X

ACS4730รวมใจจัดงาน คืนสู่เหย้าอัสสัมศรีราชา

รุ่น ACS4730 โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดงานคืนสู่เหย้า ระดมทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานผนวกพลังสามัคคีเนรมิตภาพอดีตให้หวลคืน

ชื่อโรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมานับว่าเป็นโรงเรียนประจำที่มีชื่อเสียง และเป็นตัวเลือกที่อยู่ในใจของผู้ปกครองหลายท่าน เพื่อเป็นทางเลือกทางการศึกษาให้กับบุตรหลาน แม้ว่าตัวโรงเรียนจะไม่ได้อยู่ในเมืองหลวง แต่ข้อมูลและความคิดว่าเป็นโรงเรียนฝรั่ง มีการสอนภาษาอังกฤษ เด็กประจำมีระเบียบวินัย นักเรียนที่จบไป สามารถเรียนต่อมหาวิทยาลัยชั้นนำได้ และยังมีศิษย์เก่าจบไปมีชื่อเสียงมากมาย จึงทำให้อัสสัมชัญศรีราชาเป็นโรงเรียนทางเลือกอันดับต้นๆ

ปัจจุบันประเทศไทยมีการขยายโอกาสทางการศึกษาไปยังภูมิภาค และพื้นที่ห่างไกลต่างๆ มากขึ้น แต่ช่องว่างทางการศึกษาระหว่างเมืองและชนบท รวมไปถึงโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน ทั้งในอดีตและปัจจุบันยังมีให้เห็นอย่างชัดเจน เส้นทางของชีวิตเด็กประจำที่อัสสัมชัญศรีราชา จะมีที่มาหลากหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่จะทำให้ภาพอดีตหวลมาอีกครั้ง คือการคืนสู่เย้าเพื่อย้อนระลึกถึงชีวิตวัยเด็กในรั้วของสถาบันแห่งนี้นั่นเอง

ผู้ใหญ่ ประพจน์ ศรีไตรรัตน์ อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.ท่าพญา อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เล่าว่า เมื่อ 30 ปี ที่แล้ว สมัยนั้นจังหวัดตรัง แม้จะมีโรงเรียนมากมาย แต่ความเป็นจริง คุณภาพทางการศึกษาของเมืองตรัง เมื่อเทียบกับหัวเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครแล้ว เมืองตรังยังตามไม่ทัน ตนมีความคิดว่าอยากส่งบุตรชายไปเรียนเมืองหลวง แต่มาติดตรงที่ว่า ถ้าไปอยู่เมืองหลวงแล้วใครจะดูแลลูก จึงต้องเปลี่ยนความคิดว่าจะส่งลูกไปเรียนที่อัสสัมชัญ ซึ่งเป็นโรงเรียนแบบประจำแทน เมื่อตัดสินใจเลือกโรงเรียน จึงพาลูกนั่งรถจากเมืองตรัง เข้ามาสมัครเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาที่อัสสัมชัญศรีราชา ด้วยความหวังว่า นี่คือการลงทุนทางการศึกษาเพื่ออนาคตที่ดีของลูก

พิสุทธิ์ ศรีไตรรัตน์ บุตรชายของผู้ใหญ่ประพจน์เล่าว่า อยู่เมืองตรังเพื่อนฝูงแหลงใต้กันตลอด พอมาเรียนที่ศรีราชา พวกเพื่อนใหม่ต่างพูดภาษากลาง บางครั้งทำให้เขาสับสนบ้าง ครั้งหนึ่ง เพื่อนๆ ชวนไปกินเฉาก๊วย แต่เมื่อเขาเห็นเฉาก๊วย เขาบอกเพื่อนๆ ว่า ที่เมืองตรังเรียกว่า วุ้นดำ ไม่ใช่เฉาก๊วย เพื่อนๆ ต่างพากันหัวเราะขบขันอย่างสนุกสนาน ชีวิตเด็กประจำของนักเรียนอัสสัมชัญศรีราชานั้น มีระเบียบวินัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องตื่นนอนตอนกี่โมง อาบน้ำ กินข้าว ไปโรงเรียนกี่โมง เสร็จจากเรียน ต้องมีทั้งเรียนพิเศษ และเล่นกีฬา เมื่อมาถึงหอพัก ยังนอนไม่ได้ ต้องเข้าห้อง study room ทั้งทำการบ้าน ทบทวนวิชาที่เรียนมา จัดตารางเรียน เพื่อเตรียมตัวไปเรียนในวันถัดไป

ความเป็นเด็กอัสสัมชัญศรีราชา สมัยก่อน มีการลงโทษนักเรียนที่ทำผิด มีหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ จดบันทึกความประพฤติ ใครไม่ทำการบ้าน คุยในห้อง ขาดเรียน แต่งตัวไม่เรียบร้อย ทะเลาะวิวาท ถ้าใครถูกบันทึกชื่อบ่อย ๆ ฤกษ์งามยามดี มาสเซอร์ ฝ่ายปกครองจะมาเปิดสมุด เพื่อชำระความประพฤติ แล้วลงโทษด้วยการตี พิสุทธิ์เล่าต่อว่า การตีก็ไม่ได้ตีเบาๆ เรียกว่าหวดกันเต็มวงสวิง ประมาณว่าตีชั้นล่าง พวกเรียนอยู่ชั้นบนที่กำลังคุยกันเสียงดัง ต้องรีบเงียบกริบ เสียงไม้เรียวที่แหวกอากาศมากระทบก้นนั้น ยังดังก้องอยู่ในหูมาจนถึงทุกวันนี้ มีอยู่ครั้งหนึ่งมีเพื่อนเคาะโต๊ะในห้องเรียน มาสเซอร์เดินมาถามว่าใครเคาะ แต่ไม่มีคนตอบ เมื่อไม่มีคนตอบมาสเซอร์บอกว่า งั้นตั้งแถวออกมา จะตีทั้งห้อง เมื่อจะตีทั้งห้อง คนที่เคาะโต๊ะ มันต้องออกมายอมรับว่า ผมเอง เพื่อไม่ให้คนอื่นเขาเดือดร้อน

วันนั้น มาสเซอร์พูดว่า ทำผิดต้องรู้จักรับผิดอย่างลูกผู้ชาย ต้องมีสปิริต ถ้าไม่กล้ารับผิดก็ไปใส่กระโปรงเถอะ
อัสสัมชัญ ศรีราชา ยังสอนให้เป็นคนละเอียดรอบคอบ เช่นมาสเซอร์ตรวจการบ้าน คนที่ทำไม่เสร็จต้องออกไปยืนหน้าห้อง ส่วนพวกที่ทำเสร็จ บางคนต้องโดนไปยืนหน้าห้องเช่นกัน พวกทำไม่เสร็จนี่ชัดเจนคือไม่มีความรับผิดชอบ โดนตีแน่นอน ส่วนพวกที่ทำการบ้านเสร็จแล้วแต่โดนตี อาจจะเป็นพวกลอกการบ้านกันมา หรืออีกพวก คือไม่ทำตามคำสั่ง เช่นมาสเซอร์สั่งว่าห้ามเว้นบรรทัดกับวันที่ คนทำผิดจะเว้นบรรทัด แบบนี้ถือว่า ไม่ทำตามคำสั่ง โดนตีไปตามระเบียบ

พิสุทธิ์ บอกว่า อัสสัมชัญศรีราชา มักจะมีการปลูกฝัง ให้เด็กรักกันเสมอ เช่น มีเพื่อนเจ็บอยู่เรือนพยาบาล มาสเซอร์จะถามว่ามีใครไปเยี่ยมเพื่อนหรือยัง ส่วนการทำงานต้องช่วยกันทำให้สำเร็จ อย่าเอาเปรียบคนอื่น สิ่งเหล่านี้ มันกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สร้างนิสัยหลายอย่างที่ดี เช่น ไม่เห็นแก่ตัว เสียสละเพื่อสวนรวม สิงเหล่านี้ได้หลอมรวมให้บรรดาศิษย์เก่ายังคงรักในสถาบันและหลายๆคนแม้ผ่านไป 30 ปี ยังคบกันไม่เปลี่ยนแปลง โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชาสร้างความรัก ความผูกพัน ปลูกฝังความสามัคคีในหมู่นักเรียนมารุ่นต่อรุ่น ส่งผลให้ทุกคนต่างซึมซับความเป็นเลือดแดงขาวอย่างเข้มข้น

พงศ์ธนัช สุวรรณรัตน์ ประธานนักเรียนอัสสัมชัญศรีราชา รุ่น ACS 4730 บอกว่า ในทุกทุกปี ทางโรงเรียนจะมีงานคืนสู่เหย้า แต่ละรุ่นจะมีคิวจัดเรียงตามลำดับกันมาเป็นเจ้าภาพ ทุกรุ่นต้องหาเงินจัดงานเอง โดยทำกันต่อมาเป็นประเพณี ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา ทุกรุ่นต่างมีความพร้อม ผนึกกำลังกันมาร่วมจัดงาน ปีนี้รุ่น ACS4730 เป็นเจ้าภาพจัดงานคืนสู่เหย้า และมีการเตรียมตัวกันมาเป็นระยะนาน ทั้งนี้ทางรุ่นได้เตรียมเงินไว้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานทั้งหมด

 

ปีนี้งานคืนสู่เหย้าของโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ตรงกับวันที่ 3 ก.พ. พ.ศ.2561 ภายใต้ชื่องาน คืนถิ่นทิวสน เลือดคนแดงขาว ในนามของคณะกรรมการจัดงาน จึงขอเรียนเชิญศิษย์เก่าอัสสัมชัญศรีราชาทุกท่าน มาร่วมแสดงมุทิตาจิต ต่อครูบาอาจารย์ และร่วมรำลึกความหลัง รับประทานอาหาร ชมการแสดงแสงสีเสียง ณ.สนามฟุตบอลหน้าตึกเซนต์หลุยส์ ตั้งแต่เวลา 17.00 เป็นต้นไป โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดใดทั้งสิ้น

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน