นครพนม – “วัดธาตุประสิทธิ์” ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม เดิมชื่อ “วัดธาตุ” เป็นพระธาตุประจำวันพฤหัสบดี สันนิษฐานว่าตั้งขึ้นพร้อมกับการสร้างบ้านนาหว้า มีประวัติเล่าต่อๆกันว่าเมื่อครั้งชาวไทญ้อ หรือไทย้อ อพยพมาจากเมืองไชยสุทธ์อุดมบุรี เพื่อหาทำเลสร้างเมืองใหม่ จนมาพบบริเวณบ้านนาหว้า(ปัจจุบัน)มีเจดีย์เก่าแก่แต่ไม่ปรากฏหลักฐานสร้างขึ้นสมัยใด ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ฐานเจดีย์กว้าง ด้านละประมาณ 7 เมตร เท่ากันทั้งสี่ด้าน สูงประมาณ 30 เมตร ฐานซ้อนกันเป็นชั้นๆ อิฐที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นขนาดใหญ่ มีซุ้มจตุรมุข(ผู้มี 4 หน้า คือพระพรหม) ซึ่งอาจสร้างรุ่นราวคราวเดียวกันกับเจดีย์วัดศรีบุญเรือง บ้านเวียงคุก หรือเจดีย์วัดนาค นครเวียงจันทน์ เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน
เจดีย์เก่าบ้านนาหว้านี้ จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยไปค้าขายทางประเทศพม่าตอนใต้ มีคนที่นั่นถามถึงเจดีย์บ้านนาหว้า และเล่าว่ารุ่นปู่ ย่า ตา ทวด ของพวกเขาเคยอาศัยอยู่ที่นั่น และร่วมบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์องค์นี้ ต่อมา พ.ศ.2436 ถูกทหารพม่าของพระเจ้าหงสาวดีกวาดต้อนไปเป็นเชลย
พ.ศ.2499 พระครูประสิทธิ์ศึกษากร (สิงห์ ธมฺมวโร) เจ้าอาวาส(ในขณะนั้น)
ข่าวน่าสนใจ:
- นครพนมเดือดร้อน! แม่ค้าหวยร้องไห้ รถจักรยานยนต์พร้อมลอตเตอรี่เกือบ 600 ใบถูกขโมย วอนคนร้ายนำมาคืน
- นครพนม เหตุการณ์สลด! เมีย พบศพสามีนอนเสียชีวิตคาเถียงนา คาดโรคประจำตัว
- นักศึกษาปี 3 ม.นครพนม ซิ่งจยย.ชนท้ายกระบะเสียชีวิต ขณะเดินทางไปเรียน
- นครพนม : นักวิ่งกว่า 3,000 คน ร่วมการแข่งขัน ‘นครพนม-คำม่วน มาราธอน ซีซั่น 6’ เชื่อมสัมพันธ์สองฝั่งโขง ชมสวยที่สุดที่นครพนม
ได้ดำเนินการก่อสร้างพระธาตุองค์ใหม่ จึงย้ายเศษอิฐและรื้อฐานเจดีย์องค์เก่าออก จึงพบพระพุทธรูปโบราณ มีทั้งทองคำ เงิน และพระพุทธรูปทำด้วยว่าน เกสรดอกไม้ หุ้มเงิน หุ้มทอง พระพุทธรูปทรงเครื่อง และพระพุทธรูปดินเผา เมื่อพิจารณาจากลักษณะพระพุทธรูปแต่ละองค์แล้ว พบว่าเป็นพระพุทธรูปที่สร้างต่างยุคต่างสมัยกัน แต่มีหลายหลายองค์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปที่พบในวัดพระธาตุพนม สันนิษฐานว่าอาจมาจากบริเวณเดียวกัน และนอกจากนี้ยังพบเครื่องใช้ เครื่องประดับและของมีค่าจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านที่มาอยู่ก่อนและร่วมกันสร้างพระเจดีย์ขึ้น
คงได้นำมาบรรจุลงไว้ใต้ฐานพระธาตุ เพื่อเป็นที่สักการบูชาชองชุมชนนั่นเอง
ลักษณะพระธาตุองค์ใหม่สร้างเลียนแบบพระธาตุพนมลักษณะรูปทรง สี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 7.20 เมตร รอบฐาน 28.80 เมตร สูง 28.50 เมตร มีประตูเปิด-ปิด 2 ด้าน โดยอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ ได้แก่ พระอรหันตธาตุของพระมหากัสสปะ พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร พระอานนท์ พระอนุรุทธะ และดินจากสังเวชนียสถาน 4 แห่งคือ ที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงพระธรรมเทศนา และปรินิพพาน นอกจากนี้ยังนำพระพุทธรูปที่พบในเจดีย์องค์เก่า มาบรรจุไว้ในองค์พระธาตุด้วย การก่อสร้าง พระธาตุองค์ใหม่นี้แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2506 พร้อมตั้งชื่อองค์พระธาตุใหม่ว่า
“พระธาตุประสิทธิ์” ตามราชทินนามของพระครูประสิทธิ์ศึกษากร เจ้าอาวาสผู้ก่อสร้างนั่นเอง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2544 พระครูศรีวชิรากร (เจ้าคณะอำเภอนาหว้า รูปที่ 3 ปัจจุปันดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสว่างสุวรรณาราม เขตเทศบาลเมืองนครพนม มีราชทินนาม “พระราชสิริวัฒน์” หรือเจ้าคุณเพชร รองเจ้าคณะจังหวัดนครพนม ได้ทำการเปลี่ยนฉัตรองค์พระธาตุใหม่ ทำด้วยทองคำหนัก 89 บาท จากการบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา
สรุปแล้วถือว่า”พระธาตุประสิทธิ์” มีความศักดิ์สิทธิ์ มีพระอรหันตธาตุมาก ผนวกกับเทวดาประจำวันเกิดที่กำเนิดจากพระฤษี 19 ตน ทำให้ผู้ที่กราบสักการะได้รับผลบุญอันยิ่งใหญ่ เป็นผู้รอบรู้ในเรื่องราวต่างๆรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะทำการอันใดก็จะพบแต่ความสำเร็จ เปรียบดังพระอรหันต์ประจำทิศตะวันตก ผู้ได้ชื่อว่าพุทธอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า อย่างพระอานนท์ ซึ่งติดตามพระองค์ไปทุกที่ ทำให้มีโอกาสได้รับฟังธรรมะจากพระพุทธเจ้าเสมอ จึงเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ดังนักปราชญ์
ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าที่เคยบวชเรียนอยู่ในวัดธาตุประสิทธิ์กล่าวว่า ในอดีตตามโคนต้นโพธิ์ ต้นมะม่วง ต้นขนุน หรือข้างเจดีย์จะมีชิ้นส่วน พระพุทธรูป ที่ชำรุดสลักด้วยหินทรายศิลปะลพบุรี วางระเกะระกะอยู่เป็นจำนวนมาก (แต่ปัจจุบันคาดว่าคงถูกดินทับถมไปหมดแล้ว) มี”กะตึบ”หลังหนึ่ง ลักษณะเหมือนอุโบสถ มีหน้าต่างเล็กๆภายในมืดสนิท (ภาษาถิ่น เรียกว่า มืดตึบ)มองอะไรไม่เห็น สันนิษฐานว่าสร้างไว้เพื่อเป็นที่ปลุกเสกของขลัง ตามลัทธิความเชื่อของชาวไทญ้อ ปัจจุบันรื้อออกไปแล้ว
สิ่งที่ชาวนาหว้าต้องจดจำไปชั่วลูกชั่วหลานคือ วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังวัดธาตุประสิทธิ์ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริธรเทพรัตนราชสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินต้น(กฐินส่วนพระองค์) และทรงเยี่ยมราษฎรที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จอย่างคับคั่ง มีพระราช
ปฏิสันถารกับราษฎรอย่างใกล้ชิด
“ชนเผ่าไทญ้อ หรือไทย้อ” เป็นชนเผ่าหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมาปรากฎหลักฐานว่าอยู่ในอาณาจักรน่านเจ้า หรือหนองแส มีระบุไว้ดังนี้ อาณาจักรน่านเจ้าแบ่งการปกครองออกเป็น 10 ลิ่ม (เมือง) 1.ยูนาน 2.ปากงาย 3.บั๋นต้าม 4.เถ้งซุ้น 5.หนองแส
6.ตาลีฟู 7.จั้ยเมา 8.เมืองสิน 9.ไตญ้อ และ 10.จุ้งซุ้น จะเห็นได้ว่า”ไทญ้อ” มีชื่อปรากฏ 1 ใน 10 เมืองของอาณาจักรน่านเจ้าแล้ว ส่วนคำว่า “ญ้อ” คงเป็นคำเฉพาะดั้งเดิม ซึ่งยังหาที่มาและคำจำกัดความไม่ได้ แต่สันนิษฐานว่าคงจะมาจากคำว่า ญอ (ยอ) ซึ่งความหมายของภาษาญ้อ หมายถึง ยก (กริยา) ทำให้สูงขึ้น หากเป็นจริงตามสันนิษฐาน ชนเผ่าไทญ้อ จึงหมายถึงเผ่าชนที่เจริญขึ้น หรือพัฒนาขึ้น ในข้อนี้จะสังเกตได้จากชุมชนไทญ้อ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนจะมีการพัฒนาที่อยู่อาศัย ให้สะอาด น่าอยู่ น่าอาศัย ร่วมใจกันพัฒนาวัดวาอารามให้เจริญรุ่งเรือง
ประวัติชาวไทญ้อของอำเภอนาหว้า กล่าวกันว่าประมาณ พ.ศ.2115 พระเจ้าหงสาวดีได้ยกทัพมาปราบเมืองหนองหาร สามารถตีชนะอาณาจักรล้านนาได้กวาดต้อนคนไปเป็นเชลยเกือบสองแสนคน ชาวบ้านนาหว้ายุคสร้างพระธาตุองค์เก่า ก็ถูกกวาดต้อนไปด้วย โดยพระเจ้าหงสาวดีให้ไปอยู่ทางตอนใต้ของกรุงหงสาวดี เป็นเหตุให้บ้านนาหว้าร้างตั้งแต่บัดนั้นมา กาลเวลาล่วงมาถึง พ.ศ. 2336 ชาวเผ่าไทญ้อ แยกตัวมาจาก”เมืองไชยสุทธ์อุดมบุรี” ปัจจุบันคือ ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม พบบริเวณดังกล่าวมีร่องรอยของการอยู่อาศัย จึงตั้งชุมชนขึ้นมาใหม่ พ.ศ.2460 ถูกยกฐานะขึ้นเป็นตำบลขึ้นตรงกับอำเภอศรีสงคราม มีขุนภักดีราชกิจ (กันหา) เป็นกำนันคนแรก ต่อมายกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ และอำเภอมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนคำว่า”นาหว้า” มีความกล่าวว่าอดีตบริเวณนั้น มีต้นหว้าขึ้นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงนำชื่อต้นหว้า มาตั้งเป็นชื่อ “นาหว้า” นั่นเอง
นาหว้าเป็นอำเภอที่มีชาติพันธุ์หลากหลาย อาทิ ชนเผ่า ไทญ้อ ผู้ไท และไทยอีสาน อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ก่อให้เกิดภูมิปัญญาด้านงานหัตถศิลป์ที่หลากหลาย ทั้งการทอผ้าและจักสานกก “ผ้าไหมมุก” เป็นลายผ้าโบราณที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นสวยงามประณีตของจังหวัดนครพนม โดยเฉพาะกลุ่มทอผ้าไหมที่วัดธาตุประสิทธิ์เป็นกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ลักษณะพิเศษของผ้ามุกจะเป็นผ้าลายขวางรอบตัว ปกติจะใช้ลายดอกสีขาว โดยลายนั้นจะขึ้นอยู่กับจินตนาการของผู้ทอ มีดอกเล็ก ดอกใหญ่ คล้ายกับมุกที่เป็นเครื่องประดับ บางลายก็จะมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่วคล้ายกับหน้ามุขโบสถ์วิหาร ลักษณะของลายดอกเล็ก ๆ เรียกว่า มุกสาม ลายดอกใหญ่ขึ้น เรียกว่า มุกสี่ มุกห้า มุกหก เป็นต้น อีกงานหัตถศิลป์ของ อ.นาหว้า คือ “จักสานเส้นกก” ที่ตำบลเหล่าพัฒนา ได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มทอเสื่อและจักสานจากเส้นกกขึ้น ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนบ้านเหล่าพัฒนา ด้วยภูมิปัญญาความรู้ในการจักสานที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ในวันนี้จึงเกิด “คุณค่า” ที่มากกว่าการจักสาน แต่คือจิตวิญญาณและความภาคภูมิใจของคนบ้านเหล่าพัฒนา ซึ่งมีบรรพบุรุษจาก “ชนเผ่ากะเลิง” กว่า 100 ปี
จักสาน “กก” ของนาหว้ามีรูปทรงที่สวยงาม ฝีมือประณีต ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดทำจากเส้นกกที่เรียวกลม มีความสม่ำเสมอของเส้นที่นำมาถักทอ เหนียวนุ่ม คงทนแวววาว ไม่สาก ไม่ขึ้นรา นอกจากนี้ได้มีการพัฒนารูปแบบและลวดลายจักสานที่สวยงามทันสมัย โดยเฉพาะเสื่อกกของนาหว้ามีรูปทรงหลากหลายและลวดลายสีสันสวยงามเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ
งานนมัสการพระธาตุประสิทธิ์ หรือบุญเดือน 4(บุญเผวส) ของดีนาหว้า ปี 2561 ตรงกับวันที่ 26 ก.พ.-1 มี.ค. เริ่มพิธีเปิดแห่พระอุปคุต,รำบูชาพระธาตุจาก 5 ชนเผ่า,การแสดงวิถีชีวิตพื้นบ้าน,แห่พระเวสสันดรเข้าเมือง,เทศน์มหาชาติ ทำนองอีสาน 13 กัณฑ์,ประกวดขับร้องและสวดมนต์ทำนองสรภัญญะ,มีเวียนเทียนรอบพระธาตุทุกคืน
เทศกาลงาน”บุญเดือนสี่” นมัสการพระธาตุเรณู ของชาวผู้ไทเรณูนคร เริ่ม 14-18 ก.พ. ปลายเดือนก็ต่อด้วยบุญเผวสนมัสการพระธาตุประสิทธิ์ ของชาวไทญ้อนาหว้า นักแสวงบุญแพ็คกระเป๋าอยู่จังหวัดนครพนมยาวเลยครับ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: