาสตร์การพัฒนาเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคใต้ เป็นเมืองที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีระบบคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงทางบก รถไฟ ถนน ทางเรือท่าเรือสงขลาแห่งที่ 1 และ2 และทางอากาศสนามบินนาชาติหาดใหญ่ เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของภาคใต้ โดยใช้ศักยภาพของนิคมอุตสาหกรรมยางพารา และเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดา ปาดังเบซาร์ เชื่อมโยงเศรษฐกิจทางตอนบนของภาคกับตอนใต้ของประเทศไปยังประเทศเพื่อนบ้านและนานาชาติ เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภาคใต้ โดยใช้ความโดดเด่นจากฐานเดิมที่เป็นเมืองท่องเที่ยวชายแดน ความสวยงามของทรัพยากรและความหลากหลายทางวัฒนธรรมรวมทั้งเป็นเส้นทางสำคัญในการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของภูมิภาคทั้งฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย
เมื่อเมืองมีความพร้อม คนก็ต้องมีความพร้อม นั่นคือพลเมืองที่มีคุณภาพ“สงขลา…ที่รัก”จุดเริ่มต้นเล็กๆ ของพลังสำนึกรักษ์ถิ่นเกิดที่ยิ่งใหญ่เพื่อส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นอย่างงดงามและมีคุณค่าสืบไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: