ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ที่อัญเชิญออกมาให้ประชาชนได้ร่วมสรงน้ำเพียงปีละครั้ง และเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลดอกคูณเสียงแคน และถนนข้าวเหนียว 2562
วันนี้ที่วัดธาตุพระอารามหลวง จ.ขอนแก่น นายปานทอง สระคูพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และ พระโสภณพัฒนบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดธาตุพระอารามหลวง และรองเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ร่วมใน “พิธีอัญเชิญพระพุทธพระลับไปประดิษฐานภายในพระอุโบสถ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมงานประเพณีสุดยอดสงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูนเสียงแคน และถนนข้าวเหนียว ประจำปี 2562” ท่ามกลางพุทธศาสนิกชนร่วมงานจำนวนมาก โดยทางวัดธาตุจะมีกิจกรรมเพื่อเสริมสิริมงคลในช่วงเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ไทย ได้แก่ พิธีอัญเชิญพระพุทธพระลับไปประดิษฐานภายในพระอุโบสถ พิธีสรงน้ำเจดีย์พระธาตุนครเดิม พิธีสรงน้ำพระพุทธพระลับ พิธีอัญเชิญพระพุทธพระลับร่วมในขบวนแห่งสงกรานต์ กิจกรรมการตบประทาย (ก่อกองทราย) เป็นต้น
สำหรับประวัติของวัดธาตุพระอารามหลวง และ หลวงพ่อพระลับ มีดังนี้ วัดธาตุพระอารามหลวง ตั้งอยู่ที่ถนนกลางเมือง (บ้านเมืองเก่า) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2372 โดยพระนครศรีบริรักษ์บรมราชภักดี (เพี้ยเมืองแพน) เจ้าเมืองขอนแก่น เป็นผู้ก่อสร้างขึ้นพร้อมกับการตั้งเมืองขอนแก่น และได้สร้างพระธาตุขึ้นเป็นปูชนียสถานที่เคารพสักการะของชาวเมืองขอนแก่น จึงเรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดธาตุ” โดยได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อปี พ.ศ. 2521 มีเนื้อที่ 12 ไร่ ภายในวัดมี “หลวงพ่อพระลับ” ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
“หลวงพ่อพระลับ” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยสัมฤทธิ์ มีขนาดหน้าตักกว้าง 11 นิ้ว และสูง 29 นิ้ว ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระพักตร์รูปไข่ พระนลาฏกว้าง พระขนงโก่ง พระเนตรเรียว เหลือบตาลงต่ำ พระนาสิกสันปลายแหลม พระโอษฐ์แย้ม ขนาดพระเกศาเล็กแหลม พระเกตุมาลาใหญ่ รัศมีเป็นเปลวตั้งอยู่บนฐานกลีบบัว ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวา ชายจีวรยาวลงมาจรดพระนาภี นิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน ฐานปัทม์ยกสูงทรงสี่เหลี่ยมบัวคว่ำหงาย และแนวลูกแก้วอกไก่งอนขึ้นทางด้านบน “หลวงพ่อพระลับ” จัดอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปศิลปะลาว “สกุลช่างเวียงจันทน์” คล้ายพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ระเบียงหอพระแก้ว เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 22-24
มีประวัติเล่าสืบกันมาว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 1 (พ.ศ.2077-2114) เป็นกษัตริย์ครองเมืองหลวงพระบาง เมื่อพม่ายกทัพมาตีเมืองหลวงพระบาง พ.ศ.2090 พระองค์ได้อพยพไปตั้งเมืองหลวงใหม่ชื่อ “เวียงจันทน์บุรีศรีสัตนาค” การอพยพครั้งนี้ได้นำพระแก้วมรกต พระบาง พระพุทธรูปองค์อื่นๆ ไปด้วย ซึ่งพระพุทธรูปทั้งหมดสร้างขึ้นในสมัยเชียงแสน สมัยเชียงใหม่ และสมัยพระเจ้าโพธิสารมหาธรรมิกราชาธิราช จากการศึกษาพระพุทธลักษณะจึงสันนิษฐานว่า หลวงพ่อพระลับ สร้างขึ้นโดย “พระเจ้าโพธิสาร พระมหาธรรมิกราชาธิราช” ประมาณปีพุทธศักราช 2068 ณ นครหลวงพระบาง
ครั้นถึงสมัยของเจ้าศรีวิชัยขึ้นครองราชย์ ซึ่งเป็นหลานของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 1 เกิดเหตุกรณีกลุ่มของพระยาแสนสุรินทร์ขว้างฟ้า นำกำลังพลยึดเมืองเวียงจันทน์ได้ เจ้าศรีวิชัยจึงหลบหนีพร้อมนำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ไม่ทราบจำนวนไปด้วย ซึ่งมี “หลวงพ่อพระลับ” รวมอยู่ด้วย ไปอาศัยอยู่กับท่านพระครูหลวง (เจ้าอาวาสวัดโพนสะเม็ด) พร้อมได้อพยพชาวเวียงจันทน์บางส่วนไปบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม แล้วพาครอบครัวชาวเวียงจันทน์ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ดอนโขง ก่อนจะขยายอาณาเขตสร้างเมืองใหม่ลงมาทางใต้ ไม่ขึ้นต่อเมืองเวียงจันทน์และหลวงพระบาง และให้เจ้าแก้วมงคล อพยพครอบครัวพร้อมประชาชนนำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาจากเวียงจันทน์ ไปสร้างเมืองทง หรือ “เมืองสุวรรณภูมิ” (ปัจจุบันคือ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด) เจ้าแก้วมงคล ได้เป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิคนแรก (พ.ศ.2256-2268)
จากนั้นก็มีเจ้าเมือง สืบต่อมาจนถึงปีพุทธศักราช 2326 “ท้าวภู” ได้เป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระรัตนวงษา” ได้แต่งตั้งให้ลูกชาย “ท้าวศักดิ์” ไปดำรงตำแหน่ง “เมืองแพน” มียศเป็น “เพีย” เทียบเท่าพระยาฝ่ายทหาร ให้ไปตั้งรักษาการอยู่ริมแม่น้ำชี สถานที่นั้นเรียกว่า “ชีโหล่น” ต่อมาถึงปีพุทธศักราช 2332 ก็ได้รับคำสั่งให้ไปตั้งเมืองแห่งใหม่ชายแดนด้านเหนือ เขตเมืองสุวรรณภูมิกับเขตเมืองร้อยเอ็ดในขณะนั้น “ท้าวศักดิ์” อพยพประชาชนพลเมืองประมาณ 330 ครอบครัว พร้อมนำเอาพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์หลายองค์ไปไว้เคารพสักการะเป็นมิ่งขวัญเมืองด้วย ตั้งบ้านใหม่เรียกว่า “บ้านบึงบอน” และได้ก่อสร้างหลักเมืองฝั่งตะวันตกบึง เมื่อสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยเรียบร้อยแล้ว จึงได้สร้างวัดขึ้น 4 วัด คือ “วัดเหนือ” ให้เจ้าเมืองพร้อมลูกหลานไปทำบุญอุปัฏฐาก “วัดกลาง” ให้เสนาอำมาตย์พร้อมลูกหลานไปทำบุญอุปัฏฐาก “วัดใต้” ให้ประชาชนพลเมืองทั่วไปทำบุญอุปัฏฐาก “วัดท่าแขก” อยู่ฝั่งบึงด้านทิศตะวันออก สำหรับพระภิกษุอาคันตุกะ จากถิ่นอื่นๆ มาพำนักเพื่อประกอบพุทธศาสนพิธี เมื่อสร้างวัดเหนือแล้วจึงสร้างพระธาตุมีอุโมงค์ภายใน นำเอาพระพุทธรูป ไปเก็บซ่อนไว้อย่างลับที่สุด รู้แต่เจ้าอาวาสวัดเหนือเท่านั้น คนทั้งหลายจึงเรียกว่า “พระลับ” หรือ “หลวงพ่อพระลับ” สืบมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
กระทั่ง พ.ศ.2340 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระบรมราชโองการยกฐานะบ้านบึงบอนขึ้นเป็น “เมืองขอนแก่น” ตั้งให้ “ท้าวศักดิ์” เป็นเจ้าเมืองขอนแก่นคนแรก มีนามว่า “พระนครศรีบริรักษ์” โดยมีการปกปิดพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ไว้ในธาตุไม่มีใครเห็นจึงไม่ทราบว่ามีลักษณะอย่างไร เมื่อกล่าวถึงพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์นี้ก็เรียกว่า “พระลับ” คนรุ่นต่อมาขยายบ้านเมืองมาตั้งบ้านขึ้นใหม่ด้านเหนือเมืองเก่าจึงเรียกว่า “บ้านพระลับ” ทางราชการย้ายมาตั้งที่ว่าการอำเภอเรียกว่า “อำเภอพระลับ” อยู่ในท้องที่ “บ้านพระลับ” เป็น “ตำบลพระลับ” ย้ายศาลากลางมาตั้งที่บ้านพระลับเรียกว่า “จังหวัดขอนแก่น”
ครั้นถึงสมัย “หลวงปู่พระเทพวิมลโมลี” (เหล่า สุมโน) เป็นเจ้าอาวาสและรองเจ้าคณะภาค 9 (มหานิกาย) รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตขอนแก่น ท่านมีอายุได้ 86 ปี เกรงว่าต่อไปจะไม่มีใครรู้จัก “หลวงพ่อพระลับ” ท่านจึงได้เชิญ “นายกวี สุภธีระ” ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น มาเป็นสักขีพยานเปิดเผยพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ให้เป็นพระพุทธรูปคู่เมืองขอนแก่นให้สาธุชนรู้จักและทำพิธีเป็นทางการเมื่อวันออกพรรษาตรงกับวันอังคาร ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 ปีจอ (18 ตุลาคม พ.ศ.2537) นาม “หลวงพ่อพระลับ” จึงเป็นที่รู้จักและเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: